ทักษะเริ่มต้นในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือ 'ความเห็นใจ’ หรือ 'sympathy’ หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น แต่จะไม่ลงลึกไปถึงก้นบึ้งของความรู้สึกของคนนั้น ขณะที่ ‘ความร่วมรู้สึก’ หรือ ‘empathy’ คือความสามารถที่จะเข้าใจ เข้าถึง จนสามารถร่วมรู้สึกในประสบการณ์ของคนอื่นได้ มันคือการเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อดำดิ่งลงสู่เบื้องลึกแห่งความรู้สึกของคนอื่น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ถ้าเพื่อนโดนมีดบาดนิ้ว sympathy คือการเข้าใจและรับรู้ว่าเขาเจ็บ แต่ empathy คือเจ็บเหมือนเราโดนบาดไปด้วย
เมื่อดูเผิน ๆ ทั้ง sympathy และ empathy เหมือนจะเป็นอะไรที่สามัญและไม่มีพิษมีภัยอะไร ซึ่งในตัวมันเองอาจเป็นเช่นนั้น แต่วิธีการปฏิบัติของเรากับคนอื่นนี่ซิที่อาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์กับทั้งตัวเราและคนอื่น การตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถของตัวเองและวิธีการใช้ทักษะเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงก่อนจะกระโดดเข้าไปช่วยคนอื่น เพราะถ้าเข้าไปอย่างไม่ลืมหูลืมตาแทนที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นอาจทำให้เขาจมดิ่งลงไปอีก หรือจมลงไปด้วยกันทั้งคู่เลยก็ได้ ฉะนั้นเรามาเริ่มกันที่ sympathy ก่อนเลยว่าถ้าใช้อย่างไม่ระวังจะเกิดผลเสียอะไรได้บ้าง
นึกแต่สงสารแบบเวทนา - ด้วยการที่ sympathy ยังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถร่วมรู้สึกไปกับคนอื่นอย่างถึงรากลึกจึงอาจทำให้ระยะห่างระหว่างเรากับผู้อื่นมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่แยกเราออกจากกันอยู่ ทำให้ความรู้สึกของเราไม่ตรงกันหรือยืนอยู่กันคนละจุด การที่เราไม่ได้ยืนบนจุดเดียวกันกับเพื่อนที่กำลังทุกข์อยู่อาจทำให้เราได้แค่ 'สงสาร’ เขามากกว่าที่จะพยายามเข้าใจถึงความรู้สึกของเขาให้มากกว่านี้
คำพูดที่ผิดที่ผิดทาง – สิ่งที่น่ากลัวที่อาจตามมาหลังเกิดความรู้สึกสงสารคือความรู้สึกอยากหาทางออกให้เพื่อนแต่อาจไม่ทันคิดว่าคำพูดบางอย่างหรือคำแนะนำในบางครั้งอาจแฝงไปด้วยคำตัดสินที่ไปซ้ำเติมจิตใจคนอื่นได้ เช่น ในกรณีที่เพื่อนอกหักก็ดันไปพูดว่า "คราวหน้าก็เลือกคนดี ๆ หน่อยแล้วกัน” หรือเมื่อเพื่อนได้ผลสอบออกมาไม่ดีกลับไปให้คำแนะนำทำนองว่า "คราวหน้าก็ตั้งใจเรียนแล้วอ่านหนังสือให้มากขึ้นนะ สู้ๆ”
ที่สำคัญคือกรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่มีทักษะทั้งระดับ sympathy หรือ empathy เช่น กรณีเหยื่อผู้เยาว์ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้ผู้ปกครองจะมี empathy ร่วมรู้สึกเจ็บปวดไปกับลูก ถึงขนาดอยากย้อนเวลากลับไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจนพลั้งปากพูดไปว่า "บอกแล้วว่าอย่าไปเที่ยวดึก ทำไมไม่ฟังที่พ่อแม่เตือนตั้งแต่แรก” กลายเป็นว่า empathy ที่มีให้ลูกกลับนำไปสู่การกล่าวโทษเหยื่อหรือ victim blaming แทน
ตัดบทเศร้าเพราะเข้าไม่ถึงจริง ๆ - เพราะ sympathy ยังไม่ถึงขั้นที่เราร่วมรู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นได้ ทำให้บางทีแม้ว่าทางกายเราจะอยู่เคียงข้างเพื่อนเสมอแต่ทางความรู้สึกเราไม่ได้อยู่กับเขาเลย การที่เราไม่ได้ร่วมรู้สึกถึงความทุกข์ใจของเพื่อนอาจทำให้เรารีบ ๆ แสดงความเห็นใจแล้วตัดบทเศร้าของเพื่อนไปดื้อ ๆ เช่น "เออ เราเห็นใจแกนะ แต่เลิกเศร้าได้แล้ว ไปหาอะไรอร่อย ๆ กินแก้เศร้ากันดีกว่า" การโดนตัดบทแบบนี้แทนที่เพื่อนจะได้ระบายความทุกข์และรู้ว่ามีคนคอยอยู่ข้าง ๆ ก็อาจกลับรู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิมได้
แม้ empathy จะเป็นทักษะที่ช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกคนอื่นได้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลดีเสมอไป คือเหมือนกับ sympathy ตรงที่ผลลัพธ์นั้นขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิบัติกับผู้อื่น เพราะแม้จะหยั่งลึกถึงจิตใจความรู้สึกคนอื่นได้มากเท่าไหร่ เราก็อาจเผลอทำอะไรที่ไปซ้ำเติมความรู้สึกผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน
• เอาใจเขามาใส่ใจเรา จนกลายเป็นเราอย่างเดียวไม่มีเขา – ด้วยความสามารถในการเข้าถึงความรู้สึกของคนอื่นได้อย่างลุ่มลึกจนความรู้สึกของคนอื่นแทบกลายมาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าคนอื่นจะระบายอะไรมาเราก็คลิ๊กไปด้วยซะหมด จนบางทีอาจอดกลั้นที่จะแชร์ประสบการณ์ของตัวเองไม่อยู่ ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่าแทนที่เพื่อนจะได้ระบายความทุกข์ให้ฟัง กลับต้องมานั่งฟังเราเล่านิยายชีวิตของเราเองโดยตัวละครที่เรียกว่า 'เพื่อน' หายไปจากบทสนทนาอย่างสิ้นเชิง
• จริยธรรมที่ขัดขาตัวเอง – ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึก empathy จะเกิดขึ้นตอนที่เราได้ร่วมแชร์ความรู้สึกกับใครสักคนที่อยู่ตรงหน้า (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) คือเป็นบุคคลที่เราเห็นหน้าคร่าตา ระบุตัวได้ หรือรู้จักเป็นการส่วนตัว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุที่มีผู้คนมากมายต้องการ empathy จากเราพร้อม ๆ กัน เรามักจะเลือกส่งผ่าน empathy ให้กับคนที่เราสามารถระบุตัวได้มากกว่า
ตัวอย่างการศึกษาของนักจิตวิทยาคือ การเล่าเรื่องว่ามีเด็กชื่อเชอร์รี่ ซัมเมอร์คนหนึ่งป่วยเป็นโรคร้าย มีวิธีรักษาที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยให้เด็กคนนี้ได้ ปัญหาคือต้องรอคิวยาวอีกหลายสัปดาห์ เมื่อถามผู้ร่วมตอบแบบสอบถามว่าจะเลื่อนคิวให้เชอร์รี่หรือไม่ ก็พบว่ามีจำนวนคน 3 ใน 4 จากทั้งหมดที่ตอบว่าจะเลื่อนคิวให้เชอร์รี่
แม้ว่าการให้เลื่อนคิวนี้จะเป็นผลมาจากความหวังดีหรือความรู้สึกแบบ empathy แต่ถ้าเป็นสถานการณ์จริงก็เท่ากับว่ามีคนอื่นที่ต้องถูกแซงคิวโดยที่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้เลยว่าคนอื่นก็อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนเหมือนกัน นี่คือจริยธรรมที่ขัดขาตัวเองจากแนวโน้มการส่งผ่าน empathy กับบุคคลที่เราสามารถระบุตัวตนได้ชัดเจนมากกว่า หรือที่เรียกกันว่า 'ผลข้างเคียงจากความสามารถในการระบุตัวผู้รับเคราะห์ได้’ (identifiable victim effect)
• Bias Empathy จากความสนิทชิดใกล้ - ต่อเนื่องจากกรณี identifiable victim effect ถ้าเราสนิทสนมกับใครเรามักจะมอบความรู้สึกแบบ empathy กับคน ๆ นั้นมากกว่าคนที่เราไม่สนิทหรือไม่รู้จัก ในกรณีที่คนสนิทเรากระทบกระทั่งกับคนที่เราไม่รู้จัก ถ้าขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนความรู้สึก empathy นี้อาจนำไปสู่ความลำเอียงได้ (bias empathy) และด้วยความสามารถในการร่วมรู้ที่สูงของ empathy ก็อาจอินจนหัวร้อนแล้วปกป้อง 'คนของเรา' ด้วยการไปทำร้าย 'คนอื่น' ที่เราไม่รู้จักได้
• Empathy แบบล้นเกินอาจนำภัยมาถึงตัว – ความรู้สึกแบบ empathy อย่างไม่ลืมหูลืมตาอาจทำให้เราทุ่มเทแรงกายแรงใจหรือในบางครั้งคือแรงเงินเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจร่างกายและสถานะของผู้อื่นอย่างขาดการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะมีต่อตัวเอง มิหนำซ้ำก็อาจเปิดช่องทางให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีมาเอารัดเอาเปรียบหรือยุยงเราได้ เช่น กรณีที่มิจฉาชีพที่สร้างเรื่องเปิดรับบริจาคโดยมีเหยื่อเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่มี empathy สูง
• ไฟแห่ง Empathy ที่มอดดับลง – การที่เราโดดเข้าไปในบ่อแห่งความรู้สึกของคนอื่นแน่นอนว่าต้องใช้แรงกายแรงใจมหาศาล ยิ่งก้นบ่อลึก ๆ แล้วเลือกดำดิ่งลงไปจนแตะก้นบ่อก็ยิ่งเหนื่อยล้ามาก ถ้าเราเปิดโหมด empathy อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ชาร์จแบตเลยก็เสี่ยงมากที่จะ burnout หรือหมดไฟที่จะแคร์คนอื่นอีกต่อไป และอาจกลายเป็นคนเย็นชาซึ่งเป็นคนละขั้วกับ empathy เลยก็ได้
เมื่อเราเล็งเห็นถึงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของ empathy และพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าผลลัพธ์จะออกมาหมู่หรือจ่าขึ้นอยู่กับการปฏิบัติเป็นสำคัญ ดังนั้นเราจึงอยากเสนอเทคนิคการส่งต่อ empathy เบื้องต้นง่าย ๆ มาให้ลองฝึกฝนกันดังนี้
• เคลียร์ที่ให้โล่ง – เมื่อ empathy คือความร่วมรู้สึกถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น เราจึงควรเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นได้ระบายอารมณ์ออกมาในทุกรูปแบบ (ที่ไม่เป็นภัยต่อร่างกายและทรัพย์สินของตัวเขาเองหรือคนอื่น) เช่น ถ้าเขาอยากร้องไห้ก็ให้ร้องออกมาเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องไปลูบหลังแล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรแล้ว เลิกร้องไห้ได้แล้ว” เพราะขณะที่เขากำลังร้องไห้อยู่นั้นแหละเป็นเวลาที่เขากำลังบำบัดความทุกข์อยู่ ฉะนั้นอย่าไปขัดเขา
• อยู่เคียงข้างและรับฟังด้วยใจจริง – การที่จะเข้าใจความรู้สึกของใครสักคนอย่างลึกซึ้งไม่ได้มาจากการที่เราเคยผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มาอย่างโชกโชน แต่มันคือการ 'ฟัง’ โดยไม่พยายามแทรกหรือขัดเพื่อแชร์ประสบการณ์และคำแนะนำของเรา เพียงแค่ 'อยู่เคียงข้าง' เขาและตั้งใจฟังเพื่อให้มั่นใจว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขาจริง ๆ เทียบกับคำพูดและคำแนะนำที่ผิดที่ผิดทาง บางทีการพูดว่า "เราไม่รู้จะพูดยังไงดี แต่เราจะอยู่เป็นเพื่อนแกตรงนี้นะ" แบบนี้ยังจะช่วยให้เขารู้สึกดีและไม่โดดเดี่ยวมากกว่าอีก
• เลี่ยงคำแนะนำ – อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคำแนะนำสามารถฉุดทุกอย่างให้แย่ลงได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ไตร่ตรองมาให้ดีก่อนก็ควรเลี่ยงที่จะให้คำแนะนำกับคนอื่น โดยเฉพาะตอนที่เขาไม่ได้ขอคำแนะนำและกำลังระบายความทุกข์ของตัวเองอยู่ แค่นี้ก็เป็นสัญญาณแล้วว่าเขาต้องการระบายความทุกข์และต้องการใครสักคนที่รับฟัง
อีกแง่มุมที่เป็นหลุมพรางของการตั้งใจมาให้คำแนะนำเป็นการเฉพาะเลยก็คือ ลึก ๆ แล้วเราไม่ได้มาเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น แต่เรามาทำให้ตัวเองรู้สึกดีด้วยการให้คำแนะนำคนอื่นต่างหาก ซึ่งมันคือสิ่งตรงข้ามกับ empathy ที่ให้ความสำคัญกับคนอื่นไม่ใช่ตัวเราเอง
• ซึมซับเรื่องราว – ระหว่างและหลังจากที่ตั้งใจฟังคนอื่นแล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการซึมซับเรื่องราวของเขาเพื่อให้เราได้เข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้ประสบการณ์ตัวเองที่ใกล้เคียงมาช่วยกลั่นกรอง แต่ถ้าเรื่องที่คนอื่นเล่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเราก็ถึงคราวที่จะต้องใช้จินตนาการคิดตามเพื่อที่จะซึบซับเรื่องราวและเข้าใจคนอื่นให้ได้มากที่สุด
แม้ผลลัพธ์จากการปฏิบัติกับคนหนึ่งจะออกมาดีแต่ก็ใช่ว่าจะดีกับอีกคนหนึ่ง เพราะ empathy เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ดังนั้นถ้าอยากมีทักษะด้าน empathy ที่ดีขึ้น การฝึกฝนให้พร้อมรับมือกับกลุ่มคนที่หลากหลายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยเรามีวิธีอัปเลเวล empathy มาให้ลองนำไปฝึกกันดังนี้
• สำรวจอารมณ์ตัวเอง – ชีวิตภายใต้โลกทุนนิยมที่หมุนเร็วด่วนจี๋บางทีก็ทำให้เราไม่ได้สำรวจอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น ความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ดังนั้นการสำรวจและทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองก็จะช่วยให้เราสามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่คนอื่นมีอารมณ์ความรู้สึกคล้ายกับเรา
• ใช้เวลากับคนที่หลากหลาย – วิธีนี้จะช่วยให้เราเห็นลักษณะนิสัยที่หลากหลาย ยิ่งถ้าพบปะผู้อื่นในกิจกรรมที่ต้องใช้ทีมเวิร์กก็จะช่วยให้เราปรับจูนพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เข้ากับคนอื่นได้ เป็นอีกทางที่จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น
• ศึกษาอารมณ์จากตัวละคร – การตั้งใจดูหนังหรืออ่านนิยายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลายจะพาเราไปรู้จักมิติต่าง ๆ ของอารมณ์ความรู้สึกได้มากยิ่งขึ้น ให้ฟีลเหมือนการไปพบปะกับผู้คนที่หลากหลายแบบเสมือนจริง
ถ้าลองนึกภาพการฝึกฝนและการแสดง empathy ภาคปฏิบัติจะเห็นว่าเราไม่ได้ไปบุกป่าลุยฝนแต่อย่างใด แต่บอกได้เลยว่าการตั้งใจฟัง กลั้นใจไม่พูดแทรก ไตร่ตรองคำพูดที่จะหลุดออกจากปากเรา จินตนาการและซึมซับความรู้สึกของคนอื่น แค่นี้ก็เล่นเอาหอบได้อยู่เหมือนกัน แล้วถ้าต้องแสดง empathy อยู่บ่อย ๆ หรือกระทั่งเป็นอาชีพของเราที่จะต้องใช้ empathy อยู่ทุกวัน แน่นอนว่ามันอาจทำให้ burnout ได้
การที่ใครสักคนมีทักษะด้าน empathy อยู่แล้วใช่ว่ามันจะดำรงคงอยู่ตลอดไป เพราะโอกาสที่จะ burnout อย่างที่กล่าวไปนี่แหละที่อาจทำให้ความสามารถในการเอาใจเขามาใส่ใจเราและพลังในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของเราหมดลง แล้วเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนนิ่งเฉยและเย็นชาต่อความรู้สึกของคนอื่นได้ ลองคิดตามว่าถ้าทุกคนต่างหมด empathy สังคมจะน่าหดหู่ขนาดไหน ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีการชาร์จแบตหลังเผชิญกับความเหนื่อยล้าจากการแสดงความร่วมรู้สึกกับคนอื่นหรือ ‘empathy fatigue’ ก็สุดแสนจะเรียบง่าย แต่บางทีก็ทำยากเพราะมันขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่ในชีวิตของแต่ละคน อย่างไรก็ตามเมื่อใดที่มีโอกาสก็ลองมาชาร์จแบต empathy กันสักหน่อย
เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการออกกำลังกายระดับปานกลางเพราะมันจะช่วยกระตุ้นสารเอ็นดอร์ฟิน (endorphins) ออกมาซึ่งจะช่วยลดความเครียดลงได้ ควบคู่ไปกับการทานอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและบี เป็นต้น และควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการพักหรือปิดโหมด empathy ชั่วคราวเมื่อกลับมาใช้เวลาส่วนตัว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างขอบเขตไม่ให้ความรู้สึกร่วมโดยเฉพาะความทุกข์ที่เราซึมซับมาจากคนอื่นมากลืนกินพื้นที่หรือเวลาทั้งหมดในชีวิตของเราเอง
เมื่อมีเวลาเหลือก็อาจสละเวลาสักเล็กน้อยมาฝึกควบคุมสติหรือ mindfulness ผ่านกิจกรรมโยคะ หรือนั่งสมาธิที่บ้านง่าย ๆ หรือจะเลือกทำงานอดิเรกที่ชอบก็ได้ และอีกอย่างที่จะช่วยให้เราชาร์จแบตได้เต็มมากยิ่งขึ้นคือการใช้เวลากับคนที่เรารัก
แนวทางการนำ empathy ไปใช้ในภาคปฎิบัติ ข้อพึงระวังในการใช้ และวิธีการอัปเลเวลทักษะ empathy ที่ว่ามาทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการฝึกฝนและนำไปใช้เป็นยารักษาความทุกข์ของคนรอบข้างในชีวิตจริงได้ไม่มากก็น้อย แต่ความทุกข์ที่มีสเกลใหญ่กว่าเรื่องส่วนตัวอย่างความทุกข์จากปัญหาทางสังคมละ เราจะทำยังไงกับมันได้บ้าง empathy ที่มีลักษณะการร่วมรู้สึกไปกับคนอื่นอย่างเดียวโดยปราศจากมิติของการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอจะเพียงพอกับการเป็นยารักษาความทุกข์ขนาดใหญ่แบบนี้ไหม คำถามเหล่านี้จะได้รับการคลี่ปมกันในตอนหน้าที่เราจะพาไปรู้กับคำว่า compassion และ solidarity
บทความที่เกี่ยวข้อง
Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์
Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา
เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?
การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
“อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ
ทำไมคน Gen Z ถึงไม่มีศาสนามากขึ้น
ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้
เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน
3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์
4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ
รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่
ครูตีนักเรียนได้ไหม ? ตอบเลยว่าไม่ได้นะ หมดยุคไม้เรียวสร้างคนแล้ว
แหล่งข้อมูล
Empathy vs. Sympathy: What’s the Difference?
Sympathy and Empathy – Do You Really Know the Difference?
The surprising downsides of empathy
Turn Empathy Into Compassion Without the Empathic Distress
Don’t confuse solidarity with empathy!
What is solidarity? During coronavirus and always, it’s more than ‘we’re all in this together’
How Do We Actually Build Solidarity?
Five ways to build solidarity across our differences