Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับพัฒนาตัวเองของ 'Late Bloomer' คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

Posted By Plook Magazine | 21 มิ.ย. 64
8,573 Views

  Favorite

ใครเคยเครียดเพราะรู้สึกว่าตัวเองโตช้ากว่าเพื่อนไหมคะ ? เมื่อมองไปที่เพื่อนแล้วทุกคนดูเป็นหนุ่มสาวกันหมด แต่คุณยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กน้อยอยู่เลย หรือว่ามองไปที่เพื่อนแล้วรู้สึกว่าเพื่อนดูมีอะไรในชีวิตดี ดูเท่อ่ะ เพื่อนเริ่มประสบความสำเร็จกันทีละคนสองคน แต่เรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองเกิดมาทำไม ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ถ้าใครที่กำลังรู้สึกแบบนั้นอยู่ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ The Late Bloomers Club คุณเป็นหนึ่งใน Late Bloomer แล้วล่ะ ! 

 

เราทุกคนรู้ว่าความสำเร็จในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ ‘อายุ’ แต่ก็ตลกดีที่เมื่อมีคนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ผุดขึ้นมาเมื่อไหร่ สังคมก็จะแห่กันไปชื่นชมจนในที่สุดก็เกิดเป็นค่านิยมใหม่ที่ยกยอคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยคือคนที่เจ๋ง ทำให้คนที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดาตามสปีดของเขาเองต้องรู้สึกว่าตัวเองช้ากว่าคนอื่น ไม่เอาไหน ขี้แพ้ ส่งผลให้เกิดความเครียด เกิดความสงสัย ไม่มั่นใจในตัวเอง และยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลก หรือที่เราเรียกว่า ‘Late Bloomer’ คนที่ประสบความสำเร็จช้า  

 

Late Bloomer ฉันคือดอกไม้ที่บานช้า

 

Late Bloomer มีมาตั้งนานแล้ว แต่สมัยก่อนเขาใช้เรียกดอกไม้ที่บานช้ากว่าดอกอื่น จนถูกหยิบขึ้นมาใช้เรียกในคนที่เป็นสาวช้ากว่าคนอื่น อารมณ์เจ้าหญิงกบที่ต้องใช้เวลากว่าจะสวย หรือเจ้าเงาะในสังข์ทองที่เมื่อถึงเวลาถอดรูปออกมาแล้วก็หล่อซะจนไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ยังถูกนำมาเรียกคนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าคนอื่น เรียนรู้ช้ากว่าคนอื่นอีกด้วย ตัวอย่าง Late Bloomer ในประวัติศาสตร์ที่คนชอบยกตัวอย่างกันก็คือ  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในวัย 14 ปี เขาเคยเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนจนต้องย้ายโรงเรียนอยู่บ่อย ๆ ลายมือเขาโย้เย้ไม่เหมือนเด็กทั่วไป แต่เมื่อเขาโตขึ้นก็แก้ทุกจุดบกพร่องนั้นได้ กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคนหนึ่ง เป็นผู้สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพอันนำไปสู่การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ 

 

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ประสบความสำเร็จช้าทุกคนจะต้องไม่ชอบโรงเรียนหรือว่าเรียนหนังสือแย่ ยกตัวอย่างเช่น ดร.พอล แซมมวลสัน ที่สามารถเข้าใจทฤษฎีของมัลธัสได้อย่างทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟังเมื่อเข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยชิคาโก เพราะเขาคิดว่าตัวเองก็แค่เด็กเรียนเก่งทั่วไป แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนโลกจนได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1970 ดูเหมือนว่าเมื่อเขาเจอจังหวะที่ใช่ เขาก็ได้ปลดล็อกทุกอย่าง 

 

ดังนั้นแทนที่จะไปกังวลว่าเรามันขี้แพ้ที่ทำอะไรก็ช้ากว่าคนรุ่นเดียวกัน ก็อยากให้ลองมองมาที่ตัวเองใหม่อีกครั้ง เพราะบางทีเราอาจจะเป็นดอกไม้ดอกนั้นที่มันบานช้ากว่าดอกอื่นในสวน แต่เราจะบานในที่สุดเพียงแค่มันยังไม่ถึงเวลาของเรา

 

 

Late Bloomer จะพบศักยภาพที่แข็งแกร่งของตัวเองได้ยังไง 


Late Bloomer ก็มีจุดแข็งเหมือนกัน 

Rich Karlgaard ผู้เขียนหนังสือ Late Bloomers (แปลเป็นไทยได้ว่า สำเร็จได้ ไม่ต้องรีบ) ได้พูดไว้ใน Ted Talks ไว้ว่า คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าคนอื่นจะมีจุดแข็งอยู่ 5 อย่างด้วยกันคือ ความเห็นอกเห็นใจ ความยืดหยุ่น ความเข้าใจ สติปัญญา และความอดทน จงใช้จุดแข็งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการมองเห็นอนาคตของตัวเองหรือพัฒนามันไปสู่อาชีพในฝัน  

 

เอาตัวเองออกมาจากความคาดหวัง

สิ่งที่คนประสบความสำเร็จช้าจะต้องจำไว้ก็คือความคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากครอบครัวหรือสังคมต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ความคาดหวังที่เราวางไว้ให้กับตัวเราเองคือเป้าหมายที่สำคัญกว่าความคาดหวังที่คนอื่นมีต่อเรา คิดถึงสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด และถ้ามันไม่ตรงกับความคาดหวังของครอบครัวหรือว่าของสังคมก็ไม่ต้องเสียใจ นี่คือชีวิตของเรา เราก็ควรจะต้องได้เลือกเองว่าจะไปทางไหน

 

ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น 

แม้ว่าเราและเพื่อนจะอายุเท่ากัน แต่เส้นทางที่เราและเพื่อนเลือกเดินไม่ใช่เส้นทางเดียวกัน ศักยภาพ ความสามารถ และความสนใจที่ไม่เหมือนกัน นั่นทำให้เราและคนอื่นมีีเส้นทางที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่แตกต่างกัน การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในลักษณะนี้ก็ไม่ต่างกับการเอาลิงกับปลาไปแข่งกันปีนต้นไม้ เพราะทำยังไงปลาก็แพ้ ดังนั้นไม่ต้องเสียใจที่ตัวเองสำเร็จช้ากว่า ฝึกยินดีกับคนอื่นโดยไม่ต้องอิจฉาหรือว่าเปรียบเทียบ

 

 

ลองคบกับคนที่โตช้าแบบเรา

อาจมีบางวันที่เรารู้สึกโดดเดี่ยวหรือขี้แพ้  หากได้รู้จักกับคนที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกันอยู่ก็ย่อมสามารถแบ่งเบาความรู้สึกนั้นได้ ถ้าหาเพื่อน ๆ ที่รู้สึกแบบเดียวกันในชีวิตจริงไม่ได้  ก็ยังมีกลุ่มในโลกออนไลน์มากมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อ Late Bloomer ที่เราสามารถเข้าไปเข้าร่วมกลุ่ม พูดคุยกัน หาคนรับฟังที่เข้าใจ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราสบายใจขึ้นที่ได้รู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่รู้สึกแบบเดียวกันกับเรา

 

ออกไปใช้ทักษะที่เรามีให้ถูกที่ถูกทาง

คนที่ฉลาดและสร้างสรรค์ที่สุดอาจไม่ได้เก่งในห้องเรียน หลายคนไม่ได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรหรือทำอะไรได้ดีจนกระทั่งเรียนจบไปแล้วและฟื้นตัวจากการศึกษา เพราะหลายคนอาจรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ได้ให้ค่าความเก่งของเขา เนื่องจากการเรียนมีการจัดอันดับและให้ค่าบางทักษะมากกว่าบางทักษะ เช่นการคำนวณมากกว่าทักษะทางสายศิลป์ ดังนั้นให้จำไว้ว่าทุกทักษะจะมีค่ามีราคาถ้าไปอยู่ถูกที่ถูกทาง เช่น คนที่เก่งศิลปะจะอยู่ยากมากในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เป็นต้น

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’

เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ

รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด

รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลิกผ่าน 'สี' ตัวเราคือสีอะไร ?

คล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน

“อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่

รู้จัก 'Self-Awareness' แบบทดสอบที่จะทำให้เราหาตัวเองเจอก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

ค้นหาตัวเองให้เจอเพื่ออาชีพในฝันด้วยหลักอิคิไกสไตล์ญี่ปุ่น


 

แหล่งข้อมูล

- เคน โรบินสันและลู อโรนิกา. (2562). The Element ค้นพบตัวตนที่แท้ แค่กล้าปลดล็อก. แปลจาก The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. แปลโดยอุบลรัตน์ เต็งไตรรัตน์. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊คส์  
- Why Late Bloomers Are Undervalued  

 
 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow