วันนี้ลูกหลานตัวน้อยของคุณไม่ได้เป็นเด็กเล็ก ๆ คนเก่าอีกต่อไป พวกเขาอยู่ชั้นมัธยมต้น กำลังเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวแล้ว ยิ่งบรรดาเด็ก Gen Z ของศตวรรษที่ 21 ด้วยแล้ว คำถามเกี่ยวกับตัวเขาเองคงมีมากมาย งั้นเรามาเริ่มต้นเรียนรู้พัฒนาการการเติบโตไปพร้อม ๆ กันกับพวกเขา ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง และจะต้องรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร โดยเริ่มต้นกันที่ภาพรวมกว้าง ๆ ของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กกันก่อนค่ะ
การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางร่างกายของวัยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างพวกเขา สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนมาก ๆ คือ แขนขายาว มือเท้าใหญ่ขึ้น ส่วนสูง น้ำหนัก กล้ามเนื้อ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสิ่งสำคัญที่เรามองไม่เห็นอย่างพวกต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทต่าง ๆ ที่ควบคุมเรื่องของฮอร์โมนของการเจริญเติบโต และฮอร์โมนทางเพศ ที่ทำให้เด็กชายจะเริ่มเป็นหนุ่มขึ้น นมขึ้นพาน เสียงแตก บางคนเริ่มมีหนวดขึ้น และเริ่มฝันเปียก ส่วนเด็กหญิงจะเป็นสาวขึ้น เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก และทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอวัยวะเพศจะใหญ่ขึ้น มีขนขึ้น มีกลิ่นตัว และมีสิวขึ้น
ซึ่งการพัฒนาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน อาจช้าบ้างเร็วบ้าง ถึงแม้อายุเท่ากัน แต่อาจเปลี่ยนแปลงไม่พร้อมกัน พวกเขาเริ่มจะสนใจตัวเองอย่างจริงจัง ทั้งความเปลี่ยนแปลง รวมถึงความสวยความงาม เพื่อเป็นที่ยอมรับ ดูเด่น สะดุดตา ให้คนสนใจ พวกเขาจะเครียด และกังวลใจอย่างมากหากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำเกิดเป็นข้อด้อยกว่าคนอื่น หากพ่อแม่คุยกับลูกได้ทุกเรื่อง เป็นทีมเดียวกันอยู่แล้ว ก็ควรคุยเรื่องนี้ให้เขารับรู้ไว้แต่เนิ่น ๆ ให้ลูกและคุณเรียนรู้ร่างกายของเขาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เขามีความมั่นใจว่า มันก็แค่เรื่องธรรมดาปกติกับร่างกายของเด็กทุกคน ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย
โกรธ รัก กลัว ยังคงเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ ของจิตใจเด็กวัยนี้ การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็ว ตามลักษณะไฮเปอร์ของพวกเขา อารมณ์จะปั่นป่วน เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย โกรธง่าย มีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ ขณะเดียวกันพวกเขายังคงมีความเพ้อฝันค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกที่เห็นพวกเขาใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ต คุยแชท ไลน์ คุยโทรศัพท์กับเพื่อน และโดยเฉพาะการเล่นเกม ทั้งหมดเพื่ออารมณ์และสภาพจิตใจของเขาเอง บางครั้งเราอาจเห็นพวกเขาทำตัวราวกับเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งทำตัวเป็นเด็ก ความขัดแย้งทางอารมณ์มีอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้เนื่องมาจากระบบประสาทการควบคุมอารมณ์ของเขายังเติบโตไม่เต็มที่ พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้จึงขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้สึกมั่นคง ภาวะทางอารมณ์และจิตใจ พวกเขาต้องการคำชื่นชม ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นคนดี มีประโยชน์แก่ผู้อื่น คอยช่วยฝึกให้เขาเข้าใจ และควบคุมอารมณ์ตนเองให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง หากคุณไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลให้ความสำคัญกับจิตใจของพวกเขาแล้ว พัฒนาการด้านนี้อาจทำให้พวกเขากลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว หรือมีปมดราม่าฝั่งแน่นในจิตใจไปจนกระทั่งโต
เด็กวัยนี้ ยิ่งเป็นเด็ก Gen Z ของศตวรรษที่ 21 ด้วยแล้ว คุณหมดห่วงได้เยอะ เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้าบ้าง แต่หากพวกเขาได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กเล็ก และตอนประถม ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเป็นเด็กเก่งแทบทุกคน โดยเฉพาะเรื่องของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต่าง ๆ พวกเขาเปิดกว้างทางความคิด รับฟังผู้อื่นชอบแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ชอบคิดวิเคราะห์ ให้ได้เพื่อให้ได้ข้อมูล คำตอบ อย่างมีเหตุมีผล พวกเขาพร้อมและสามารถรับผิดชอบในงาน หรือแก้ไขในเรื่องยากบางเรื่อง และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง พวกเขาชอบเก็บข้อมูลและนำเสนอความคิดเห็น ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
แต่ในช่วงวัยนี้บวกกับสังคมรอบตัว ความไฮเปอร์ของพวกเขา ทำให้ตัดสินใจเร็ว อาจขาดความยั้งคิด มีความหุนหันพลันแล่น ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ ยิ่งพวกเขามีความคิดเชิงอุดมคติสูง พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ต้องคอยเพิ่มความคิดทางมโนธรรม และจริยธรรมไว้ด้วย
เพราะความคิดที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น จากสังคมภายนอก ทำให้เพื่อนมีบทบาทสำคัญมากที่สุดของพวกเขา การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ความมั่นคงของจิตใจ เด็กหลายคนอยากเป็นจุดเด่น อยากให้มีคนรู้จักมาก ๆ พวกเขาจะใช้เวลากับเพื่อนนาน ไม่ค่อยอยากไปไหนกับทางบ้าน เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม ไอดอล ฮีโร่ยังเป็นเรื่องใหญ่ของพวกเขาที่พร้อมจะเลียนแบบ เพื่อหาต้นแบบให้กับความเป็นตัวตน อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า คุณต้องเป็นทั้งเพื่อนทั้งไอดอล แล้วคุณจะสามารถพาลูกหลาน เด็ก ๆ ของคุณไปซ้ายหรือขวาได้อย่างไม่ยากเลย สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของพัฒนาการทางสังคมของเด็กวัยนี้ คือมีทักษะสังคมดีเลิศ การสื่อสารเจรจากับผู้อื่นโดยเฉพาะผ่านทางอินเตอร์เน็ต การทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น
อีกเรื่องที่ควรเผื่อใจไว้มาก ๆ ความสัมพันธ์การนับถือการให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่อาจน้อยลง ไม่ว่าพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่หรือครู พวกเขาอาจวิจารณ์ตรง ๆ ต่อต้านความคิด คำสั่ง เพราะพวกเขาชอบคิดว่าพวกผู้ใหญ่ล้าหลัง เห็นว่าความคิดของตนดีกว่าถูกต้องกว่า คุณต้องทำใจ และเข้าใจถึงธรรมชาติตัวตนอิสระนี้ของพวกเขา หลีกเลี่ยงการตอบโต้ ลงโทษด้วยความรุนแรงทุกชนิด ค่อยคุย ๆ ค่อยเติมความคิดที่ถูกต้องให้เขา ค่อย ๆ ให้เขาพัฒนาควบคุมความคิดของตัวเองได้เต็มที่สมบูรณ์ เพราะยังไงก็ตามพวกเขาชอบช่วยเหลือผู้อื่น คนที่อ่อนแอกว่า ต้องการเป็นคนดี คนสมบูรณ์แบบ และเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก https://med.mahidol.ac.th, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://new.camri.go.th, https://pantip.com/forum/family