ชีวิตการเรียนที่คิวแน่นแบบนี้บวกกับวิถีการเรียนเพื่อไปสอบอาจทำให้วิชาความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมาค่อย ๆ ละลายหายไปทันทีหลังสอบเสร็จ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการสอบให้ผ่าน ๆ ไปโดยที่ไม่ได้ชอบวิชานั้นอยู่แล้ว บวกกับการไม่มีเวลามานั่งสังเคราะห์และตกผลึกในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ก็เสี่ยงมากที่ในเวลาต่อมาเราจะพูดว่า "คืนครูไปหมดแล้ว"
การมีเวลาเพื่อไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาหรือครุ่นคิดในสิ่งที่ยังขาดหายไป เพื่อตอบตัวเองว่าเราต้องการจะทำอะไรกับความรู้ที่ได้มา หรือจริง ๆ แล้วต้องการค้นหาตัวเองในเส้นทางใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งบางทีระบบการศึกษาไทยอาจไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ การปลีกตัวออกมาหาประสบการณ์รูปแบบใหม่ผ่าน gap year จึงเป็นอีกหนทางในการค้นหาตัวเอง แต่ใช่ว่าทุกคนจะ gap year กันได้อย่างถ้วนหน้าเพราะมีปัญหาด้านอคติและความเหลื่อมล้ำที่เป็นขวากหนามสำคัญอยู่ ทั้งนี้ ก่อนจะไปถึงข้อนั้นเราลองมาดูกันก่อนว่า gap year มันคืออะไร น่าสนใจอย่างไร แล้วถ้ามันดีจริงเราลองมาช่วยกันคิดว่าจะให้ทุกคนสามารถ gap year กันอย่างถ้วนหน้าได้อย่างไร
ด้วยการที่ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า gap year คือข้ออ้างในการหยุดอยู่เฉย ๆ เป็นปี ๆ เราจึงควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า gap year คือปีแห่งการเว้นช่วงที่มักทำกันหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษาก่อนไปหางานทำ (หรือจะเป็นช่วงอื่นก็ได้ตามสะดวก) โดยผู้ที่ทำ gap year มักจะไปหากิจกรรมที่จะช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์ความรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ท่องเที่ยวดูโลกกว้าง เข้าร่วมโครงการอาสาสมัคร ฝึกงาน หรือลงเรียนคอรส์ที่ตัวเองสนใจเพิ่มเติมก็ได้ โดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือการค้นหาตัวเองและความหมายของชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง
หากจะกล่าวถึงความเป็นมาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ gap year ก็กล่าวได้ว่า gap year เริ่มเป็นที่รู้จักกันในทศวรรษ 1960s ที่คนหนุ่มสาวรุ่น baby boomer ใคร่หาทางออกจากความรุนแรงของสงครามที่เป็นมรดกมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทำให้จุดประสงค์ดั้งเดิมของ gap year คือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศอื่น ๆ ด้วยความหวังว่าการเรียนรู้และความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นของคนต่างวัฒนธรรมจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้ผู้คนลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันอีกในอนาคต เมื่อเวลาผ่านไปพัฒนาการดังกล่าวก็นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรม รูปแบบของ gap year จึงหลากหลายครอบคลุมจริตของคนหลายกลุ่มมากขึ้น
การที่ gap year ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งไปแล้วทำให้มีการคิดค้นรูปแบบของ gap year ที่หลากหลายออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ผู้ที่ใฝ่ฝันจะเว้นช่วงปีอย่างสร้างสรรค์จึงมีทางเลือกในการใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย หลัก ๆ ก็จะมีดังต่อไปนี้
Gap year ผ่านการท่องเที่ยว – หนึ่งในทางเลือกสุดฮิตคือการท่องโลกไปพบปะผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ระหว่างการเดินทางสำรวจโลกนี้ตัวผู้เดินทางอาจพบเจอกับวิถีชีวิตที่แปลกใหม่ที่ทั้งตอบโจทย์ตัวเองและสามารถนำมาประยุกต์ใช้เมื่อกลับมาบ้านได้ แล้วถ้าเลือก gap year ในต่างประเทศก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนภาษาใหม่ ๆ และหากเลือกเข้าพักอาศัยกับคนท้องถิ่นในรูปแบบ homestay ก็เป็นโอกาสทองในการเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกของคนในประเทศนั้น ๆ อีกด้วย
Gap year ผ่านโครงการอาสาสมัคร – กิจกรรมอาสาสมัครเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็เป็นอีกกิจกรรมที่ผู้คนมักเลือกมาเติมเต็ม gap year ของตัวเอง แต่หนึ่งในเรื่องที่ควรคำนึงในการทำกิจกรรมประเภทนี้คือเวลา เพราะถ้าเป็นงานอาสาสมคัรอย่างฉาบฉวยและใช้เวลาลงพื้นที่ไม่มากพอก็อาจทำให้เราไม่เข้าใจถึงปัญหาของชุมชนได้อย่างถ่องแท้ เสี่ยงที่จะเป็นการผลิตซ้ำภาพจำผิด ๆ ต่อชุมชน และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์แทนการแก้ปัญหากันที่ต้นตอ ถ้าเป็นเช่นนั้นชุมชนก็จะกลายเป็นพื้นที่แสวงบุญเพื่อให้ผู้อาสาสมัครรู้สึกดีกับตัวเองเท่านั้น
Gap year ด้วยการทำงาน – การ gap year ในลักษณะนี้อาจแตกต่างจากการหางานทำคั่นเวลาเฉย ๆ แต่มักจะมีมิติของการได้เข้าไปสัมผัสการทำงานในสาขาที่เรากำลังสนใจอยู่ เพื่อพิสูจน์ว่าเราชอบมันจริง ๆ ไหม และถ้าชอบจริงมันจะช่วยเป็นบันไดไปสู่หน้าที่การงานที่เราหมายปองต่อไปได้
Gap year ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ทางเลือก – เป็นการลงคอร์สเรียนในสาขาวิชาที่มักจะไม่ได้เปิดสอนในระบบการศึกษาปกติ เช่น การเรียนรู้วิถีชีิวิตของชุมชนท้องถิ่น การปลูกผัก สร้างบ้านด้วยดิน มัดย้อมผ้า ฯลฯ จุดเด่นของโปรแกรมแบบนี้คือมักจะมีกลิ่นอายของการท่องเที่ยวอยู่ด้วย
Gap year ผ่านคอรส์เรียนออนไลน์/ออฟไลน์ - การลงเรียนคอรส์แบบออนไลน์หรือออฟไลน์จะช่วยให้เราได้เห็นรายละเอียดและมิติต่าง ๆ ในสิ่งที่เรากำลังสนใจได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังช่วยให้เรามีทักษะและความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ลงเรียนได้มากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมสู่คณะหรือสาขางานที่เราชอบได้อีกทาง โดยในส่วนของคอรส์เรียนออนไลน์นั้นสามารถให้เราได้ลองถูกลองผิดได้มากยิ่งขึ้นเพราะปัจจุบันมีคอรส์เรียนคุณภาพดีจำนวนมากที่เปิดให้ลงเรียนฟรี
ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะก็ยังมีวัยรุ่นหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเว้นช่วงปี และมอง gap year เป็นดั่งดินแดนลึกลับพิศวงที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่บางครั้งผู้ที่จะเข้าโปรแกรม gap year เองก็แอบรู้สึกเช่นนั้นอยู่เหมือนกัน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็น gap year, university year หรือ year ไหน ๆ ก็ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนด้วยกันทั้งนั้น แต่เราสามารถจำกัดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ด้วยการวางแผนที่ดีและมีความยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเรามีแนวทางการเตรียมตัวสู่ช่วงปีแห่งการค้นหาตัวเองเพื่อให้เกิดผลมากที่สุดมาแนะนำดังนี้
• แบ่งช่วงปีออกเป็นก้อน ๆ – การแบ่งเวลาของ gap year ออกเป็นช่วง ๆ สามารถทำให้โปรแกรม gap year มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เห็นภาพว่าแต่ละช่วงเราจะทำอะไรบ้าง ทั้งยังช่วยให้เราบริหารจัดการเวลาในแต่ละช่วงได้ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะแบ่งออกเป็นช่วงละ 3 หรือ 4 เดือน
• ปักธงให้ชัด – การที่เรามีธงหรือเป้าหมายไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องชัดเจนจนหลับตาก็เห็นภาพ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่พลิกตัวตนจนกลายเป็นอีกคน เป้าหมายของ gap year อาจเป็นอะไรที่เรียบง่าย เช่น ช่วง 3 หรือ 4 เดือนแรก คือการเรียนภาษา อีกช่วงคือไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์ ฯลฯ เทคนิคคือกำหนดเป้าหมายหลวม ๆ (แต่พอจะจับต้องได้) สำหรับแต่ละช่วงที่แบ่งเอาไว้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นสิ่งที่ใจเราเรียกร้อง
• หาข้อมูลและเก็บออม – ขั้นตอนนี้อาจไม่ยากนักแต่จะยุ่งหน่อยตรงที่มันมีข้อมูลเยอะแยะไปหมด เราอาจใช้ตารางเวลาและเป้าหมายที่เราออกแบบมาช่วยพิจารณาและคัดสรรโปรแกรมที่ตรงกับใจเราจริง ๆ เพราะข้อมูลที่เยอะเกินอาจทำให้เราไขว้เขวเห็นอะไรก็น่าสนใจไปซะหมด เมื่อทราบรายละเอียดของโปรแกรมที่อยากเข้าร่วมหรือสถานที่ที่อยากไปแล้วเราก็ต้องมาดูกันว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับตังค์ในกระเป๋าหรือไม่
• ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ – แม้จะศึกษามาดีแล้วแต่ถ้าได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ตรงก็จะเป็นประโยชน์กับเราไม่มากก็น้อย
• ลงจองโปรแกรม – เมื่อวางแผนมาดีและงบพร้อมเราอาจลงทะเบียนจองโปรแกรมไว้เลย ถ้าแผนพร้อมแต่งบยังขาดเราอาจลองดูโปรแกรมที่ให้มัดจำก่อนและจ่ายเต็มทีหลังดูก็ได้ ยิ่งถ้าจองล่วงหน้านาน ๆ เราจะมีเวลาในการออมเงินได้นานขึ้น
• เตรียมสิ่งที่จำเป็นอื่น ๆ – เมื่อแผนการลงตัวและจองโปรแกรมหรือตั๋วเดินทางแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องคิดถึงสิ่งจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการทำกิจกรรมหรือการเดินทาง เช่น ถ้า gap year ของเราเป็นการท่องเที่ยวก็ควรเช็กว่าต้องใช้ visa หรือควรซื้อประกันอะไรเพิ่มเติมไหม ต้องซ้อมพูดภาษาท้องถิ่นในบริบทไหนไว้ก่อนไหม ถ้าเป็นการลงคอร์สเรียนเราต้องใช้อุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมสำหรับการเรียนไหม เป็นต้น
• อย่าปิดกั้นสิ่งแปลกใหม่ – แม้การวางแผนของเราจะมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ลง แต่การเปิดโอกาสให้สิ่งแปลกใหม่บางอย่างที่อยู่นอกแผนเข้ามาในชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะท้ายที่สุดเส้นทางของ gap year ก็เพื่อการค้นหาตัวเองและประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ใช่หรือ
มาถึงตรงนี้หลายคนคงตื่นเต้นอยาก gap year เลยทันที ขณะที่อาจมีบางคน (ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษา) ที่ยังสงสัยว่า gap year นี่คือการค้นหาตัวเองอย่างเดียวเหรอ ใช้เวลาค่อนปีบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย มันสามารถให้อะไรกับเราได้อีกไหม เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว เราลองมาดูกันว่านอกเหนือจากการค้นพบสิ่งที่ใช่สิ่งที่โดนแล้ว ประโยชน์ในแง่มุมอื่น ๆ ของ gap year ที่สังเคราะห์มาจากรูปแบบต่าง ๆ จะมีอะไรอีกบ้าง
• ความสามารถในการทำงานเป็นทีม – gap year ที่พาเราไปพบปะผู้คนใหม่ ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำให้สำเร็จจะช่วยให้เรามีทักษะในการทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น
• เข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น - ถ้าเป็น gap year ที่เราได้แลกเปลี่ยนความคิดหรือวัฒนธรรมกับคนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้เรามีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้มากขึ้นอีกด้วย
• ลดอาการ burnout – การที่เราได้เลือกทำกิจกรรมหรือลงเรียนในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับมัน ซึ่งจะช่วยลดความเครียดและอาการ burnout จากชีวิตในรั้วโรงเรียนได้
• ช่วยให้เห็นทางเดินที่ชัดเจนขึ้น – การที่เราได้สำรวจและทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ระหว่าง gap year จะช่วยให้เรารู้ว่าทางไหนที่เราต้องการจะเลือกเดินจริง ๆ
• กระตุ้นต่อมใคร่รู้ให้กลับมาอีกครั้ง – หลายคนที่ burnout จากการก้มหน้าอ่านหนังสือเพื่อสอบในวิชาที่ไม่ชอบอาจทำให้หมดไฟในการเรียนรู้ไปเลย ซึ่งการ gap year เพื่อพาตัวเองไปเจอในสิ่งที่ใช่จะช่วยกระตุ้นต่อมใคร่รู้ของเรากลับมาอีกครั้งเหมือนตอนเด็ก ๆ ที่ทุกอย่างดูน่าสนใจไปหมด ถ้าต่อมความใคร่รู้ของเรากลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อไหร่ บอกได้เลยว่ามันจะช่วยต่อยอดไปสู่สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร้ขอบเขตแน่นอน
• ประสบการณ์ภาคสนาม – gap year เปิดโอกาสให้เราได้ลงมือในภาคสนามไม่เพียงแต่จะช่วยให้เรามีประสบการณ์ตรงมากขึ้น แต่จะช่วยยกระดับพอร์ตโฟลิโอของเราได้อีกด้วย
• โอกาสในการได้รับเข้ามหาวิทยาลัยหรือบริษัทในฝัน – ประสบการณ์จาก gap year ที่โชว์อยู่บนพอร์ตสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเจ้าของพอร์ตได้ลงทุนพัฒนาทักษะตัวเองหรือมีประสบการณ์จริงมากกว่าคนอื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่มหาวิทยาลัยหรือบริษัทที่เรายื่นใบสมัครจะตอบรับเรา
• มุมมองที่สดใหม่ต่อการใช้ชีวิต – การใช้ชีิวิตระหว่าง gap year ในสถานที่ใหม่ ๆ ที่รายล้อมไปด้วยวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคยจะช่วยให้เรามีมุมมองต่อชีวิต หรือค้นพบความหมายของคำว่าความสำเร็จในชีวิตที่แตกต่างและสดใหม่กว่าแต่ก่อนได้
• เข้าใจตัวเองมากขึ้น – การทดสอบตัวเองด้วยการก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองหรือ comfort zone นอกจากจะช่วยให้เราค้นพบในสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบแล้ว มันยังช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและรับรู้ถึงศักยภาพของตัวเองได้มากขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ ถึงประโยชน์ที่ gap year สามารถมอบให้กับเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วมันยังมีประโยชน์อีกมากมายที่ปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของ gap year ที่เราออกแบบ เรียกได้ว่าความเป็นไปได้ของมันแทบจะไม่มีขีดจำกัดตามสำนวนที่ว่า “sky is the limit”
บทความที่เกี่ยวข้อง
ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'
เคล็ดลับการทำ ‘Mood Board' เพื่อค้นหาตัวเอง
รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด
เรียนภาษา ฝึกวิชาชีวิต ณ อินเดีย
เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ
แบบทดสอบค้นหาตัวเอง ค้นหาพรสวรรค์ 8 ด้าน จาก Harvard University
10 กิจกรรมน่าทำก่อนเปิดเทอม ช่วยเพิ่มประสบการณ์ชีวิต
เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
แจกหนังน่าดู 10 เรื่อง จาก 10 คณะน่าเรียน ได้ทั้งความรู้ & ความสนุก
แหล่งข้อมูล
- Gap year: ตามหาตัวตนในสังคมที่ไม่อนุญาต
- Gap Years: What Does the Research Say?
- Is gap-year volunteering a luxury for the rich?
- A Gap Year Shouldn’t Be Just For The Privileged, Especially Now
- 9 Forward-Thinking Colleges that Offer Gap Year Programs
- “Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย
- “Gap Year” พื้นที่ของการหาตัวตน (ที่ระบบการศึกษาไม่มีให้) | มาเถอะจะคุย 12 มี.ค. 64 | จอมขวัญ
- Prepare for your gap year this summer with these strategies