คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์เด็กใหม่ Girl From Nowhere ซีซั่น 2
จากรายงานสังเคราะห์ 2558 เรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทยโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาท้องไม่พร้อมติดอันดับ 2 ของอาเซียน และเด็กที่ท้องมีอายุน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี นั่นหมายความว่าในประเทศไทยมีเด็กประถมที่ท้องไม่พร้อมอยู่หลายคน มันจึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามที่ว่า เราควรจะปรับปรุงการสอนเรื่องเพศศึกษาให้เด็กนักเรียนหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติการห้ามเด็กมีเพศสัมพันธ์ได้หรือยัง
ในซีรีส์เด็กใหม่ซีซั่น 2 แนนโน๊ะได้จัดบทลงโทษที่เราทุกคนก็ได้แต่หวังว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ แต่เราคงไม่สามารถลงโทษใครได้แบบในละคร วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมอาจจะไม่ใช่การแช่ง ภาวนาให้ผู้ชายตั้งท้องได้แบบผู้หญิงเพื่อที่จะให้ผู้ชายได้รู้สึกถึงความอับอายของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมบ้าง แต่คือการเรียนรู้ที่จะมีเซ็กซ์แบบป้องกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง การรณรงค์ให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรีให้เกิดขึ้นจริง (การทำแท้งในบางกรณียังผิดกฎหมายไทยอยู่) และที่สำคัญคือการรักตัวเองให้มากพอที่จะไม่ทำพลาดจนต้องหมดอนาคต
เราต่างรู้ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เราจะได้ฝึกการมีระเบียบวินัยก็จริง แต่บางครั้งครูก็ทำตัวเป็นกฎซะเอง จนนำไปสู่การลงโทษเด็กเกินเหตุตามที่เราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ มีตั้งแต่ครูฟาดเด็ก (ทั้ง ๆ ที่มันผิดกฎกระทรวงศึกษาธิการ) ตัดผมเด็ก หรือทำให้เด็กอับอายต่อหน้าเพื่อน ๆ ด้วยการตีเด็กนักเรียนหญิงจนกระโปรงมันเปิด เป็นต้น ซึ่งบทลงโทษของครูที่ลงโทษเด็กเกินเหตุก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่เลยสำหรับครอบครัวพ่อแม่ของเด็กที่โดนทำโทษ เพราะเท่าที่เราเห็น ครูที่ลงโทษเด็กเกินเหตุก็มักจะได้รับโทษให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หรือไม่ก็โดนสั่งย้ายให้ไปสอนที่โรงเรียนอื่น ซึ่งก็เกิดคำถามต่อมาว่ามันเป็นบทลงโทษที่จะช่วยให้คน ๆ หนึ่งสำนึกถึงความผิดที่เขาได้กระทำไหมเมื่อมีครูลงโทษเด็กเกินเหตุอยู่เรื่อย ๆ แบบนี้
ในซีรีส์์เด็กใหม่ซีซั่น 2 แนนโน๊ะก็ได้จัดบทลงโทษให้กับครูหัวโบราณที่ไม่ต้องการให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมาเรียนรวมกัน ด้วยความคิดที่ว่าหากเด็กชายมาเรียนรวมกับเด็กหญิงไม่ช้าก็เร็วจะเกิดเรื่อง ‘ชู้สาว’ ขึ้น ครูจึงได้ออกกฎระเบียบที่ว่าห้ามนักเรียนชายเข้าใกล้นักเรียนหญิงในระยะ 2 เมตร, ห้ามเด็กชายพูดคำว่า ‘นม’, ห้ามนักเรียนหญิงหัวเราะกับมุกฝืด ๆ ของนักเรียนชาย, ห้ามขายช็อกโกแลตในโรงเรียนเพราะมันอาจไปทำให้เด็กมีอารมณ์ทางเพศ และก็ห้ามให้เด็กนักเรียนชายและเด็กนักเรียนหญิงเป็นแฟนกัน ไม่อย่างนั้นครูจะลงโทษด้วยการเขียนชื่อเด็กเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตเด็กคนหนึ่งได้เลย
ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าบรรยากาศการรับน้องนั้นดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการรับน้องเกินเหตุจะหมดไป ยังคงมีบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัยที่ยังคงระบบการรับน้องแบบโซตัสที่เข้มข้นจากเหตุการณ์นักศึกษารุ่นพี่ทำร้ายร่างกายรุ่นน้องร่วมสาขาเดียวกัน ไหนจะให้นักเรียน นักศึกษาหญิงเต้นประกอบเพลงเชียร์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการข่มขืน ซึ่งรุ่นพี่อาจจะคิดว่าการจัดกิจกรรมแบบนั้นคือการที่จะทำให้รุ่นน้องรู้จักและสามัคคีกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่หลายคนที่กล้าปฏิเสธระบบโซตัสและกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพวกเขามากเกินไป
ในซีรีส์เด็กใหม่ซีซั่น 2 แนนโน๊ะก็ได้จัดบทลงโทษให้กับรุ่นพี่ที่ทำตัวเองเป็นกฎ สั่งอะไรรุ่นน้องก็ต้องทำ ห้ามขัดคำสั่งรุ่นพี่เด็ดขาดด้วยการลองให้รุ่นพี่พวกนั้นกลายมาเป็นรุ่นน้องดูบ้าง เพื่อที่จะได้รู้สึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำลงไปกับรู้น้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาแบบในซีรีส์คือการแก้แค้นที่เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือ รุ่นพี่ควรให้เกียรติรุ่นน้องและทางมหาวิทยาลัยควรเข้ามาควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ต่างกับเป็นการสนับสนุนการรับน้องเกินเหตุให้มันยังคงอยู่ต่อไป เด็กคนหนึ่งไม่สมควรที่จะต้องมาตายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของรุ่นพี่บางกลุ่ม
ประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาโดยตลอด ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงมีอยู่ทั่วทุกจังหวัด เราจะเห็นเด็กต้องไปกางร่มเรียนออนไลน์กลางทุ่งนาร้อน ๆ เพราะบ้านเขาไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือปัญหาพ่อแม่เด็กไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมลูกในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ไหนจะเด็กอีกมากมายที่ไม่รู้จะทำยังไงดีเมื่อเขาสอบติดคณะที่อยากเรียนแต่พ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมให้
เด็กรวย เด็กจน ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เรื่องเด็กหน้าตาดีได้รับอภิสิทธิ์ในโรงเรียนที่มักจะเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ เพราะผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เรื่องเหล่านี้แหละที่กำลังบ่อนทำลายความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กคนหนึ่งให้เขาไม่อยากชีวิตอยู่ นักเรียนหลายคนที่เสียโอกาสในชีวิตไปเพราะว่าฐานะทางบ้านยากจน ในซีรีส์เด็กใหม่ซีซั่น 2 แนนโน๊ะได้ทำให้เราเห็นแล้วว่าเด็กบ้านจนคนหนึ่งต้องยอมไปเป็นเบ๊คอยซื้อข้าว คอยรับใช้ คอยทำเรื่องที่ผิดกฎของโรงเรียนมากมายให้กับเด็กบ้านรวยเพื่อให้ได้เงินตอบเเทนมันมีอยู่จริง
ในทุก ๆ ปีจะมีข่าวเด็กฆ่าตัวตายซึ่งมีสาเหตุมาจากความรักที่ไม่สมหวัง และทุก ๆ วันเราจะเห็นว่ามีผู้ใหญ่ฆ่ากันตายเนื่องจากปัญหาความรักที่ไม่ต่างจากเด็ก เพราะเด็กที่ไม่เข้าใจในความรักที่ดีย่อมโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจในความรักที่ดี การปลูกฝังให้เด็กกลัวความรัก กลัวเด็กผู้ชาย กลัวเพศตรงข้ามอย่างไม่มีเหตุผล ด้วยการออกกฎประหลาด ๆ การห้ามให้เด็กมีความรักก็ไม่ต่างกับการยุยงเด็กที่มีความอยากรู้ อยากลองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ก็ไม่ต่างกับการปล่อยให้เด็กคนหนึ่งต้องออกไปเผชิญโลกด้วยความไม่รู้อะไรเลย
ในซีรีส์เด็กใหม่เราจะเห็นได้เลยว่าแนนโน๊ะไม่กลัวการมีความรัก ไม่กลัวเด็กผู้ชาย ไม่กลัวการมีเซ็กซ์ และได้โยนคำถามให้ครูและผู้ปกครองได้กลับมาคิดว่า การห้ามไม่ให้เด็กคนหนึ่งมีความรักนั้นมันเวิร์กไหม ? พ่อแม่ควรเปิดใจกับลูกเรื่องความรัก และชี้ให้เด็กเห็นว่าความรักที่ดีเป็นยังไง แบบไหนที่ไม่ดีเพื่อให้เด็กคนหนึ่งมีภูมิคุ้มกันเรื่องความรักตั้งแต่เป็นเด็กเพื่อที่เขาจะได้เข้าใจมากกว่ากลัว
บทความที่เกี่ยวข้อง
จะทำยังไงกับ 'Beauty Privilege' ในโรงเรียน เมื่อคนหน้าตาดีทำอะไรก็ดีไปหมด
รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด
ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
เราพร้อมจะมีเซ็กซ์ มีอะไรครั้งแรกกับแฟนแล้วใช่ไหม ?
Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์
รู้จักอาการคลั่งรัก ‘Limerence’ คุณกำลังคลั่งรักใครอยู่หรือเปล่า
มีอะไรกันครั้งเดียวจะท้องไหม รวมความรู้เรื่องเซ็กซ์ ความเชื่อผิด ๆ ที่จะทำให้ท้องได้
ทำยังไงดี เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยตาม 'Beauty Standard'
รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่
รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร
วิธีแก้เกมเมื่อ 'โดนบูลลี่' ที่โรงเรียน