Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กุศโลบายและ พุทธวิธี พระพุทธเจ้าทรงเตือนสติ และสอน 2 สาวิกาผู้ทุกข์ทรมานใจเจียนตาย และเป็นบ้า จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

Posted By มหัทธโน | 01 มิ.ย. 64
23,757 Views

  Favorite

ทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเริ่มต้นแล้ว ย่อมมีการสิ้นสุด 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ที่ต้องพลัดพรากจากสิ่งของ หรือบุคคลที่รัก ความโศกย่อมเกิดขึ้น ผู้ที่ถูกความโศกครอบงำ บางคนเสียใจหนักจนเจ็บไข้หรือเสียชีวิต หรือฆ่าตัวตายก็มี จนเป็นบ้าไปก็มี บ้างก็ซึมเศร้า หงอยเหงา ดังเห็นได้จาก  เรื่องราวของนางกีสาโคตมี ผู้โศกเศร้าเพราะสูญเสียบุตรที่รัก หรือ นางปฏาจารา ที่สิ้นสติ เป็นบ้า เพราะเสียทุกคนในครอบครัวในเวลาเดียวกัน

 

การปล่อยให้ความโศกเข้าครอบงำจนขาดสติ ย่อมเกิดโทษมากมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีระงับหรือคลายความโศก

มาดูหลักการสอนของพระพุทธองค์ ที่ใช้สอนนางทั้งสอง ผู้ทุกข์ใจเจียนตายและเป็นบ้า จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่หวงกัน เพื่อนำมาใช้ในยามที่ต้องเผชิญความทุกข์จากการพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจกัน

 

เรื่องของพระกีสาโคตมีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
ผู้สูญเสียลูกอันเป็นที่รัก

นางกีสาโคตมีอุ้มศพบุตรชายที่เสียชีวิต ไปขอยาคืนชีวิตจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงมีกุศโลบาย ในการให้นางคลายโศกเศร้า และค้นพบความจริงด้วยตัวของนางเอง
 

ภาพ : เพจพระภิกษุณีในสมัยพุทธกาล
.สืบค้นจาก https://www.facebook.com/112799986745306/posts/322606825764620/

 

กุศโลบาย เตือนสติ ให้นางเรียนรู้บทเรียนนี้ด้วยตนเอง

ด้วยพระปรีชาญาณ ทรงรู้ว่า แม้จะตรัสสอน ลูกของนางตายแล้ว ไม่มียารักษาบุตรของนางได้ นางก็คงไม่เชื่อ จึงหาวิธีสอนนางได้เรียนรู้บทเรียนแห่งความเจ็บปวดครั้งนี้ด้วยตนเอง 

ด้วยการให้นางคลายโศก มามีความหวังต่อยาต่อชีวิต

 

จากนั้นให้นางไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย จนท้ายที่สุด เมื่อนางไปทุกบ้าน ก็ได้รับรู้ความจริงของชีวิต ก็สลดใจและฉุกคิดได้ว่า ทุกคนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่บุตรของตนเท่านั้นที่ตาย

 

เมื่อเห็นว่า สภาวะจิตใจของนางพร้อมรับธรรมแล้ว จึงตรัสสอนว่า

โคตมี เธอเข้าใจว่าลูกของเธอเท่านั้นหรือที่ตาย

อันความตายนั้นเป็นของธรรมดาที่มีคู่กับสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก

เพราะว่ามัจจุราชย่อมฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมด ผู้มีอัธยาศัยเต็มเปี่ยมไปด้วยกิเลสตัณหา

ให้ลงไปในมหาสมุทรคือ อบายภูมิ อันเป็นเสมือนว่าห้องน้ำใหญ่ ฉะนั้น

นางจึงบรรลุโสดาบัน และบวชเป็นภิกษุณี

ภาพ : ทรูปลูกปัญญา
สืบค้นจาก https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31311-043915


พิจารณาความไม่เที่ยงของแสงประทีป จึงบรรลุอรหัตตผล

ต่อมาพระเถรีได้ไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เห็นแสงประทีปที่จุดอยู่ลุกโพลงขึ้น แล้วหรี่ลงสลับกันไป
จึงเอาดวงประทีปนั้นเป็นอารมณ์ กรรมฐานว่า
สัตว์โลกก็เหมือนกับแสนประทีปนี้ มีเกิดขึ้นและดับไป
แต่ผู้ถึงพระนิพพานไม่เป็นอย่างนั้น

 

ขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่านางกำลังยึดเอาเปลวดวงประทีปเป็นอารมณ์กรรมฐานอยู่นั้น จึงทรงแผ่พระรัศมีไปปรากฏ แล้วตรัสว่า:-

อย่างนั้นแหละโคตมี

สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนเปลวดวงประทีปนี้
แต่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่ปรากฏอย่างนั้น

ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะเดียวของผู้เห็นพระนิพพาน ย่อมประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพานนั้น

 

เมื่อสิ้นสุดพระพุทธดำรัส นางก็ได้บรรลุพระอรหัตผล และได้รับยกย่องเป็นเอกทัตคะ ด้านผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

คือ ดำรงตนเป็นพระเถรีผู้เคร่งครัดในการใช้สอยบริหาร ยินดีเฉพาะผ้าไตรจีวรที่มีสีปอน ๆ และเศร้าหมอง

*********************************************************

"พระปฏาจาราเถรี" เอตทัคคมหาเถรีเลิศทางผู้ทรงวินัย
ภิกษุณีผู้ทุกข์ทรมานมากที่สุด กับการพลัดพราก

นางปฏาจารา เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี เป็นหญิงรูปร่างงดงามและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ครั้นนางมีอายุได้ 16 ปี ได้หลงรักชายคนใช้ในบ้านของตนเอง จึงหนีไปอยู่ถิ่นทุรกันดาร ต่อมาตั้งครรภ์ ครั้นถึงเวลาใกล้คลอด ขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา ตามประเพณีโบราณของชาวอินเดียที่มักจะคลอดบุตรที่สกุลเดิมของตน

แต่สามีปฏิเสธคำขอร้อง เพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะเอาโทษ นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง และคลอดบุตรคนแรกในระหว่างทาง เมื่อสามีตามไปพบ และพานางกลับบ้าน


ต่อมา นางได้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สอง และได้ขอร้องสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้นอีก นางจึงพาบุตรน้อยผู้กำลังหัดเดินหนีออกจากบ้าน ระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรง จะคลอดบุตร ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก สามีตามไปพบ จึงไปตัดไม้เพื่อนำมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่ถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตาย

 

นางปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก แล้วอุ้มทารกและจูงบุตรน้อยตามไปพบศพของสามี จึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ตัดสินใจจะพาบุตรไปหาบิดามารดาในเมือง

เมื่อมาถึงลำธารใหญ่ไหลเชี่ยว นางไม่อาจจะพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่ง แล้วอุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง และวางทารกน้อยไว้ที่อันเหมาะสม

 

ขณะเดินข้ามน้ำมาถึงกลางน้ำ เพื่อรับบุตรคนโต นางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารก เพราะเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ นางจึงยกมือขึ้นไล่เหยี่ยว แต่ไม่อาจช่วยชีวิตทารกน้อยได้

 

ขณะนั้น บุตรคนโตมองเห็นนางยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ก็เข้าใจว่ามารดาเรียก จึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวและถูกน้ำพัดพาหายไป

 

นางปฏาจาราได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กัน แต่นางยังตั้งสติได้ เดินร้องไห้เข้าไปสู่เมืองสาวัตถี และได้ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งในระหว่างทางว่า ลมและฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลาย และทั้งบิดามารดานางก็ตายไปด้วย

       

ครั้นเมื่อนางทราบช่าวเช่นนี้ ก็ไม่อาจตั้งสติได้ ขาดสติจนเป็นบ้า

ภาพ : เพจสายธารแห่งธรรม
สืบค้นจาก https://www.facebook.com/cumluckdhamma/photos/a.606327012771504/808310592573144/?type=3


พุทธวิธีการสอนให้เห็นถึงสัจธรรม ด้วยการเรียกให้นางคืนสติ ปรับจิตใจให้คลายโศกเศร้าและสอนสัจธรรมในชีวิต

เมื่อนางเสียใจจนขาดสติ เป็นบ้า สลัดผ้านุ่งทิ้ง แล้ววิ่งบ่นเพ้อ เข้าไปวัดพระเชตวันมหาวิหาร ในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ผู้คนต่างขับไล่ว่า คนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา แต่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้นางเข้ามา

 

พระพุทธองค์เริ่มต้นด้วยการเรียกสตินางคืนกลับมา ตรัสว่า

"จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง."

นางจึงกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพ เกิดหิริโอตตัปปะอายที่ไม่ได้นุ่งเสื้อผ้า มีบุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นางนุ่ง 
 

เมื่อนางได้สติแล้ว ต่อมา พระพุทธองค์ได้ตรัสให้นางคลายโศกว่า:-

แม่น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตา ของคนที่ถูกความทุกข์ความเศร้าโศกครอบงำ

ปฏาจารา เพราะเหตุไร เธอจึงยังประมาทอยู่

 

ปฏาจารา ฟังพระดำรัสนี้แล้ว ก็คลายความเศร้าโศกลง

พระบรมศาสดาทรงทราบว่านาง หายจากความเศร้าโศกลงแล้ว

 

สภาวะจิตใจพร้อมจะรับธรรมะแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า:-

ปฎาจารา ขึ้นชื่อว่า บุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทานหรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้

บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ ก็เหมือนไม่มี

ส่วนผู้รู้ทั้งหลาย รักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น

 

เมื่อได้ฟังดังนั้น นางปฏาจาราจึงบรรลุพระโสดาบัน อุปสมบทเป็นภิกษุณีมุ่งบำเพ็ญเพียร

 

ภาพ : เพจทางสายกลาง
สืบค้นจาก https://www.facebook.com/386775628006325/photos/a.386919681325253.111839.386775628006325/466957026654851/


เห็นความเสื่อมแห่งขันธ์ทั้ง 5 จึงบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

วันหนึ่งภิกษณี ปฏาจาราเอาหม้อน้ำตักล้างเท้า เทน้ำลงไป น้ำไหลไปได้หน่อยหนึ่งแล้วขาด จึงเทลงครั้งที่ 2 น้ำได้ไหลไปไกลกว่าเดิม เทน้ำครั้งที่ 3 น้ำไหลไปไกลกว่าครั้งที่ 2

นางถือเอาน้ำนั้นเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง 3 คือ สัตว์เหล่านี้

ตายเสียในปฐมวัย (แต่ยังเด็ก) ก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก,
ตายเสียในมัชฌิมวัย (วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน) ก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น,
ตายเสียในปัจฉิมวัย (วัยชรา) ก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น.

               

พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปเป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสสอนพระเถรีว่า

ปฏาจารา ข้อนั้นอย่างนั้น ด้วยว่า

ความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม แห่งปัญจขันธ์ (ขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เหล่านั้น

ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์

   

จึงเข้าใจในหลักธรรมและบรรลุอรหันตผลและเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระปฏาจาราเถรีมีความชำนาญในพระวินัยมากจนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงพระวินัย และพระปฏาจาราเถรีได้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
       
ซึ่งการที่นางได้ผ่านพ้นจุดสำคัญในชีวิต ต่อมานางได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พุทธศาสนา ด้วยเป็นผู้แนะแนวชีวิตที่ดี จากชีวิตที่มากด้วยประสบการณ์ได้ผ่านมาทั้งความสุข ความสมหวัง และความทุกข์ความผิดหวังอย่างสาหัสจนเกือบกลายเป็นคนบ้าเสียสติถาวร
       
เมื่อนางได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตแห่งชีวิตเข้ามาสู่ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาแล้วประสบการณ์เหล่านั้นกลับเป็นประโยชน์แก่นางและคนอื่น คือสตรีอื่น ๆ ที่มีปัญหาชีวิตพากันมาขอคำแนะนำ นางได้ให้คำแนะนำที่ดี และช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาเหล่านั้น จนกระทั่งได้รับยกย่องว่า “เป็นครูยิ่งใหญ่” ของพวกเขา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow