*มีเฉลยท้ายบทความ
ให้เราเลือกกินของโปรดอย่างเค้ก ชานมได้ตามใจชอบ
แต่มีเงื่อนไขว่าหากกินทันทีจะกินได้แค่ 1 อย่าง
แต่ถ้ารอ 5 นาที จะได้กินทั้ง 2 อย่าง เราจะเลือกอะไร ?
ในทางจิตวิทยามีการจำแนกการตัดสินใจไว้ 2 แบบ ได้แก่ การใช้สมองหรือ Thinking คือการตัดสินใจบนพื้นฐานของการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลตามตรรกะ ส่วนแบบที่สองคือ การใช้หัวใจหรือ Feeling การตัดสินใจด้วยการใช้อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคำแนะนำของคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่มักจะแนะนำเสมอว่า ‘Listen to your heart’ หรือฟังเสียงหัวใจตัวเองซิคะ เดินตามเสียงหัวใจไปแล้วจะไม่ผิดหวัง… แต่มันเป็นคำแนะนำที่ดีจริงเหรอ ? เมื่อย้อนกลับไปทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยตัดสินใจด้วยการใช้หัวใจ เรากลับพบว่ามันลงเอยด้วยน้ำตาทุกที
แต่เดี๋ยวก่อน การใช้หัวใจก็อาจไม่ได้แย่ขนาดนั้น ในบางครั้งการตัดสินใจด้วยหัวใจก็อาจทำให้เรามีความสุขมากกว่าการตัดสินใจด้วยสมอง แต่การตัดสินใจด้วยความรู้สึกมากกว่าเหตุผลมักจะเวิร์กในช่วงแรก ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ การคบเพื่อน เราตัดสินใจคบกับคน ๆ หนึ่งเพราะเขาทำให้เรารู้สึกมีความสุขด้วยความรู้สึกเหมือนมีผีเสื้อบินวนอยู่ในท้อง เราจึงตัดสินใจคบกับเขา แต่หลังจากนั้นเมื่อต้องคบหากันเป็นคู่รักอย่างจริงจัง เรากลับพบว่าหลาย ๆ ครั้งเราใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก เช่น เมื่อแฟนไม่ตอบไลน์ เมื่อต้องซื้อของขวัญให้ เมื่อต้องพาไปเลี้ยงข้าว หรือเมื่อต้องเลือกมหา’ลัย การวางแผนอนาคตอันใกล้ไปด้วยกัน แล้วสรุปเราควรใช้อะไรถึงจะดีที่สุด หัวใจหรือสมอง ?
พระไพศาล วิสาโล ได้บอกเอาไว้ในเรื่องการใช้เหตุผลหรือความรู้สึกในการใช้ชีวิตได้อย่างน่าสนใจว่า ‘คำตอบคือใช้ทั้งสมองและหัวใจ’ แต่บ่อยครั้งคนเรามักจะตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกมากกว่าหากมีของโปรดมาตั้งอยู่ตรงหน้า เช่น เรามักจะกินเค้กเมื่อเจอมันโดยบังเอิญในตู้เย็นทันที แม้จะรู้ว่าตัวเองกำลังลดน้ำหนัก หรือว่าซื้อของที่อยากได้เมื่อลดราคาทันที แม้จะรู้ว่าต้องเอาเงินในอนาคตมาใช้ แต่ถ้าไม่มีอะไรมายั่วต่อหน้า เราถึงจะใช้เหตุผลเป็นเกณฑ์ในการตัดสินมากกว่าความรู้สึก ซึ่งเราต้องระวังตรงนี้ให้มาก ๆ เพราะการรอไม่ได้ อยากได้หรืออยากเสพไว ๆ บวกกับการขาดสตินี่แหละที่จะทำให้เราพลาด ดังนั้นหากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีแนวโน้มจะใช้ความรู้สึกตัดสินใจมากกว่าก็ให้เราใช้เหตุผลมากำกับด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนที่ยังอยู่อีกไกลหรือยังไม่เกิดขึ้น เราก็ควรค่อย ๆ คิดคือใช้เหตุผลตัดสินใจและใช้ความรู้สึกกำกับร่วมด้วย บวกกับใช้สติเข้ามาช่วยอีกแรงก็น่าจะเป็นการฝึกตัดสินใจที่ดี
อย่าเป็นคนที่ใช้สมองเยอะ แต่เมื่อจะลงมือทำจริง ๆ กลับเลือกที่จะเอนเอียงไปทางความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น วางแผนจะอ่านหนังสือเตรียมสอบเอาไว้แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเริ่มทำกลับบ่ายเบี่ยงเพราะความรู้สึกขี้เกียจเข้าครอบงำ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยอมลำบากวันหน้า ดีกว่าลำบากวันนี้ ระหว่างท่องหนังสืออย่างยากลำบากในวันนี้ กับสอบไม่ติดในวันหน้า หลายคนก็ยังคงเลือกอย่างหลังเพราะความทุกข์จากการต้องนั่งอ่านหนังสือตอนนี้มันน่ากลัวมากกว่า หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ตราบใดที่อันตรายมันยังอยู่อีกไกล มันก็ดูน่ากลัวน้อยกว่า และเมื่อเวลามาถึง เราก็มักจะพบว่าคนที่ตัดสินใจแบบนั้นมักจะลงเอยด้วยการสอบไม่ติดหรือคะแนนไม่ดี เป็นต้น
จากคำถามข้างบน หากเราเลือกกินเลยทันทีแม้จะรู้ว่ากินได้ 1 อย่าง นั่นหมายความว่าเราใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ แต่ถ้าหากใครเลือกรอ 5 นาทีเพื่อจะได้กินทั้งสองอย่าง หมายความว่าคุณเป็นคนที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
เคล็ดลับการตัดสินใจให้ไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุด ไร้อาการ 'FOBO'
เทคนิคพัฒนาสมอง “ช่วยเพิ่ม IQ” เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้
ชอบตัดสินใจผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ จนเบื่อตัวเอง...แก้ยังไงดี ?
‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ วิธีบำบัดจิตใจให้ผ่อนคลายจากซีรีส์เกาหลีที่ใช้ได้จริง
20 ข้อคิดดีๆ ที่วัยรุ่นควรเก็บไว้เตือนสติตัวเองตอนอายุ 20
ความโง่ 4 แบบที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองไม่สำเร็จ
เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน
6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ
แหล่งข้อมูล
นางพญางูขาว: เราตัดสินใจด้วยหัว หรือด้วยใจ มากกว่ากัน?
Following Your Head vs. Your Heart