Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติศาสตร์แห่งการจูบที่ไม่ได้โรแมนติกเหมือนอย่างที่คิส

Posted By Plook Magazine | 02 ก.ค. 64
7,984 Views

  Favorite

เคยสงสัยกันไหมคะว่าใครเป็นคนคิดค้นการจูบขึ้นมา ใครเป็นคนกำหนดว่าการจูบคือการแสดงความรัก ในวันจูบสากลแบบนี้เรามาทำความรู้จักเรื่องเบ็ดเตล็ดที่อาจไม่ชวนเขินเท่าไหร่เกี่ยวกับการจูบ ซึ่งน้อง ๆ สามารถอ่านได้แบบไม่รู้สึกจั๊กจี้ ว่าทำไมมนุษย์เราถึงได้สืบทอดการจูบกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนมันกลายมาเป็นสัญชาตญาณ เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในบางประเทศ แถมยังยก 1 วันใน 365 วันให้เป็นวันจูบสากลอีกต่างหาก  

 

ความจริงแล้วอะไรที่ไม่สำคัญในธรรมชาติ ธรรมชาติจะคัดสรรออกไปให้หมด ธรรมชาติจะคงไว้ซึ่งสิ่งที่มีประโยชน์ต่อความอยู่รอดเท่านั้น อะไรที่ไม่จำเป็นก็จะค่อย ๆ ถูกตัดออกไป เช่น เมื่อก่อนงูก็มีตีนนะคะ แต่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตีนไม่ได้มีความสำคัญต่อการมีชีวิตรอด เมื่อเวลาผ่านไปตีนของงูก็หดเล็กลงจนเหลือแค่ลำตัว การจูบก็เช่นกันค่ะ เป็นเรื่องธรรมชาติที่สำคัญ (ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ทำต่อ ๆ กันมาหรอกจริงไหม) ไม่ใช่แค่ในทาง Sexual หรือในทางชู้สาวเท่านั้น แต่การจูบมีความสำคัญหลายมิติ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางชีวภาพ เรียกว่าเป็นการกระทำที่สำคัญต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติก็ว่าได้ เพราะการจูบเป็นการประเมินคู่ครองอย่างหนึ่งตามทฤษฎีวิวัฒนาการให้เราสามารถเลือกคู่สืบพันธ์ุที่ดีที่สุด ที่แข็งแรงที่สุดสำหรับเราได้ แถมการจูบยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนเซโรโทนินซึ่งจะทำให้คู่รักรู้สึกอบอุ่นไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นอีกด้วย 

 


แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเที่ยวไปจูบใครก็ได้เพราะเหตุผลเพื่อความอยู่รอด เพราะในมิติของวัฒนธรรม การจูบไม่ใช่สิ่งที่ทุกสังคมจะยอมรับว่าปกติ อย่างสังคมไทยเราแค่พูดถึงการจูบก็อาจทำให้พ่อแม่กังวลใจว่าเราจะชิงสุกก่อนห่าม แต่การห้ามโดยที่ไม่ทำให้เข้าใจว่าทำไม นานไปก็ไม่ได้ผลกลายเป็นว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ! ในเมื่อการจูบเป็นเรื่องธรรมชาติที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์มาตั้งหลายพันปี เราจึงมีสิทธิ์ที่จะรู้ คำถามก็คือทำไมเราไม่ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมที่แปลกประหลาดที่คนยอมรับอย่าง ‘การจูบ’ ถึงถูกคัดเลือกมาในกระบวนการวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นสัญชาตญาณหนึ่งของมนุษย์ได้ล่ะ ?  

 

ย้อนกลับไปในสมัยก่อนมีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บอกว่า มนุษย์พัฒนาการจูบมาจากการลอกเลียนแบบแม่นกป้อนอาหารให้ลูกนกทางปาก หรือที่เราเรียกว่า ‘kiss-feeding’ มนุษย์ก็เลยเรียนรู้และลอกเลียนแบบมาทำตามด้วยการเอาปากมาประกบกันดูบ้าง (จริง ๆ แล้วคนเลียนแบบการจีบกันมาจากนกอีกด้วยนะคะ) นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกชิ้นที่ชี้ว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างลิงโบโนโบ (Bonobo) ที่ก็จุ๊บกันเหมือนคนเลย และยังมีที่คล้าย ๆ อีกอย่างหมา แมว ยีราฟที่จะคลอเคลียกันตรงริมฝีปาก เลียและดมกลิ่นกันเพื่อดูแลรักษาความสะอาดให้กัน  ซึ่งเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่แปลได้ว่าฉันมีความผูกพันกับอีกตัวมากแค่ไหน 

 


เมื่อมนุษย์เห็นเช่นนี้ก็ก็อปปี้มาเรื่อย ๆ จนในที่สุดการจูบก็แพร่หลายไปทั่วโลก มีหลักฐานที่ถูกค้นพบในบันทึกเก่า ๆ ย้อนหลังไปไกลได้ถึง 3,500 ปีก่อนในบันทึกภาษาสันสกฤต ที่นิยามไว้ว่าการจูบเป็นการแลกเปลี่ยนจิตวิญญาณ และยังถูกพบในไบเบิล กามาสุตรา และอื่น  ๆ อีกมากมาย แต่การจูบที่ออกแนวโรแมนติก ทันสมัยใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุดเกิดขึ้นในยุโรปซะส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่แสดงความรักเท่านั้น แต่ยังมีการจุ๊บแก้มซ้ายขวา จุ๊บมือเป็นการทักทายสวัสดีกัน เช่น ในเมืองมาร์เซย์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสผู้คนยังคงทักทายกันด้วยการ ‘bise’ หรือการจูบที่แก้มซ้ายและขวา ซึ่งเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศสทางตอนใต้ กลายเป็นว่าการจูบคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่คนบางสังคมยอมรับได้

 

นอกจากคนเราจะเริ่มใช้การจูบเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งแล้ว เราจะเริ่มเห็นการจูบถูกทำให้เป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงรักแท้อีกด้วย โดยเฉพาะในหนัง ในงานเขียนต่าง ๆ เช่น เทพนิยายโด่งดังอย่างเรื่อง ‘Sleeping Beauty’ หรือ ‘เจ้าหญิงนิทรา’ ที่เจ้าหญิงจะฟื้นคืนชีพได้ก็ต่อเมื่อคู่แท้ของเธอมามอบจุมพิตให้เท่านั้น และในภาพถ่ายที่โด่งดังอย่างภาพ V-J Day in Times Square  ที่ถ่ายโดยคุณอัลเฟรด ไอเซนสเตดต์ คือภาพจูบกันระหว่างทหารเรือและพยาบาลสาวบนถนนไทม์สแควร์ นิวยอร์ก ของวันที่ 14 ตุลาคม 1945 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ภาพนี้ได้กลายมาเป็นภาพสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่ได้รับการจดจำมากที่สุดภาพหนึ่งของโลก ทั้งนี้ทั้งคู่ไม่ได้เป็นแฟนกันเลย

 


แต่ก็อย่างว่า ไม่ใช่ทุกสังคมจะยอมรับวัฒนธรรมการจูบ เพราะในบางประเทศหากใครไปจูบกันหรือไปแสดงความรักกันในที่สาธารณะก็จะถูกจับหรือถูกทำโทษให้ซวยไปสามวันเจ็ดวันได้ เช่น ในประเทศอินเดีย การแสดงความรักนอกสถานที่ถือเป็นความผิดทางอาญา ถ้าใครละเมิดจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยเราแม้จะไม่มีกฎหมายลงโทษแต่เราก็จะไม่ค่อยเห็นคนจูบกันให้เห็นกับตา เนื่องจากเราถือเรื่องกาลเทศะเป็นเรื่องใหญ่ การที่เด็กวัยรุ่นหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ตามจับมือถือแขน กอด จูบกันในที่สาธารณะให้คนอื่นเห็นก็จะถูกมองว่าไม่งาม นั่นจึงทำให้ตั้งแต่เล็กจนโต เรามักจะไม่เคยเห็นพ่อแม่จุ๊บกันให้ลูกเห็นเลย เราจึงเรียนรู้กันมาโดยที่ไม่ต้องสอนว่า ‘การจูบ’ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำในที่สาธารณะ และถ้าเราทำ เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะในสายตาคนอื่นทันที

 

ดังนั้นขอบเขตของการแสดงความรักด้วยการจูบจึงต้องปรับตัวตามวัฒนธรรมและบริบทนั้น ๆ  ของคนในสังคม เพราะถึงแม้มันจะเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ในตัวทุกคน แต่เมื่อเราวิวัฒนาการตัวเองกันมาจนมีวัฒนธรรมที่สูงที่สุดในห่วงโซ่อาหารแล้ว เราก็ควรที่จะทำตามวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้สมกับที่ได้วิวัฒนาการตัวเองมาจนต่างจากสัตว์ทั้งหลาย สุดท้ายนี้อยากบอกว่าการจูบแต่ละครั้งมันคือการแลกเปลี่ยนแบคทีเรียมากถึง 80 ล้านตัว  และเราคงไม่อยากจะแลกแบคทีเรียเป็นล้าน ๆ ตัวกับใครสุ่มสี่สุ่มห้า #ฝากไว้ให้คิส

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตำนาน ‘ด้ายแดง’ ที่ว่าคนเราเจอรักแท้แล้วแต่แค่ไม่รู้ตัว

ทำไมสาวเปิ่น ๆ โก๊ะ ๆ ถึงได้ใจพระเอกซีรีส์เกาหลี

ผู้ชายราศีไหนที่อบอุ่นหัวใจจนยกให้เป็น “สุดยอดแฟนดีเด่น”

ถอดทริคเด็ดจาก 'ทฤษฎีจีบเธอ' จีบยังไงให้ได้เข้าไปนั่งในใจคนที่ชอบ

สบตาเธอแล้วโลกหยุดหมุน รักแรกพบมีจริงหรือแค่คิดไปเอง

มีอะไรกันครั้งเดียวจะท้องไหม รวมความรู้เรื่องเซ็กซ์ ความเชื่อผิด ๆ

‘เขาชอบเราจริงไหม’ หรือแค่หาคนคุยแก้เบื่อ

เราพร้อมจะมีเซ็กซ์ มีอะไรครั้งแรกกับแฟนแล้วใช่ไหม ?

Sexting คืออะไร เราคุยเรื่องเซ็กซ์กันได้ไหม ?

รู้จักอาการคลั่งรัก ‘Limerence’ คุณกำลังคลั่งรักใครอยู่หรือเปล่า

จีบกันยังไงดี ในช่วง COVID-19 ที่ต้องใช้ชีวิตแบบ Social Distancing

 

 

แหล่งข้อมูล 

จูบใครคิดว่าไม่สำคัญ | EP23 

The History of Kissing

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow