ทำความเข้าใจว่า Gap Year คืออะไร >> คลิก <<
แม้ว่า 'ความหวังดี’ จากผู้ปกครองจะบริสุทธิ์เพียงใด แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความหวังดีก็คือชุดความคิดเห็นอย่างหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ค่านิยม หรือแม้กระทั่งอคติบางอย่าง ซึ่งความหวังดีที่ไม่อยากให้ลูก ๆ หลาน ๆ ออกไป gap year ที่พบเห็นกันบ่อย ๆ เลยคือกลัวว่าลูกหลานจะทิ้งการเรียนไปเลย กลัวว่าถ้า gap year ไปแล้วจะตามเพื่อน ๆ ไม่ทันทั้งในเรื่องการเรียนหรือหน้าที่การทำงานในกรณีของบัณฑิตจบใหม่ ถ้าสังเกตดูเราจะพบว่าความกลัวที่ว่านี้ก่อตัวขึ้นมาจาก 'ความไม่เข้าใจ' หรืออคติที่มองว่า gap year คือการหยุดอยู่นิ่ง ๆ ความไม่เข้าใจที่ว่าทำไมต้องไปค้นหาตัวเองผ่าน gap year อีก ทั้ง ๆ ที่มีเวลาค้นหาตัวเองเป็นสิบ ๆ ปีในรั้วโรงเรียนแล้ว
อคติที่ว่า gap year คือการหยุดอยู่นิ่ง ๆ เราก็เห็นแล้วว่าถ้าวางแผนดีมีเป้าหมายชัดเจน ชีวิตระหว่าง gap year อาจมีสีสันและคุณค่ามากกว่าเร่งรีบยัดเยียดให้ลูกหลานเข้าระบบมากกว่าเป็นไหน ๆ ส่วนความไม่เข้าใจว่าทำไมลูกหลานถึงไม่ค้นพบตัวเองตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน ผู้ปกครองคงต้องถามพวกเขาดูว่าติดขัดตรงไหนมีอะไรให้ช่วยรึเปล่า ซึ่งบางทีอาจจะค้นพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวลูกหลานก็เป็นได้ มันอาจย้อนกลับไปที่ระบบการศึกษาไทยเองที่มีปัจจัยหรือกลไกอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการค้นหาตัวตนของนักเรียนนักศึกษา แนวทางการเรียนเพื่อแข่งกันสอบมันบีบคั้นให้นักเรียนนักศึกษาโฟกัสแต่การติวสอบเกินไปไหม การออกแบบหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาโดยมีธงเป็นการสอบเข้าคณะดัง ๆ มันทำให้ทางเลือกเดินของพวกเขาจำกัดจนไม่สามารถค้นพบตัวเองได้หรือไม่
ความไม่เข้าใจและอคติเหล่านี้คือกำแพงสูงชันที่ขวางกั้นการออกไป gap year ตั้งแต่แรก แม้ตัวนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการ gap year จะมีความพร้อมด้านจิตใจ เป้าหมาย แผนการ และสถานะทางการเงินก็ตาม
อีกอุปสรรคที่อาจสกัดกั้นการไป gap year คือความกลัว (ทั้งจากผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาเอง) ซึ่งแต่ละคนจะมีความกลัวความกังวลที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับเรื่อง gap year เราอาจรวบยอดรวม ๆ ได้ว่าเป็นความกลัวที่จะออกไป gap year แล้วกลับค้นหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งจะเปลืองทั้งเงินและเสียเวลาเปล่า ๆ กลัวเรื่องการใช้ภาษาในต่างแดน และอีกสารพัดความกลัว ฯลฯ
เราสามารถลดความกังวลเหล่านี้ลงได้ด้วยการวางแผนที่ดี เพราะมันจะช่วยให้การ gap year ของเราเป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ และภาพ gap year ที่ชัดเจนขึ้นนี้จะช่วยลดความไม่แน่นอนต่าง ๆ ออกไปได้ นอกจากอุปสรรคภายในจากอคติ ความไม่เข้าใจ และความกังวลต่อการ gap year แล้ว มันยังมีอุปสรรคที่ใหญ่ยิ่งกว่าที่สามารถครอบงำจังหวะการใช้ชีวิตและไปกระทบกับความสามารถในการ gap year ของเราได้
ย้อนกลับไปเรื่องค่านิยมที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกหลานของตน 'รีบ’ เข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพื่อจะได้มีที่เรียนแล้วจบการศึกษามารีบหางานเร็ว ๆ จะได้มีเวลาในการหาเงินและสะสมทรัพย์มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็น 'ค่านิยมชีวิตไร้ช่วงต่อ' เพื่อเป็นหลักประกันต่อความมั่นคงและไม่ขาดตอนในชีวิต เมื่อมองในแง่นี้ค่านิยมดังกล่าวจึงมีสายตาเชิงอคติต่อการเว้นช่วงปีหรือ gap year เพราะการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าหรือ productive ตามค่านิยมนี้คือการเร่งรีบเรียนให้จบเพื่อมาสะสมทุนเป็นฐานความมั่นคงในชีวิต
แต่อัตราเร่งนี้จะเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงในชีวิตของเราได้อย่างไรถ้าเร่งรีบไปแล้วกลับพบว่าไม่มีเส้นชัยอยู่ปลายทาง พูดให้ชัดคือเร่งรีบไปแต่สุดท้ายกลับพบว่าตัวเองมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นการค้นหาวิธีการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตในอนาคตก็ไม่ควรเป็นสิ่งต้องห้ามอีกต่อไป
ค่านิยมไร้ช่วงต่อที่ว่าถ้าเป็นเพียงค่านิยมธรรมดา ๆ ที่สามารถมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่แล้วจะนำไปสู่การเปิดรับการ gap year มากขึ้นก็คงจะดี แต่ปัญหาคือมันไม่ใช่แค่ค่านิยมในหัวคนแต่มันเป็นวิถีชีวิตในสังคมที่คนเราต้องมีเงินเพื่อยังชีพ กระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาในกระเป๋าของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญในระบบนี้ ถ้าขาดสภาพคล่องขึ้นมาชีพจรชีวิตอาจถึงขั้นขาดสะบั้นก็เป็นได้ ดังนั้น แม้เราจะเห็นข้อเสียของการ 'เร่งรีบ’ ภายใต้งวงล้อชีวิตแบบนี้มากเพียงใด แม้เราจะเห็นความสำคัญของการ gap year ขนาดไหน แต่สำหรับบางคนเขาไม่มีทางเลือกนอกจากจะกัดฟันวิ่งตามกงล้อนี้ต่อไป
พูดให้ชัดก็คือภายใต้รูปแบบชีวิตที่ต้องพึ่งพาตลาดเพราะตลาดเป็นศูนย์รวมของปัจจัยการยังชีพไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้ง ฯลฯ ซึ่งต้องมีเงินไปแลกมันมา การมีชีวิตอยู่รอดจึงขึ้นอยู่กับตัวเงินเป็นสำคัญ การที่คนหาเช้ากินค่ำจะขอเวลานอกไปครุ่นคิดค้นหาตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย มิหนำซ้ำสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินเราไม่ต้องพูดถึง gap year เลย เพราะเขาอาจจะต้อง year off หรือออกจากการเรียนเพื่อมาช่วยค้ำจุนครอบครัวของตัวเองก่อนด้วยซ้ำไป ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกอย่างที่ขวางกั้นการเข้าถึงโอกาสในการออกไป gap year ของคนในสังคมอีกจำนวนมาก และประโยชน์ของ gap year เองนี่แหละที่อาจเป็นส่วนทำให้สังคมเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม
ถ้าประโยชน์ทั้งหลายแหล่ของการมี gap year กระจุกตัวอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินและโอกาส มันจะทำให้กลุ่มคนในวงจำกัดสามารถค้นพบตัวเองและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่าน gap year ที่มีราคาแพงที่อีกหลายคนเข้าไม่ถึง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนที่มีโปรไฟล์สวยหรูขึ้นจากการไปเข้าร่วมโปรแกรม gap year จะมีโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ หรือได้รับเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำมากกว่า
ในแง่นี้ผลพวงทางอ้อมของการที่ gap year ช่วยตกแต่งพอร์ตให้เจิดจรัสแต่ดันกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม ขณะที่ต้องแข่งขันกันชิงตำแหน่งกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโควต้าเปิดรับนักศึกษาหรือตำแหน่งงานที่มีอย่างจำกัด มันคือการตัดโอกาสกลุ่มคนที่พอร์ตอาจไม่สวยหรูเท่าให้เข้าไม่ถึงมหาวิทยาลัยหรือที่ทำงานดี ๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าที่เรียนหรือที่ทำงานดี ๆ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมแบบนี้ได้ ดังนั้น การเข้าไม่ถึงแหล่งที่อุดมไปด้วยโอกาสทางชีวิตแบบนี้ก็เสี่ยงที่คนกลุ่มนั้นจะต้องกลับไปใช้ชีิวิตตามสถานภาพแบบเดิม หรือร้ายกว่านั้นคือถดถอยลงไปอีกจากปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่เข้ามารุมเร้าในชีวิต
ถ้า gap year สามารถทำให้คนมีโอกาสในชีวิตมากขึ้นได้จริง ๆ ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนที่ต้องการค้นหาตัวเองหรือต้องการแสวงหาโอกาสในชีวิตผ่าน gap year สามารถทำได้อย่างถ้วนหน้า
ในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เป็นพิมพ์เขียวที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทันทีทันใด แต่อยากจะชวนพวกเราทุกคนมาช่วยกันถกเถียงและคิดต่อไปว่าจะทำให้คนที่อยากจะ gap year แต่ติดโน่นติดนี่สามารถออกไปค้นหาตัวเองในรูปแบบนี้ได้อย่างไร
สำหรับหลายคนที่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ แต่ติดที่ผู้ปกครอง 'ไม่อนุญาต' ให้ออกไปค้นหาตัวเอง เราอาจจะต้องมารื้อถอนมายาคติเกี่ยวกับค่านิยมไร้ช่วงต่อกันก่อนว่าการดันทุรังให้นักเรียนนักศึกษาเร่งรีบเข้าระบบไปทั้ง ๆ ที่ใจไม่ปราถนามันไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะให้ 'ผลดี’ กับพวกเขาในท้ายที่สุด มิหนำซ้ำอาจทำให้ต้องกลับมาตั้งต้นกันใหม่ ณ จุดเริ่มต้น ซึ่งมันจะไม่เสียเวลากว่าเหรอถ้าเป็นเช่นนั้น กลับกันถ้าเราช่วยลูกหลานออกแบบ gap year ดี ๆ ให้พวกเขาได้ค้นพบตัวเองจนสามารถเลือกสาขาวิชาที่ถูกจริต ได้งานที่ตอบโจทย์ชีวิตตั้งแต่แรก หรือกระทั่งพบเจอหนทางใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งมหาวิทยาลัยหรืองานแบบเดิม ๆ (ที่ยังสุจริตอยู่) มันอาจทำให้พวกเขาถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าการเร่งรีบอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็เป็นได้
สรุปแล้วในขั้นแรกคือการปรับทัศนคติในแง่ลบของการ gap year ควรไว้ใจในตัวลูกหลานให้พวกเขาได้ลองถูกลองผิดตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาหรือน้ำตาในภายหลัง รวมถึงปรับทัศนคติด้านค่านิยมชีวิตไร้ช่วงต่อหรือการนำภาพสำเร็จของตัวผู้ปกครองไปฝากไว้กับลูกหลานของตน เพราะตัวผู้ปกครองใช่ว่าจะอยู่ค้ำฟ้ารับผิดชอบต่อทางเลือกที่ยัดเยียดให้ลูกหลานไปได้ตลอด พูดกันตรง ๆ คือสุดท้ายแล้วคนที่จะใช้ชีวิตเหล่านั้นคือตัวลูกหลานไม่ใช่ผู้ปกครอง แน่ละว่านักเรียนนักศึกษาอาจเลือกผิดบ้าง ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือเป็นที่ปรึกษา (ไม่ใช่คนคุมบังเหียน) และช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีตามแบบที่เขาต้องการให้ได้มากที่สุด
เขยิบมานอกรั้วครอบครัวสู่สถาบันการศึกษา หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาค้นหาตัวเองไม่เจอ หรือบางทีอาจไม่มีเวลาไปค้นหาตัวเองเลยด้วยซ้ำภายใต้ระบบการศึกษาในปัจจุบัน คือรูปแบบการวางลู่ทางการศึกษาโดยมีธงเป็นการสอบเข้าคณะดัง ๆ ของมหาวิทยาลัยเด่น ๆ กันตั้งแต่ ม. 4 (หรืออาจเร็วกว่านั้น) ทั้ง ๆ ที่สถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ไม่ใช่ถนนเลนเดียวอย่างหลาย ๆ ที่ในปัจจุบัน ดังนั้นนอกจากสถาบันครอบครัวแล้วสถาบันการศึกษาก็ควรเป็นอีกพื้นที่ที่ 'อนุญาต’ ให้นักเรียนนักศึกษาได้ลองผิดลองถูกเพราะตามหลักแล้วมันควรเป็นสถานที่ที่มีคนคอยช่วยพยุงคุณขึ้นมาหากสะดุดล้มลง (ย้ำว่าตามหลัก)
ดังนั้น การพัฒนา (ปฏิรูป) ระบบการศึกษาจึงเป็นอีกจุดที่ต้องให้ความสำคัญถ้าอยากให้นักเรียนนักศึกษาค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่ภายในรั้วโรงเรียน ทั้งนี้การที่จะให้นักเรียนค้นพบเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตตั้งแต่ ม. 4 อาจเร็วเกินไป แต่ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องมีระบบ บรรยากาศ หรือหลักสูตรที่เอื้อต่อการค้นหาตัวเองของนักเรียนรองรับไว้อยู่ตลอดเวลา
ส่วนในช่วงรอยต่อระหว่าง ม. 6 กำลังจะเข้าปี 1 ตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อนหน้านี้ gap year ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันสักเท่าไหร่ ปัจจุบันก็เริ่มเปิดรับและสนับสนุนกันมากขึ้น เห็นได้จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแต่อนุมัติให้นักศึกษา gap year ได้ แต่ถึงขั้นจัดโปรแกรม gap year ให้นักเรียนที่เพิ่งจบ high school หรือสอบติดในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เลื่อนการเข้าศึกษาออกไปหนึ่งปีเพื่อให้ไป gap year ด้วย หรือเรียกได้ว่าเป็นโปรแกรม 1+4 คือ gap year หนึ่งปีแล้วกลับมาเรียนตามปกติอีก 4 ปี
ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมให้ทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ใช่แค่นั่งรอให้บริษัทที่จัดโปรแกรม gap year มายื่นข้อเสนอกับทางมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว แต่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมุ่งหาพันธมิตรเพื่อจัดโปรแกรม gap year และสนับสนุนด้านเงินทุนเองด้วย
แน่ละว่าข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ยังติดกับดักความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึง gap year ได้อยู่ (หรือแม้แต่ภาคเรียนปกติ) การส่งเสริมสวัสดิการรอบด้านในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของภาพใหญ่นี้ ที่ต้องรอบด้านเพราะถ้าให้สวัสดิการเฉพาะการศึกษาแต่ขณะที่บางครอบครัวยังต้องหาเช้ากินค่ำ มันอาจทำให้เด็กคนหนึ่งต้องเลือกที่จะช่วยเหลือครอบครัวและสละสิทธิในการศึกษาไป ดังนั้น สวัสดิการรอบด้านที่ช่วยให้ประชาชนที่ขัดสนเรื่องเงินทองสามารถลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ไม่ต้องคอยมากังวลเรื่องความมั่นคงในชีวิตจนโงหัวไม่ขึ้น จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีเวลามาทบทวนและค้นหาตัวเองได้มากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
Gap Year ช่วงเวลาที่ทุกคนควรเข้าถึงได้
วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
อยากเรียนศิลปะแต่ที่บ้านไม่สนับสนุนเลย ทำยังไงดี ?
คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่
ค้นหาคำตอบของระบบการศึกษาที่ดี ผ่านสารคดีการศึกษาน่าดูจากทั่วโลก
เรียนที่ไหนก็เหมือนกันจริงเหรอ...เหมือนยังไง ? ไม่เหมือนยังไง
รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด
เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ
รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
วิธีอัปสกิลมนุษย์เป็ดให้เก่งปัง
แหล่งข้อมูล
- Gap year: ตามหาตัวตนในสังคมที่ไม่อนุญาต
- Gap Years: What Does the Research Say?
- Is gap-year volunteering a luxury for the rich?
- A Gap Year Shouldn’t Be Just For The Privileged, Especially Now
- 9 Forward-Thinking Colleges that Offer Gap Year Programs
- “Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย
- “Gap Year” พื้นที่ของการหาตัวตน (ที่ระบบการศึกษาไม่มีให้) | มาเถอะจะคุย 12 มี.ค. 64 | จอมขวัญ
- Prepare for your gap year this summer with these strategies