Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลงโทษลูกอย่างไรดีนะให้สร้างสรรค์

Posted By Plook TCAS | 21 พ.ค. 64
7,319 Views

  Favorite

          จำไว้เสมอว่า “ความรุนแรง” ไม่ใช่การสร้างสรรค์ แม้คุณจะอยากตีเจ้าตัวน้อยให้หลาบจำแค่ไหน แต่นั่นคือการระบายอารมณ์ความโกรธของคุณต่างหาก ยุคสมัยนี้ยิ่งกับเด็ก Gen Z วัยรุ่น หรือก่อนวัยรุ่น มีแต่สร้างความบาดหมาง แตกแยก และทิ้งปมปัญหาให้กับตัวเด็ก ตั้งสติ ใจเย็นให้มากที่สุด คุยวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้เขาชัดเจน และต้องมั่นใจว่าลูกอยู่ในสภาวะที่พร้อมยอมจะรับโทษด้วยความรู้สึกของตัวเขาเองแล้ว ไม่ใช่การยัดเยียดการพิพากษาให้กับพวกเขา 

          แล้วจะสร้างสรรค์บทลงโทษให้เป็นประโยชน์สำหรับพวกเขาอย่างไรดี มาอ่านกันต่อเลยค่ะ

 

ร่วมกันวิเคราะห์ความผิดไปพร้อมกับเด็ก

          แน่ละ! ไม่มีใครไม่เคยทำผิด เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องเรียนรู้  “ผิดถูก” บางครั้งเป็นเรื่องยากเกินในมุมมองของใคร แต่เมื่อลูกทำสิ่งที่ใครต่างลงความเห็นแล้วว่า มันไม่ถูกต้อง ยิ่งเด็กในช่วงก่อนวัยรุ่น ก่อนไปถึงบทลงโทษ เราต้องมาร่วมวิเคราะห์ นั่งคุยกันให้เขาเข้าใจว่า ได้ทำอะไรลงไป  ให้เขาเล่าเหตุการณ์ เพื่อสาวไปให้ถึงต้นเหตุที่เขาตัดสินใจเลือกทำเช่นนั้น ด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ นุ่มนวล อย่าด่วนใช้อารมณ์พิพากษาไปก่อน  ให้โอกาสเขาอธิบายถึงที่มาที่ไป  แต่ต้องไม่ใช่การแก้ตัว ให้ผ่าน ๆ ไป  บางทีเหตุผลของเขาอาจลึกซ่อนอยู่หลายชั้น จนเราคิดไปไม่ถึง ในมุมของเขาอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาเลือกแล้ว  ค่อย ๆ อธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมสิ่งที่เขาทำถึงไม่ถูกต้อง   

 

วางกติกาบทลงโทษร่วมกันในครอบครัว

          บ่อยครั้งความผิดที่เด็กทำ อาจเป็นแค่การเรียกร้องความสนใจ ดื้อ รั้นไปตามวัย แค่อยากท้าทาย ต่อต้าน ฝ่าฝืนกฎ โดยไม่มีอะไรลึกไปกว่านั้น ความผิดแบบนี้ง่ายมาก แค่ให้ลูกช่วยคิด ออกแบบ ตั้งกฎในบ้านด้วยตัวของเขาเอง พร้อมด้วยการบทลงโทษที่จะต้องได้รับหากฝ่าฝืน ในกรณีนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ทำผิดก็ต้องเคารพในกฎ กติกา ต้องยอมรับผิด ขอโทษ และรับผิดชอบรับโทษตามนั้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง ชัดเจน ให้ลูกเรียนรู้ และยอมรับ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาคิดว่า ผู้ใหญ่ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด ไม่ต้องถูกลงโทษ

 

บทลงโทษเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเองไม่ใช่ใคร

          อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าเป้าหมายในการลงโทษนั้น เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง  ให้เขาตระหนักถึงสิ่งที่ทำไป และไม่ทำสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าผิด  ใช้โอกาสนี้แนะนำให้พวกได้คิดเอง  ใช้จินตนาการถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นไปแล้ว ต้องรู้จักแก้ปัญหา แก้ไขสิ่งที่ตนทำผิดด้วยตนเอง ฝึกให้เขามีสติ มีความรู้สึกผิดชอบ ยอมรับในการกระทำของตัวเอง  ไม่ทำผิดแบบเดิม ๆ ซ้ำซาก และไม่ติดไปเป็นนิสัยจนโต มันจะทำให้เขาอยู่ได้ยากในกลุ่มเพื่อน ๆ และในสังคม

 

เทคนิคการลงโทษอย่างสร้างสรรค์

1. รับผิดชอบ และชดเชยในสิ่งที่ทำผิด  

          ไม่ว่าสิ่งที่เขาทำลงไป จะผิดมากน้อยแค่ไหน แต่หากเกิดความเสียหาย หรือมีผลกระทบกับผู้อื่นแล้ว คุณต้องเสนอให้เขารับผิดชอบ ให้เขาเลือกด้วยตัวเขาเองว่าเขาจะรับผิดชอบ และชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร วิเคราะห์สิ่งที่เขาเลือก ตัดสินใจรับโทษด้วยกัน อย่างน้อยให้เขารู้สึกว่า คุณยังอยู่ข้างเขา ยังเป็นทีมเดียวกัน ไม่ปล่อยให้เขาต้องรับโทษตามลำพัง และต้องมั่นใจว่าเขายอมรับโทษเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ฝืนความรู้สึกของตัวเอง  หรือคุณอาจเสนอการชดเชยด้วยการทำกิจกรรมในบ้านด้วยตัวเอง  สารพัดงานทำความสะอาด ห้องนอน ห้องน้ำ ล้างจาน ทำสวน ล้างรถของที่บ้าน  โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่เขาจะได้เรียนรู้อะไรในสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ ชดเชยสิ่งที่ตัวเองสูญเสียไป

 

2. งดกิจกรรมที่ต้องการ หรือที่ชอบ  

          มันอาจเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมากสำหรับเขา ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจเสียก่อน เลือกตามความเหมาะสมกับความผิด มากน้อยนานแค่ไหน ระบุระยะเวลาการลงโทษให้ชัดเจน จากเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ อย่างเช่น จำกัดเวลานอน ไม่มีการนอนดึกอีกต่อไป  ต้องตื่นเช้าในวันหยุด ไม่มีปาร์ตี้ฉลองวันเกิด  กักบริเวณ ไม่ให้ออกเป็นเล่นนอกบ้านกับเพื่อน หรือให้เพื่อนมาเล่นที่บ้าน หรือแม้แต่เล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวน้อยของเขา  ไม่ให้เล่นเกมไม่ว่าบนเครื่องเล่น คอมพิวเตอร์ หรือบนมือถือสองอาทิตย์ เป็นต้น   

 

3. ลงโทษด้วยวิธีการตัดสิทธิ์การให้รางวัล

          ให้เขาเรียนรู้ว่า ไม่มีสิทธิ์พิเศษ หรือรางวัลชีวิต หากทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎ ตามกติกา ตั้งแต่หักค่าขนม หักจากส่วนค่าใช้จ่ายของเขา  ไม่มีโบนัสรางวัล ของขวัญในวันพิเศษ  ไม่มีการซื้อชุด หรือของเล่นใหม่ ๆ   ไม่มีของอร่อย ๆ  หรือขนมหวานในเมนูอาหารประจำวัน  ไม่ให้ไปเที่ยวต่างจังหวัดในเทศกาลท่องเที่ยวของครอบครัว

 

          อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้ลูกเข้าใจหลายร้อยเรื่อง หลายมุมความคิดเห็นของผู้คนในความผิดถูก  ในช่วงเวลาสั้น ๆ   แต่เราควรนึกไว้ตลอดเวลาว่า กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ที่ดี ปลูกฝังสิ่งดี ๆ  เพื่อเป็นรากฐานความแข็งแกร่งให้กับตัวเขา เพื่อนำไปใช้ดำเนินชีวิต เมื่ออยู่ในสังคมภายนอก  ลงโทษด้วยมือของเราอย่างสร้างสรรค์  อย่าให้ลูกของเราต้องไปเผชิญกับโลกภายนอกโดยไม่มีภูมิคุ้มกัน  และข้อสำคัญ อย่าให้สังคมมาเป็นผู้สอน ตัดสิน และลงโทษความผิดของเขาในอนาคต

 

                                                                                               อังสนา  ทรัพย์สิน

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.ukhttps://www.amarinbabyandkids.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow