นอกจากสารแห่งความสุขแล้ว สมองเรายังมีสารแห่งความเครียดด้วย ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) อะดรีนาลีน (Adrenaline) และอิพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไตเมื่อเราโกรธหรือเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกลุ่มนี้ออกมาเพื่อให้เราเตรียมพร้อม ป้องกัน และรับมือต่อภาวะฉุกเฉินด้วยการเพิ่มน้ำตาลในเลือด เพิ่มแรงสูบฉีดของหัวใจ เมื่อเราเครียดมาก ๆ แล้วไม่รู้เท่าทันความเครียดของตัวเอง ในที่สุดก็จะถึงจุดเดือดที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม 4F ดังนี้
• Fight ต่อสู้ โต้เถียง ต่อต้าน
• Flight ถอยหนี
• Fake เสแสร้ง
• Freeze แกล้งตาย
ซึ่งพฤติกรรม 4F นี้จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจและความรู้สึก โดยแสดงออกมาในรูปแบบที่ต่างกันไป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘โรคเครียดแฝง’ ซึ่งสามารถพัฒนาโรคไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ วัยรุ่นที่เป็น ‘โรคเครียดแฝง’ อาจไม่แสดงอารมณ์ออกมาชัดเจน บ่อยครั้งท่ี่คนรอบข้างคิดว่าเป็นแค่วัยรุ่นเจ้าอารมณ์ เลือดร้อนหรือเด็กมีปัญหา แต่ความจริงแล้วนั่นเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ควรมองข้าม หากเราฝึกสำรวจอารมณ์ของตัวเองแม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนรู้เท่าทันตัวเองก็จะทำให้สมองหาทางออก หาแนวทางจัดการความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบได้อย่างเหมาะสม
กลุ่มที่ 1 อาการทางด้านเชาว์ปัญญา
เมื่อเกิดความเครียดขึ้นสมองของเรามักจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก และเมื่อส่งผลกับสมองแล้วก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองเกิดความผิดปกติ เช่น
• ความจำแย่ลง ความเครียดเปรียบเสมือนหมอกหนาที่อยู่ในหัวของเรา เมื่อเราเกิดความเครียดมันก็จะบดบังสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในหัวของเราจนทำให้เรากลายเป็นคนขี้ลืม เช่น อาจจะหลงลืมกับเรื่องเล็ก ๆ
• ไม่มีสมาธิ ความเครียดส่งผลให้เรามีสมาธิน้อยลง นอกจากนี้ยังทำให้ความอดทนของเราต่ำลงมากกว่าปกติจนบางครั้งเราอาจจะเกิดอาการหงุดหงิด โมโหร้าย โวยวาย ไร้เหตุผล เนื่องจากไม่สามารถเพ่งความสนใจไปกับการทำสิ่งอื่นได้
• วิตกกังวล ความวิตกกังวลก็เป็นความเครียดชนิดหนึ่งที่ส่งผลทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังทำผิดพลาดและทำให้เราไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ แม้ว่าเราจะทำมันเป็นประจำ สม่ำเสมอ หรือหวาดกลัวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
• แก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่นเดียวกับการตัดสินใจ เมื่อคนเรามีความเครียด สมองของเราจะทำงานได้ช้าลง ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียต่าง ๆ ก็จะลดลง จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเหล่านั้นอาจจะไม่ใหญ่โต
กลุ่มที่ 2 อาการทางด้านอารมณ์
เมื่อเกิดความเครียด คนเราจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนและไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา บางคนอาจอารมณ์ร้ายมากขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็มีอาการซึมเศร้าจนเห็นได้ชัด เปลี่ยนเป็นคนละคนซึ่งอาการที่เกิดจากความเครียดที่ส่งผลต่ออารมณ์มีดังนี้
• เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ซึ่งบางครั้งความเครียดก็ทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวนได้ จากที่เพื่อนเคยเล่นมุกใส่แล้วเราตบมุกกลับปกติหรือแซวเล่นกันปกติ แต่มันอาจไม่ปกติ เราอาจโกรธ โมโหทั้ง ๆ ที่เพื่อนก็ทำแบบนี้กับเราเป็นประจำ
• ฉุนเฉียว เวลาที่เรารู้สึกเครียด ไม่ว่าอะไรก็รู้สึกขัดหูขัดตาไปหมดจนทำให้เราอาจจะเหวี่ยงใส่คนรอบข้างโดยที่ไม่รู้ตัว หมดความอดทนอดกลั้น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจเพราะความเครียดเข้าครอบงำ จากที่เคยเป็นคนใจเย็น ก็กลายเป็นคนใจร้อน พร้อมบวก และทำเรื่องเสี่ยง ๆ
• ซึมเศร้าและร้องไห้ อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่จะมักจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียด บางคนเลือกใช้การร้องไห้เป็นการระบายความอัดอั้นในใจออกมา ถึงแม้ว่าจะช่วยได้บ้างแต่ตราบใดที่ไม่หายเครียดก็ไม่อาจหนีจากความซึมเศร้าพ้นอย่างแน่นอน
• รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ความเครียดอาจส่งผลทำให้หลายคนปลีกตัวเองออกจากสังคมโดยไม่รู้ตัว จนรู้สึกเหมือนอยู่อย่างโดดเดี่ยว และการอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังในภาวะความเครียดนั้นอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้
กลุ่มที่ 3 อาการทางด้านร่างกาย
สัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดของอาการเครียดมักแสดงออกให้เห็นทางร่างกาย โดยอาการทางร่างกายจะเริ่มทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนอาจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล อาการส่วนใหญ่ที่พบมีดังนี้
• ปวดหัว ความเครียดจะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการปวดไหล่และคอร่วมด้วย หรือบางรายก็อาจจะเกิดอาการปวดหัวร้ายแรงอย่างไมเกรนได้
• ผมร่วง ความเครียดอย่างรุนแรงจะทำให้เส้นผมที่อยู่ในช่วงการเติบโตหยุดการเจริญเติบโตอย่างกะทันหันและหลังจากนั้น 2-3 เดือนเส้นผมเหล่านั้นก็จะหลุดร่วงจากศีรษะ
• หนังตากระตุก อาการหนังตากระตุกหลายคนมักเชื่อว่ามันเป็นลางบอกเหตุร้าย เช่น ขวาร้ายซ้ายดี แต่จริง ๆ เวลาที่คนเราเครียดก็อาจจะทำให้หนังตากระตุกได้เช่นกันและนั่นเป็นลางบอกเหตุว่าเรากำลังเครียด
• กินจุบจิบไม่หยุด หลายคนยิ่งเครียดก็ยิ่งกินจุบกินจิบ กินจุ อยากกินแต่ของหวาน ๆ ที่มีน้ำตาลสูงเพราะมันสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนที่จะหลั่งออกมาในเวลาที่เรารู้สึกเครียดได้ ซึ่งของหวานพวกนี้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย ส่งตรงไปยังสมองได้เร็วกระตุ้นการสร้างเซโรโทนินที่เป็นสารเคมีจากสมอง ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแต่ไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว
• ปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ความเครียดมักทำให้เกิดอาการอ่อนล้าตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเนื่องจากเวลาเครียดกล้ามเนื้อทุกส่วนของเราก็จะกดดันและเครียดไปด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการปวดที่บริเวณไหล่ คอ และหลัง
• ผิวพรรณหม่นหมอง ความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือนสามารถทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำลงได้ เพราะฮอร์โมนความเครียดจะไปทำให้เทโลเมียร์ (Telomere) ที่อยู่ส่วนปลายของดีเอ็นเอสั้นลง ทำให้ดีเอ็นเอไม่สามารถแบ่งตัวได้อย่างสมบูรณ์ส่งผลทำให้เกิดริ้วรอย และผิวพรรณหมองคล้ำก่อนวัย
กลุ่มที่ 4 อาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรม
ความเครียดนอกจากจะส่งผลต่อร่างกาย สมอง และอารมณ์แล้ว ก็ยังส่งผลทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่างของเราเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจจะทำให้ติดและกลายเป็นนิสัยได้ โดยส่วนใหญ่เมื่อเราเครียดจะเกิดพฤติกรรมดังต่อไปนี้
• นอนไม่หลับ เมื่อเรารู้สึกกังวล สมองของเราจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้นอนไม่หลับ และจะส่งผลทำให้คุณอ่อนเพลีย เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิเหมือนเดิม น้ำตาลในเลือดสูงหากมีอาการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนดึกตื่นสายร่วมด้วยก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้
• ปลีกตัวเอง ความเครียดส่งผลทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลงเนื่องจากเราจะเอาแต่สนใจกับสิ่งที่เราเครียดเพียงอย่างเดียว จนทำให้ดูเหมือนว่าเราไม่อยากคบค้าสมาคมกับใครอย่างที่เคย อยากอยู่คนเดียว หมดแรงที่จะออกไปพบเจอใคร
• ใช้ยาเสพติด บุหรี่ หรือแอลกอฮอล์มากขึ้น หลายคนเมื่อเกิดความเครียดและไม่สามารถหาทางออกได้ก็มักจะไปพึ่งแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้หายเครียดเพียงแต่ลดความเครียดได้ชั่วคราวเท่านั้น แถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา
เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?
รวมอาหารอร่อย กินแล้วอารมณ์ดี ช่วยลดความเครียดได้ !
HOW TO พักผ่อนสมองให้ความจำดีด้วยวิธี Mindfulness
เพิ่มเวลาออฟไลน์ ลดความเครียดกับ ‘Social Media Detox’
วิธีรับมือกับความเจ็บปวดและความเครียด
เทคนิคผ่อนคลายร่างกายก่อนนอน ช่วยให้หลับง่าย หลับได้ลึกขึ้น
ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ดี ช่วยลดอาการเครียด
วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป
เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง
ทำไมคนเราต้องโกรธจนมือสั่น แล้วเราจะควบคุมความโกรธได้ยังไงบ้าง
3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์
แหล่งข้อมูล
ผ่า 4 กลุ่มความเครียดที่กระทบสุขภาพ เครียดแบบเราจัดอยู่กลุ่มไหน?
ปรับมุมมองเปลี่ยนความคิดพิชิตโรค ตอน 2