“เพื่อน” คำสั้น ๆ ที่มีความหมายยิ่งใหญ่ ยิ่งกับเด็กยุค gen Z แล้ว เพื่อนยิ่งมีความสำคัญมาก กับเด็กบางคน เพื่อนอาจมาก่อนพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียด้วยซ้ำ คุณคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นแน่ งั้นเรามาเปลี่ยนมุม วางตัวกันใหม่ ใช้เทคนิคตามนิสัยของเด็กยุคสมัยนี้ คุณ ลูก และเพื่อน เราเป็นทีมเดียวกัน!
เมื่อคุณกับลูกเป็นทีมเดียวกันในหลาย ๆ เรื่องแล้ว ให้ลูกเข้าใจว่าคุณคือหัวหน้าทีม ต้องยอมสละเวลา แอบเป็นสปายเนียน ๆ ที่จะเรียนรู้ ศึกษาความสัมพันธ์ของลูก นิสัยใจคอของเพื่อน ๆ หรือคนที่อยู่รอบตัว เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ เก็บข้อมูลของแต่ละคนไว้ เพื่อนำไปวิเคราะห์ เรียนรู้เพื่อนของลูกไปพร้อมกัน เพื่อดูว่าลูกให้น้ำหนักในความสัมพันธ์กับใครมากน้อยแค่ไหน คอยสังเกตดูลูกอยู่ห่าง ๆ หรือไม่ก็คุยธรรมดาไม่คาดคั้นตั้งคำถาม หาคำตอบเอาเป็นตาย เหมือนแค่ร่วมรับรู้เหตุการณ์ประจำวัน การไม่เข้าไปยุ่ง แทรกแซงกับการคบเพื่อนตรง ๆ แค่รับรู้ว่าลูกมีเพื่อนเป็นใครบ้าง วัน ๆ ทำอะไรด้วยกัน ทำให้ลูกสบายใจ ยิ่งรู้ว่าคุณเป็นทีม ยืนข้างเขาตลอดเวลาด้วยแล้ว เขาจะไว้ใจ อุ่นใจมากพอ พร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนของเขาให้ฟัง หรือแม้แต่ปัญหาส่วนตัวที่เขาบอกเล่าใครไม่ได้นอกจากเพื่อนก็ตาม
การคบเพื่อน คือการหามิตร ไม่ใช่หาศัตรู ในฐานะหัวหน้าทีม คุณสามารถสอนให้เขาเรียนรู้ผู้คนที่มีหลากหลายในสังคม ใช้สำหรับตอนนี้เลย หรือเรียนรู้ไว้ใช้ในการเลือกคบคน ต่อ ๆ ไปในอนาคต ฝึกให้เขาวิเคราะห์แยกแยะ พฤติกรรม นิสัยดี ไม่ดี แนะนำให้ลูกรู้จักการวางตัวในสังคม เพื่อนผู้ชาย เพื่อนผู้หญิง ลำดับความสัมพันธ์ การให้ความสำคัญ พฤติกรรมสิ่งใดเหมาะสม สิ่งใดไม่เหมาะสม เมื่อเขารับรู้ และเข้าใจ ให้เชื่อใจว่า เขาจะแยกแยะคนที่จะคบได้เอง อย่าลืมแนะนำเรื่องการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การแบ่งปัน เรื่องของคำว่าน้ำใจ ความหมายของคำว่า มิตรภาพ ความซื่อสัตย์ จริงใจในการคบหา การขอบคุณ และขอโทษ แม้จะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ตาม
เมื่อลูกคบเพื่อนแล้ว ไม่ว่าสนิทมากน้อยแค่ไหน และถึงแม้คุณจะไม่ชอบเพื่อนคนนี้เลย ขอให้นิ่ง ๆ ใจเย็น ๆ ไม่ควรด่วนสรุป ต่อว่าวิจารณ์ แจกแจงพฤติกรรมเสีย ๆ หาย ๆ หรือพูดตรง ๆ บังคับลูกให้เลิกคบ ขอให้หาข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนลูกคนนี้ให้มากที่สุด ค่อย ๆ เนียนพูดถึงเพื่อนคนนี้บ่อย ๆ ให้ลูกเล่าด้วยตัวของเขาเอง หรืออาจจะถามจากคุณครู หรือเพื่อนคนอื่น เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ถึงสาเหตุที่เพื่อนมีพฤติกรรมแบบที่เรากังวล เด็กคนนั้นอาจมีปัญหาบางอย่าง ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือลองสร้างสถานการณ์กลาง ๆ เปรียบเทียบคุยร่วมกันถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่าง ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟังพ่อแม่ ไม่เชื่อครู ไม่รักของ สูบบุหรี่ โดดเรียน หนีเที่ยว ฯลฯ ให้เด็กคิดแยกแยะ วิเคราะห์ด้วยเหตุผลเอง ว่าควรทำอย่างไร ควรคบต่อ หรือว่าถอยห่าง
ช่วงโควิด-19 การจัดปาร์ตี้ที่บ้านดูจะไม่เหมาะ งั้นถือโอกาสนี้ใช้สื่อดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ เปิดซูม หรือเปิดห้องสนทนาบนแพล็ตฟอร์มที่ลูก ๆ เล่นเป็นประจำ เปิดกลุ่มสร้างสรรค์จัดกิจกรรม ให้เป็นปาร์ตี้สนุกสนานอย่างมีสาระ วิธีเนียนง่าย ๆ ให้พวกเขาอยู่ในสายตาของคุณ ทั้งเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่เพื่อนในโลกออนไลน์ ให้เด็ก ๆ เปิดอกพูดคุย ถกปัญหาอย่างสร้างสรรค์ หรือช่วยกันหาหัวข้อประเด็นที่บ้าน โรงเรียน สังคม ที่เป็นประโยชน์ และเหมาะกับวัยพวกเขา คุณอาจแค่รับฟัง เก็บบันทึก ให้ความคิดเห็นบ้างในมุมมองของผู้ใหญ่ บางโอกาสเชิญผู้ปกครองของเพื่อน ครูประจำชั้น แนะแนว หากเป็นไปได้เชิญเพื่อนที่เป็นแพทย์มาคุยเรื่องสุขอนามัย หรือบุคคลที่เด็ก ๆ ควรให้ความสนใจ กับการเรียน อาชีพในอนาคต มาเป็นแขกรับเชิญร่วมวงสนทนา เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดช่องว่าง ป้องกันการเกิดปัญหา และเด็ก ๆ ก็เปิดใจ ยอมรับฟังพูดคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ยิ่งทำเป็นคอนเทนต์ขึ้นบนโลกออนไลน์ ให้เด็ก ๆ เพื่อนใหม่ ๆ เข้ามาพูดคุย ระบายปัญหาของตัวเอง ยิ่งเป็นประโยชน์ในวงกว้าง และคุณก็ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
เมื่อถึงวันหนึ่งคุณแน่ใจแล้วว่า ลูกของคุณเติบโตพร้อมแยกแยะเข้าใจผู้คน พฤติกรรมดี ไม่ดี ปัญหารอบตัวต่าง ๆ แก้ไขปัญหาเบื้องต้น หรือเฉพาะหน้าได้ในระดับหนึ่ง วันนั้นคุณอาจส่งไม้ต่อ ยกการเป็นหัวหน้าทีมให้ลูกของคุณ ทำสิ่งดี ๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเขาเอง เพื่อน ผู้คนรอบข้าง และสังคมภายนอก แต่ยังไงก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า คุณยังคงต้องเป็น “ที่ปรึกษา” ของทีมทีมนี้ไปชั่วชีวิต
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://pantip.com/forum/family, https://new.camri.go.th