การทำ Portfolio เราต้องจัดทำส่วนประกอบหลักที่สำคัญให้ครบถ้วน เพราะว่าพอร์ตโฟลิโอนั้นเปรียบเสมือนตัวเราโดยสังเขป ที่จะนำเสนอทั้งประวัติ การศึกษา และผลงานของเรา ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าในพอร์ตโฟลิโอ 1 เล่ม ควรจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ซึ่งส่วนประกอบของพอร์ตโฟลิโอ มีดังนี้
1. ประวัติส่วนตัว
2. ประวัติการศึกษา
3. กิจกรรมที่สนใจ
4. งานอดิเรกที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา
5. ผลงานที่ผ่านมา
6. เกียรติบัตร
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเนื้อหาในเล่มเท่านั้น ยังไม่รวมปกหน้า คำนำ สารบัญ ภาคผนวก (ภาคผนวกจะมีหรือไม่มีก็ได้) และปกหลัง
เราควรจะเริ่มเตรียมตัวทำพอร์ตโฟลิโอตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจจะเป็นช่วงต้นเทอมม. 5 หรือช่วงปิดเทอมแรกของม. 5 หรือ ม. 6 เพราะในช่วงนั้นเราจะเริ่มมีผลงานเด่น ๆ มากขึ้นให้ได้เก็บรวบรวมแล้ว ทั้งนี้เราต้องคอยติดตามดูกำหนดการส่งพอร์ตโฟลิโอของมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครด้วย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีกำหนดการส่งเอกสาร หรือสอบสัมภาษณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวเอาไว้ตั้งแต่แรก ถ้าหากเรามาเริ่มรวบรวมผลงาน และเริ่มทำตอนใกล้ ๆ วันที่จะใช้จริง จะทำให้ได้พอร์ตโฟลิโอที่เป็นงานลวก และอาจจะได้ผลงานที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก หรือข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนอีกด้วย
ผลงานที่จะใช้ทำพอร์ตโฟลิโอควรเน้นช่วงม.ปลายมาก ๆ เพราะเป็นผลงานใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลงานในช่วงม.ต้นจะไม่สำคัญ เพียงแต่เราควรเน้นผลงานที่ใหม่และใหญ่เป็นหลักมากกว่าผลงานเก่าและเล็ก ส่วนผลงานกิจกรรมภายในโรงเรียนแบบยิบย่อย ถ้าเป็นงานที่ไม่ค่อยใหญ่หรือสำคัญมากก็ไม่ต้องใส่ลงไปในพอร์ตโฟลิโอก็ได้ แต่ถ้าเราอยากใส่จริง ๆ เพื่อโชว์ว่าเราเป็นเด็กกิจกรรมจริง ๆ ก็สามารถยกไปใส่ในส่วนของภาคผนวกแทนได้ เราจะเรียงความสำคัญตามลำดับของปี ดังนี้
1. .ม.ปลาย - ส่วนใหญ่กรรมการจะดูรายละเอียดผลงานในช่วงนี้มากเป็นพิเศษ
2. ม.ต้น - ส่วนใหญ่กรรมการจะมองด้วยหางตา ดูแบบผ่าน ๆ แต่ก็ยังให้ความสนใจอยู่
3. ประถม - ดูแค่ให้รู้ว่าเราเริ่มมีผลงานมาตั้งแต่อยู่ระดับประถม แต่ไม่ได้โฟกัสกับผลงานมากนัก
4. อนุบาล - ไม่ค่อยใส่ใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นผลงานในช่วงอนุบาลไม่จำเป็นต้องใส่มาเลย
ในส่วนของการออกแบบปกหรือเนื้อหาด้านในนั้น เราอาจจะทำให้สอดคล้องกับคณะที่เราสมัครก็ได้ เพื่อสร้างจุดเด่น ความน่าสนใจ และยังโชว์ความคิดสร้างสรรค์ของเราได้อีกด้วย เช่น คณะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็อาจจะออกแบบให้อยู่ในธีมคอมพิวเตอร์ คณะที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวก็อาจจะออกแบบให้อยู่ในธีมของการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ จะทำให้เราดูเป็นคนที่ใส่ใจในการทำงานต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้กรรมการชื่นชมพอร์ตโฟลิโอของเราด้วย
ในการทำพอร์ตโฟลิโอเราควรเลือกใช้สีไม่เกิน 3 สี เพราะถ้าใช้สีที่มากกว่านี้ จะทำให้ควบคุมสีได้ยาก และงานอาจจะออกมาเลอะเทอะลายตาได้
เราสามารถใช้สีอะไรก็ได้ เพราะสีไม่ได้มีส่วนในการให้คะแนนพอร์ตโฟลิโอ แต่สีมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน เราอาจจะหาดู HEX Colors จากในเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็น Reference ได้ ซึ่งจะทำให้เราพอมองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ถ้าใช้สีนั้นกับสีนี้มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของเรา งานจะออกมาได้ธีมประมาณไหน และทำให้เราเลือกคู่สีได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าใครยังไม่รู้จริง ๆ ว่าจะใช้สีอะไรดี ลองหยิบเอาตัวเลือกต่อไปนี้มาใช้กับงานพอร์ตของเราก็อาจจะได้ธีมและคู่สีที่ถูกใจก็ได้นะ
1. สีประจำมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร
ดูแล้วก็เป็นตัวเลือกที่ดีเหมือนกันนะ เพราะสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สีอะไรดี ก็ใช้สีประจำของมหาวิทยาลัยที่เราสมัครซะเลย เพราะสีประจำมหาวิทยาลัยของแต่ละที่มักมีไม่เกิน 3 สีอยู่แล้ว เราแทบจะไม่ต้องไปหาจับคู่กับสีอื่น ๆ เลย
2. สีประจำคณะที่เราเลือก
โดยปกติแต่ละคณะจะมีสีประจำคณะอยู่แล้ว ถ้าสีประจำมหาวิทยาลัยยังไม่โดนใจ เราอาจจะลองหยิบสีประจำคณะที่สมัครมาใช้ก็ได้ และลองหาสีเพิ่มอีก 1-2 สี มาใช้ร่วมกัน อาจจะลองเปิดดู Reference จาก HEX Colors ดูประกอบด้วยก็ได้
3. เทรนด์สีมาแรงประจำปีนั้น ๆ
อันนี้จะเป็นการตามเทรนด์สียอดนิยมของปีนั้น ๆ ซึ่งเราสามารถหาดูได้ในกูเกิลว่าในปีนั้น ๆ สีไหนกำลังเป็นที่นิยม เราก็สามารถนำสีเหล่านั้นมาใช้ได้ ซึ่งสีที่ติดเทรนด์ในแต่ละปีจะมีมากกว่า 1 สีอยู่แล้ว และเป็นสีที่สามารถจับคู่กันมาใช้เป็นคู่สีในงานเดียวได้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสีที่อยู่ในธีมเดียวกัน ไปด้วยกันได้ ไม่โดดหรือสวนทางกันจนเกินไป
4. สีที่ตัวเองชอบ
อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่าสีไม่ได้มีผลกับการให้คะแนน ดังนั้นถ้าเราตัดสินใจเลือกสีไม่ได้จริง ๆ หรือว่าสีที่เลือกมายังไม่โดนใจ เราก็ใช้สีที่ตัวเองชอบไปเลยก็ได้ แถมไม่ต้องฝืนใจทำสีที่ตัวเองไม่ถูกใจอีกด้วย
เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พอร์ตโฟลิโอ’ ไม่ใช่งานจับฉ่ายที่เราจะจับสิ่งนั้นสิ่งนี้มายัด ๆ รวมกันในเล่มให้ได้มากที่สุดจนกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา จริง ๆ แล้วพอร์ตโฟลิโอเป็นพื้นที่ที่เราจะได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา ทั้งด้านผลงานที่ผ่านมา และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผู้ที่ได้อ่านรู้จักตัวเรามากขึ้น เราจึงอยากจะทำให้พอร์ตโฟลิโอของเราให้เป็นประโยชน์กับตัวเองให้มากและดีที่สุด ฉะนั้นการที่เราจะใส่อะไรลงไป เราต้องคัดกรองและเลือกแล้วว่ามันสำคัญจริง ๆ ดังนั้นเราจะต้องรู้ว่า ในพอร์ตโฟลิโอ 1 เล่มนั้น เราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรกับมันบ้าง
1. จัดเรียงเนื้อหาให้เป็นสัดส่วน
ควรจัดเรียงเนื้อหาให้เป็นสัดส่วนและระเบียบเรียบร้อย ไม่วกไปวนมาจนคนอ่านเกิดการสับสน ให้เรานึกถึงเวลาที่เราอ่านหนังสือ ถ้าหนังสือเล่มไหนที่มีการเรียบเรียงเนื้อหาวกวนสลับกันไปมา ก็จะทำให้เราไม่อยากจะอ่านหรือดูจนจบ เช่นเดียวกันกับพอร์ตโฟลิโอที่เราจะต้องเรียบเรียงให้ดี กระชับ และได้ใจความ โดยเริ่มจากประวัติส่วนตัว ประวัติผลการเรียน กิจกรรมและผลงานต่าง ๆ ควรเรียงจากกิจกรรมหรือผลงานล่าสุดและใหญ่ ไปจนถึงกิจกรรมหรือผลงานในระดับเล็ก มีรูปแทรกอยู่บ้าง แต่ถ้ารูปเยอะเกินไปควรแบ่งจัดออกไปไว้ในหน้าของภาคผนวกเพราะจะทำให้อ่านง่ายมากขึ้น
2. เขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา
เรื่องภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ไม่ใช่แค่ในพอร์ตโฟลิโอ แต่ในงานเขียนทุกงานควรที่จะใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ยิ่งเป็นภาษาไทยยิ่งต้องสะกดให้ถูกต้อง ควรรีเช็กข้อความว่าเราสะกดผิด หรือใช้คำผิดหรือเปล่า เพราะถ้าหากเราสะกดผิดจะเป็นผลสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และมีความละเอียดรอบคอบมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ควรสะกดและใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง ไม่ต้องใช้ศัพท์ยากก็ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง
3. เน้นผลงานที่สอดคล้องกับคณะที่อยากเรียน
ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีผลงานที่หลากหลาย แต่การทำพอร์ตโฟลิโอนั้นเราควรเรียงจากผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากเรียนไว้เป็นอันดับแรก ๆ เพื่อโชว์ผลงานและจุดเด่นของเราออกมาให้คณะกรรมการได้เห็น
4. แทรกรูปภาพเข้าไปบ้าง
พอร์ตโฟลิโอของเราถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจ หรือเขียนดีมากขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีรูปภาพเลย มีแต่ตัวหนังสือ ก็จะดูน่าเบื่อขึ้นมาทันที มันจะทำให้พอร์ตของเราไม่มีจุดเด่นอะไรขึ้นมาเลย ลองนึกภาพว่าถ้าเป็นเราอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือทุกหน้า ไม่มีรูปภาพประกอบเลยแม่แต่ภาพเดียวมันจะน่าเบื่อมากขนาดไหน สิ่งที่ตามมาคือเราจะอ่านหนังสือเล่มนั้นได้ไม่นาน เพราะไม่มีรูปภาพที่เป็นจุดพักให้เราเลย และสุดท้ายเราก็จะเลิกอ่านหนังสือเล่มนั้นไป เช่นเดียวกันกับพอร์ตโฟลิโอ การใส่รูปภาพเข้าไปจะทำให้คณะกรรมการเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องจินตนาการหรือเดาไปเอง และยังทำให้พอร์ตของเราน่าเปิดอ่านต่อไปเรื่อย ๆ
5. มีปกหน้า/ปกหลัง เย็บเล่มหรือเข้าเล่มให้เรียบร้อย
หลาย ๆ คนมักจะมองข้ามปกหลังไป และคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้ เพราะข้อมูลหน้าสุดท้ายก็ใช้เป็นปกหลังได้เหมือนกัน ที่จริงแล้วเป็นความคิดที่ผิดและไม่ควรทำ อย่าลืมว่าหนังสือยังไงก็ต้องมีทั้งปกหน้าและปกหลัง ให้ทุกคนมองว่าพอร์ตโฟลิโอก็คือหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนกัน และสิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือการเย็บเล่มหรือเข้าเล่ม ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าเล่มหลากหลายรูปแบบมาก หรือบางคนอาจจะใช้วิธีซื้อแฟ้มแบบเติมไส้แฟ้มได้มาใส่พอร์ตโฟลิโอก็ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาดเลยก็คือการเย็บมุมมาส่งเหมือนชีทเรียนหรือใบงาน แบบนี้กรรมการไม่ปลื้มแน่นอน
1. ตัวอักษรหลากสี
บางคนอยากให้พอร์ตโฟลิโอดูเด่น จึงทำตัวอักษรหลายสีแบบคัลเลอร์ฟูลสีฉูดฉาดมาก หรือบางคนไล่สีเป็นส่วนเลย เช่น ประวัติสีฟ้า การศึกษาสีเขียว ผลงานสีแดง คำอธิบายสีชมพู แบบนี้ไม่ไหวนะคะ แค่คิดตามก็ปวดตาแล้ว กรรมการเปิดดูแล้วอาจจะลายตาได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง แนะนำว่าให้ใช้สีเดียวก็พอ โดยควรจะเป็นสีที่เข้มชัดเจนและอ่านง่าย เช่น สีดำ สีน้ำตาลเข้ม สีกรม เป็นต้น แต่ถ้าในกรณีที่เราทำพื้นสีเข้ม การใช้สีพวกนี้อาจจะทำให้ดูกลืนกันจนมองไม่เห็นตัวหนังสือ อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้สีสว่างแทนอย่างสีขาว ทั้งนี้สีตัวหนังสือที่เหมาะสมต้องดูจากสีพื้นเป็นหลัก อย่าให้สีข้อความกลืนกันกับพื้น ส่วนหัวข้อเราอาจจะทำให้เป็นตัวหนาขึ้น และไม่กลืนกับเนื้อหามากเกินไป
2. จัดหน้ากระดาษหรือข้อความไม่เป็นระเบียบ
การเรียงข้อความไม่เป็นระเบียบจะทำให้ลำบากต่อการอ่านมาก เพราะอาจจะเรียงลำดับการอ่านไม่ถูกต้องตามที่เราตั้งใจที่จะนำเสนอ จึงทำให้เกิดการสับสนได้
3. ข้อมูลเยอะเกินไป
บางคนคิดแต่ว่าอยากให้พอร์ตโฟลิโอของตัวเองดูหนา จึงอัดเนื้อหาเข้าไปจนแน่นเกินไป ส่งผลให้พอร์ตของเรามีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อหรือแก่นใจความที่สำคัญจริง ๆ อาจทำให้กรรมการไม่เห็นเนื้องานเด่น ๆ ของเราได้ แนะนำให้ใส่ข้อมูลแต่พอดี เลือกเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ และเป็นจุดเด่นจะดีกว่า
4. เขียนอวยตัวเอง
เราไม่ควรเขียนอวยตัวเอง พยายามอย่าเขียนข้อความที่เกินจริง หรือไม่เป็นความจริง ถ้าเราเขียนไปแบบนั้นเราอาจจะถูกคัดออกเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ได้
5. ลอกงานคนอื่น
การลอกหรือ Copy ผลงานคนอื่นมาใส่พอร์ตโฟลิโอของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่แย่และไม่ควรทำที่สุด เราควรตั้งใจทำพอร์ตด้วยตัวเอง ถึงมันจะออกมาไม่สวยมากแต่กรรมการก็จะเห็นถึงความพยายามของเรา และที่สำคัญคือมันทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคในการทำพอร์ตโฟลิโอที่ควรรู้ ถ้าหากว่าเรารู้เทคนิคเหล่านี้ก็จะช่วยให้การทำพอร์ตง่ายขึ้นและถูกต้อง รับรองว่าพอร์ตโฟลิโอของเราจะออกมาปังอย่างแน่นอน และได้พอร์ตดี ๆ ไปเสนอต่อหน้ากรรมการเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้แน่ ยังไงก็ตามขอให้ทุกคนโชคดี และสนุกกับการทำพอร์ตโฟลิโอนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
รวมเว็บแจกเทมเพลตทำ Portfolio ฟรี !!!
รวมประเทศน่าไปเรียนต่อ มีทุนแจกฟรี !
10 กิจกรรมน่าทำก่อนเปิดเทอม ช่วยเพิ่มประสบการณ์ชีวิต
12 Soft Skills สำคัญที่ควรมีติดตัวก่อนเรียนจบ
รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลิกผ่าน 'สี' ตัวเราคือสีอะไร ?
‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'
วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
เคล็ดลับการทำ ‘Mood Board' เพื่อค้นหาตัวเอง
วิธีอัปสกิลมนุษย์เป็ดให้เก่งปัง
แหล่งข้อมูล
รวมสิ่งที่ควรทำ VS ไม่ควรทำใน Portfolio + ผลงาน/กิจกรรมที่นำมาใส่ได้