Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พลังเเห่ง ‘เมื่อไหร่’ ศาสตร์ที่จะบอกว่าทำอะไรเมื่อไหร่สมองจะดี สุขภาพแข็งแรง

Posted By Plook Magazine | 18 มิ.ย. 64
4,784 Views

  Favorite

หลายคนคงจะเคยได้ยินคำพูดติดตลกที่ว่า ‘อายุน้อยร้อยโรค’ กันมาบ้าง จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและไม่ดูแลสุขภาพ ทำให้เดี๋ยวนี้วัยรุ่นก็เริ่มที่จะเจ็บออด ๆ แอด ๆ ลุกก็โอย นั่งก็โอย เป็น #ทีมปวดหลัง ตั้งแต่อายุยังน้อยแข่งกับคนวัยทำงาน สัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้หากเกิดขึ้นแล้วเราไม่ควรมองข้ามเด็ดขาดเลยนะคะ  

 

ถ้าน้อง ๆ เคยกังวลจนต้องนั่งเสิร์ชหาว่า ‘กินอะไรแล้วจะบำรุงสมอง’ หรือว่า ‘ทำยังไงถึงจะสุขภาพดี’ บางทีการที่เราจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสมองที่ดีตามพัฒนาการ เราไม่จำเป็นต้องกินอะไรเพิ่มเติมเลยด้วยซ้ำ แต่ให้เราพยายามกินทุกอย่างให้เป็นปกติตามเวลาของร่างกายหรือที่เราเรียกว่า ‘นาฬิกาชีวภาพ’ ให้ได้และเสริมด้วยอาหารบางชนิดก็เพียงพอ เพราะถ้าเราสำรวจนาฬิกาชีวภาพแล้ว เราจะพบว่าอวัยวะในร่างกายทำงานสัมพันธ์กับเวลาและพฤติกรรมของเรา มันส่งผลต่อกันอย่างสามัคคีทีเดียว

 


เช่น ถ้าเราไม่กินอาหารเช้า กระเพาะอาหารเราจะมีปัญหาทันทีเพราะม้ามที่รอรับพลังงานจากอาหารเช้ามาแปรเป็นเม็ดเลือดแดงก็ต้องดึงพลังงานสำรองมาใช้แทน หรือหากช่วงเที่ยง เรายังนอนอยู่ และกินผิดเวลาไปกินข้าวช่วงบ่าย ก็จะทำให้ลำไส้เล็กทำงานไม่เต็มที่ เช่นเดียวกับการนอนดึก ไม่หลับไม่นอน โต้รุ่งอ่านหนังสือประจำก็จะไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิต้านทานโรค ถุงน้ำดี และตับที่ส่งผลต่อฮอร์โมน การย่อยไขมัน และการขจัดสารพิษในร่างกายเสื่อม ทำให้เราป่วยง่าย ไม่สดใส เป็นสิวง่ายขึ้น และผิวหมองคล้ำแบบที่ครีมกระปุกละแสนก็ไม่สามารถเซฟเราได้เลยนะคะ

 

 

ทำให้ทันเวลา แล้วสุขภาพจะดี

เวลาต่ื่นและนอนที่เหมาะสม คือ ตื่นแต่เช้าและเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม พักผ่อนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง 

กินอาหารตรงเวลาครบ 3 มื้อ คือ มื้อเช้า 7.00-9.00 น. มื้อเที่ยง 12.00-13.00 น. และมื้อเย็น 17.00-18.00 น. (หนักเช้า เบาเที่ยง ลดเย็นสำหรับคนที่กำลังลดหุ่น) 

เวลาสลายความเครียด เวลาพักสมอง ลองให้เวลากับตัวเอง เช่น ช่วงพักเที่ยงหรือช่วงก่อนนอน ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้เราผ่อนคลาย 

เวลายืดเส้นยืดสาย คือ การที่เราขยับร่างกาย ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ 

 

เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อทำถูกเวลาก็จะยิ่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงโดยที่เราไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรมากินเพิ่มเติมให้เสียเงินเลย และนอกจากนี้เวลาในร่างกายของเราก็ยังถูกตั้งมาเพื่อให้อวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้ทำงานตามเวลาของมันอีกด้วย

 

 

03.00-05.00 น. 
เวลาของปอด 

ช่วงก่อนเช้าแบบนี้ปอดของเราจะเริ่มทำงานเต็มท่ี่ ถ้าเราต่ื่นมารับอากาศบริสุทธิ์ช่วงเวลานี้ ปอดและผิวพรรณของเราก็จะดี โดยในเวลาตี 4 หรือตี 5 เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุด ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็นมากเกินไป ช่วงเวลานี้จึงเหมาะต่อการตื่นนอนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกายเบา ๆ  เพื่อช่วยให้ปอดฟอกเลือดได้ดีขึ้น 

Tips: แต่สำหรับคนที่เป็นหวัด มีโรคทางเดินหายใจอย่างหอบหืดต้องระวัง ช่วงนี้ปอดกำลังขับของเสียอาจจะมีอาการมากเป็นพิเศษ 

 

 

05.00-07.00 น.
เวลาของลำไส้ใหญ่

ช่วงเช้า ๆ ลำไส้ใหญ่ของเราจะเริ่มบีบตัวสูง เหมาะที่จะขับถ่าย เข้าห้องน้ำไปอึ เราควรดื่มน้ำกระตุ้นระบบขับถ่าย ถ้าเลยเวลาอาจส่งผลให้อุจจาระบางส่วนตกค้างในลำไส้และดูดซึมสารพิษกลับเข้าไปในกระแสเลือด  ทำให้ผิวพรรณไม่ผ่องใส เกิดสิว และริ้วรวย แถมลงเอยด้วยปัญหาระบบขับถ่ายไม่ดี 

Tips: หากเราเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้ตื่นเช้ามาอึช่วงนี้ได้ ผิวเราจะดูใสขึ้น แถมจุดด่างดำต่าง ๆ ก็จะจางเร็วด้วยค่ะ

 

 

07.00-09.00 น. 
เวลาของกระเพาะอาหาร

ช่วงเวลาเช้าตรู่คือเวลาที่กระเพาะอาหารหลั่งกรด หลั่งน้ำย่อยออกมามากที่สุด ถ้าเราไม่กินอาหารเช้าในเวลานี้ กระเพาะอาหารจะไม่มีอาหารให้ย่อย และกรดนั้นจะไปย่อยผนังกระเพาะจนอ่อนแอหรืออักเสบได้ ทำให้เราเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคกระเพาะอาหารอื่น ๆ ดังนั้นเวลานี้คือเวลาของอาหารเช้า ! 

Tips: หากเราพยายามปรับตัวกินอาหารเช้าในเวลานี้ได้ สิ่งที่จะดีขึ้นเรื่อย ๆ คือความจำของเราจะดีขึ้น สมาธิจะดีขึ้น การตัดสินใจต่าง ๆ จะดีขึ้นมาก ๆ

 

 

09.00-11.00 น. 
เวลาของม้าม

สายหน่อย ๆ คือเวลาที่ม้ามซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือดแดงจะรับพลังงานจากอาหารที่เรากินมาแปรสภาพเป็นเม็ดเลือดแดง สร้างน้ำเหลืองและควบคุมไขมัน ซึ่งเม็ดเลือดแดงนี้สำคัญกับร่างกายของเรามาก เพราะม้ามทำหน้าที่ในการดึงเอาธาตุเหล็กจากฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดงนำมาใช้ในร่างกาย และยังทำหน้าที่เอาของเสียออกจากกระแสเลือดในรูปของน้ำปัสสาวะ ถ้าเราตื่นสายไม่ได้กินข้าวเช้า ม้ามจะดึงพลังงานสำรองอื่นมาใช้ ส่งผลให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และสมองก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ 

Tips: แต่ในทางกลับกันหากเรากินอาหารเช้า สมองจะทำงานได้ดีมากในช่วงนี้ เหมาะที่จะอ่านหนังสือหรือทำงาน ทำการบ้านที่ยาก ๆ   

 

 

11.00-13.00 น.
ช่วงเวลาของหัวใจ

ช่วงเวลาเที่ยงวันเป็นช่วงเวลาที่หัวใจของเราทำงานหนัก สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายในทุก ๆ ครั้งที่หัวใจเต้น โดยปกติแล้วหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที เลือดที่สูบฉีดไปจะผ่านการฟอกโดยปอด อุดมไปด้วยออกซิเจนและสารอาหารที่ดี หลังจากนั้นก็จะนำคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียที่ไม่จำเป็นออกไป 

Tips: เวลาเที่ยงแบบนี้เราจึงควรนั่งชิลล์ กินข้าวเที่ยง เลี่ยงความเครียด เม้าท์มอยกับเพื่อน  และอย่าคิดเรื่องงาน ทำการบ้าน หรือพยายามอ่านหนังสือวิชายาก ๆ 

 

 

13.00-15.00 น. 
เวลาของลำไส้เล็ก

เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาพบว่าลำไส้เล็กมีความสัมพันธ์กันกับสมองจนถูกเรียกว่า ‘ลำไส้คือสมองที่ 2 ของร่างกาย’ เพราะลำไส้เล็กไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิดเพื่อนำไปสร้างกรดอะมิโน เซลล์สมอง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแล้ว ลำไส้เล็กยังมีผลต่ออารมณ์อีกด้วย กล่าวคือคนที่ท้องผูกจะมีอาการทางจิตใจร่วม เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ วิตกกังวล ฉุนเฉียว กระวนกระวาย แม้แต่สมรรถภาพของต่อมใต้สมองก็จะถูกกระทบไปด้วย

Tips: หากอยากให้ลำไส้เล็กทำงานได้ดีให้งดกินอาหารช่วงนี้ และควรดื่มน้ำมาก ๆ

 

 

15.00-17.00 น. 
เวลาของกระเพาะปัสสาวะ 

ช่วงเย็น ๆ จะเป็นช่วงที่กระเพาะปัสสาวะกำจัดของเสียออกจากร่างกายในรูปแบบปัสสาวะและเหงื่อ เป็นช่วงที่เหมาะจะออกกำลังกาย เราควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ในช่วงนี้เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะกำจัดของเสียได้ง่ายขึ้น และออกกำลังกายเพื่อให้หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเพราะมีผลต่อระบบความจำ ไทรอยด์ ระบบสืบพันธุ์ และกระเพาะปัสสาวะอาจจะอักเสบได้ 

Tips: การที่ร่างกายได้ขับของเสียออกไปในรูปแบบของปัสสาวะและเหงื่อ จะช่วยให้ผิวใสสะอาดโดยไม่ต้องหาสูตรดีท็อกซ์ผิวให้เหนื่อย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินออกมาพร้อมกับเหงื่อทำให้อารมณ์ดี  

 

 

17.00-19.00 น. 
เวลาของไต 

ช่วงใกล้ค่ำไตของเราจะกรองของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ไตทำงานหนักมากจนค่าไตขึ้นสูงโดยธรรมชาติ เราจึงควรกิจกรรมเบา ๆ ที่ช่วยคลายเครียด ถ้าอ่านหนังสืออยู่ช่วงนี้ก็ควรหยุดพักบ้าง ลุกไปสูดอากาศ ดื่มน้ำ หรือยืดเหยียดเบา ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ไตทำงานได้ดีขึ้น และอย่างีบหรือนอนหลับในช่วงนี้เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก 

Tips: หากใครที่ชอบงีบในช่วงนี้หรือง่วงในช่วงเวลานี้แสดงว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องไตเสื่อม ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น และถ้าเป็นบ่อย ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกาย

 

 

19.00-21.00 น. 
เวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ

เยื่อหุ้มหัวใจเป็นส่วนที่เราไม่ค่อยสนใจดูแล แต่รู้ไหมว่าคนที่เจ็บหัวใจบ่อย ๆ อาจจะมาจากเยื่อหุ้มหัวใจทำงานไม่ดี เยื่อหุ้มหัวใจมีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจไว้ด้วยน้ำหล่อลื่นที่ทำหน้าที่ป้องกันห้องหัวใจของเราไม่ให้เสียดสีหรือกระทบกระเทือนกับอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้กับหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัวเข้าออก 

Tips: ช่วงเวลานี้เหมาะที่จะผ่อนคลายร่างกาย นั่งสมาธิให้ใจสงบ และไม่ควรทำอะไรเครียด  ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับโหมดก่อนจะเข้านอน

 

 

21.00-23.00 น. 
เวลาของระบบความร้อนของร่างกาย 

เป็นช่วงที่ระบบความร้อนของร่างกายทำงาน ด้วยการลดอุณหภูมิในร่างกายลง ทำให้ร่างกายอบอุ่นและพร้อมที่จะนอนหลับพักผ่อน และยังเป็นเวลาทำงานของระบบภูมิต้านทานโรคที่จะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอตลอดทั้งคืน 

Tips: หากเข้านอนเวลานี้ ร่างกายจะสะสมพลังงานได้เต็มที่ ส่งผลให้เป็นคนที่มีพลังงาน ทำอะไรก็คล่องแคล่ว ตื่นตอนเช้าไม่งัวเงีย 

 

 

23.00-01.00 น. 
เวลาของถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีมีหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่สร้างมาจากตับ แล้วจะมาถูกพักไว้ในถุงน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมัน แถมยังเป็นที่กักเก็บน้ำย่อยสำรองที่ออกจากตับ ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ถุงน้ำดีข้นเกินไป ไขมันจะตกตะกอนในตัวและขาดวิตามินที่จะช่วยละลายไขมัน 

Tips: จิบน้ำก่อนนอนจะช่วยให้ถุงน้ำดีทำงานดีขึ้น แต่ไม่ควรดื่มมากจนเกินไปหรือดื่มตอนตื่นขึ้นมากลางดึก ระวังโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะถามหา

 

 

01.00-03.00 น. 
เวลาของตับ 

ช่วงเวลานี้ตับของเราจะกำจัดสารพิษที่เป็นอันตราย เช่น แอมโมเนีย แอลกอฮอล์ หรือหากทำลายไม่ได้ก็จะส่งสารพิษนั้นออกไปทางระบบขับถ่าย ช่วยทำลายเม็ดเลือดที่เสื่อมสภาพและสร้างน้ำดีไปเก็บไว้ในถุงน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมัน ถ้าไม่ได้พักผ่อนในช่วงนี้จะทำให้มีสารพิษตกค้างในร่างกาย อาจส่งผลให้เป็นโรคร้ายหลายอย่างตามมา 

Tips: ถ้าเราพักผ่อนในช่วงนี้ ตับจะหลั่งสารเมลาโทนินและเอ็นดอร์ฟินออกมาช่วยฆ่าเชื้อโรค และฟื้นฟูให้ผิวสดใส

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

HOW TO พักผ่อนสมองให้ความจำดีด้วยวิธี Mindfulness

"นอนดึก ตื่นสาย" ชดเชยกันไม่ได้ และอย่าหาทำในช่วงสอบ

เพิ่มเวลาออฟไลน์ ลดความเครียดกับ ‘Social Media Detox’

อย่านั่งหลังงอ ! ประโยชน์ของการจัดท่าให้สง่าที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

นอนดึก ตื่นเช้า กินอะไรดีเพื่อบำรุงให้ร่างกายสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย

Comfort food อาหารลดความเครียด กินแล้วอบอุ่นใจและช่วยคลายเหงา

ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ดี ช่วยลดอาการเครียด

เทคนิคผ่อนคลายร่างกายก่อนนอน ช่วยให้หลับง่าย หลับได้ลึกขึ้น

9 อาหารช่วยเพิ่มความจำ ที่อยากแนะนำให้กินช่วงอ่านหนังสือสอบ

อ่านหนังสือไม่ได้ เอาแต่เล่นมือถือ ระวังเป็นโรค ‘สมาธิสั้นเทียม'

 

 

แหล่งข้อมูล

บริหารเวลาให้มีสุขภาพดี 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow