ความจริงในการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งนั้นได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้นานแล้ว และมีการนำมาใช้กันบ้างเพียงแต่ยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่ จนมาถึงในยุคที่เกิดวิกฤตนี้ ที่เสมือนสารเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดการตื่นตัวในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น จนในปัจจุบันผู้เรียนส่วนใหญ่แทบจะทุกระดับสามารถที่จะเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้เฉกเช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นมีประโยชน์ แต่ก็ใช่ว่าการเรียนแบบออฟไลน์ ในรูปแบบของการเรียนในชั้นเรียนตามปกตินั้นจะไร้ความจำเป็นเสียทีเดียว เพราะถึงอย่างไร บางวิชาก็ยังจำเป็นต้องเรียนในชั้นเรียนเฉพาะ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้การสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้เรียน ก็เป็นส่วนสำคัญในส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนอีกด้วย มันจึงไม่ใช่ว่าการเรียนออนไลน์นั้นจะสามารถตอบสนองได้ทั้งหมด แต่ครั้นจะให้ผู้เรียนกลับมาเรียนเต็มเวลาท่ามกลางวิกฤตนี้ก็ดูจะไม่ใช้แนวทางที่ดีนัก
ด้วยเหตุนี้มันจึงดีกว่าไหมถ้าการศึกษาของเราสามารถที่จะเรียนรู้แบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้แบบออฟไลน์ได้ แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาทางการศึกษาที่เรียกว่า Hybrid Learning
Hybrid Learning หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบแบบผสมผสานที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจากการบูรณาการระหว่างการจัดการเรียนรู้แบบออฟไลน์ เช่น เรียนรู้ในห้องเรียน หรือ เรียนรู้ผ่านคลิปวีดีโอที่บันทึกไว้ ร่วมกับการเรียนรู้แบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งถ่ายทอดสดการสอนในคลาส หรือ การเรียนแบบ live-streaming เข้าด้วยกันในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงมีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายควบคู่กันไป ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และช่วยแก้ไขปัญหาในด้านการเรียนที่เกิดจะผลกระทบต่าง ๆ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการจัดการเรียนรู้นี้ ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้เรียนเรียนร่วมกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ พร้อมทั้งแบบทดสอบและงานที่ได้รับมอบหมายจากครูผู้สอน ก่อนที่จะนำมาส่งตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งทบทวนบทเรียนกับครูผู้สอนในชั้นเรียน หรือการที่แบ่งกลุ่มผู้เรียนให้สลับวันระหว่างมาเรียนที่โรงเรียนกับเรียนออนไลน์ที่บ้าน เป็นต้น
Hybrid Learning นับว่าเป็นการนำจุดเด่นของทั้งการเรียนแบบออฟไลน์และออนไลน์ มาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอน ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สามารถที่จะปรับให้เข้ากับบริบทของผู้เรียนและสถานที่ได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้เรียน และสอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในการจัดการเรียนรู้แบบ Hybrid Learning นั้น ประกอบด้วย
- เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน ระหว่างการเรียนรู้แบบออฟไลน์ร่วมกับการเรียนรู้แบบออนไลน์ ทำให้สามารถดำเนินการได้สะดวก และให้ทางเลือกกับผู้เรียนในการเลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง
- เป็นรูปแบบการเรียนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสไตส์การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน
- ทำให้ตารางเรียนมีความยืดหยุ่น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของผู้เรียนและความพร้อมของครูผู้สอน
- สามารถพบปะกันได้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือผู้เรียนด้วยกัน ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีการประยุกต์ใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในการจัดการเรียนการสอน
- เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ทั้งจากระยะใกล้และระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะลดปริมาณที่ผู้เรียนต้องมาเรียนที่สถานศึกษาลง ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19
- เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่คำนึงถึงสุขภาพบนความปลอดภัย จึงนับเป็นรูปแบบการเรียนรู้แห่งอนาคตที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบ Hybrid Learning นั้น นอกจากจะเป็นการนำจุดเด่นด้านเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ ทำให้ผู้เรียนสามารถพูดคุยสอบถามกับครูผู้สอนได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีเวลาสำหรับการศึกษามากขึ้น เพราะการเรียนรูปแบบนี้ ในส่วนของการเรียนออนไลน์นั้น ผู้เรียนและผู้สอน สามารถที่จะดำเนินการจากที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมาที่โรงเรียนทุกวัน ซึ่งช่วยลดการเดินทาง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเว้นระยะห่างและลดความแออัดในสถานศึกษา ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ในขณะเดียวกัน การเรียนรูปแบบนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนก็มีโอกาสที่จะพบปะและทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียนด้วย เพียงการเรียนในชั้นเรียนนั้นจะลดปริมาณลง และจะเน้นเพื่อการทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ฝึกทักษะและสรุปบทเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น
Hybrid Learning นั้นนับว่าเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาออนไลน์เต็มรูปแบบกับการศึกษาแบบออฟไลน์ที่เคยเป็นมา มันจึงเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบลูกผสมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากจุดเด่นทั้งสองแนวทาง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างดี สิ่งนี้จึงเป็นเสมือนทางรอดของการศึกษาในยุคสมัยนี้ ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาการแพร่ระบาด เนื่องจากผู้เรียนนั้นไม่ต้องปรับตัวกับการเรียนในรูปแบบนี้มากนัก เพราะสามารถที่จะเรียนได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ แต่ก็เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งช่วยที่ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารออนไลน์ อันเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถรับมือกับเรื่องของการระบาดได้ และเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เราก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าในอนาคตเราจะต้องเผชิญกับเรื่องทำนองนี้อีกหรือไม่ มันจึงเป็นหนทางที่ดีกว่าที่ครูผู้สอนจะจัดเตรียมการเรียนการสอนแบบผสมผสานนี้ ไว้รับมือกับเรื่องไม่คาดคิด เพราะถึงอย่างไร แม้โลกจะต้องเผชิญกับปัญหาอะไร การศึกษายังไงก็ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้อยู่ดี
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร
เอกสารอ้างอิง
https://nipatanoy.wordpress.com/blended-learning-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%AA%E0%B8%B2/
https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/choosing-how-to-study/what-is-hybrid-learning/
http://esheninger.blogspot.com/2020/06/moving-to-hybrid-learning-model.html