Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แบคทีเรียในร่างกายมนุษย์

Posted By sanomaru | 12 พ.ค. 64
17,634 Views

  Favorite

จุลินทรีย์หรือจุลชีพเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และแบคทีเรีย ไวรัส ฟังไจ ก็อยู่ในกลุ่มของจุลินทรีย์เช่นกัน ซึ่งบางครั้งอาจถูกเข้าใจว่า พวกมันทั้งหมดคือเชื้อโรคที่ร่างกายของเราไม่พึงประสงค์ แต่แท้จริงแล้ว ในร่างกายของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยจุลินทรีย์

 

ภายในร่างกายของมนุษย์มีจุลินทรีย์อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ฟังไจ ไวรัส อาร์เคีย (เคยอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรีย) ซึ่งมีหลากหลากสายพันธุ์ รวม ๆ แล้วหลายพันล้านตัว หรืออาจกล่าวได้ว่ามีมากกว่าเซลล์ในร่างกายมนุษย์ถึง 10 เท่า มีน้ำหนักรวมกันได้ถึง 1.5 กิโลกรัมทีเดียว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจุลินทรีย์ในร่างกายของเราจะเป็นแบคทีเรีย

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียในร่างกายของเรามาจากไหน

แบคทีเรียในร่างกายของเราอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกเกิด ในช่วงระหว่างการคลอด โดยเมื่อทารกผ่านช่องคลอดออกมา หรือหากคลอดโดยการผ่าตัดก็จะได้สัมผัสกับผิวของแม่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดแรกที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในลำไส้ของทารกเพื่อช่วยในการย่อย หลังจากนั้นระหว่างที่ทารกกินนมแม่ พวกเขาก็จะได้สัมผัสกับผิวหนังของแม่และได้รับแบคทีเรียเพิ่ม

 

จุลินทรีย์ต่าง ๆ จะอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์และมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนในระหว่างที่มนุษย์เติบโตขึ้นกระทั่ง 3 ขวบ โดยได้รับเพิ่มจากอาหารที่รับประทาน การคลาน การหยิบจับสิ่งของต่าง  ๆ เข้าปาก การเลียของเล่น และแหล่งอื่น ๆ ซึ่งนี่อาจเป็นที่มาของการที่ผู้สูงอายุมักพูดว่า เลี้ยงลูกให้เล่นเลอะเทอะบ้าง เด็กจะได้มีภูมิต้านทาน โดยปัจจัยที่ทำให้จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์แตกต่างกันขึ้นกับอาหารที่รับประทาน สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ผู้คนและสัตว์ที่ปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งพวกมันอาศัยอยู่ทั่วไปในร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ลำไส้ โพรงจมูก ทางเดินหายใจ ปาก หรือแม้แต่อวัยวะเพศ

ภาพ : Shutterstock

 

แล้วสิ่งแบคทีเรียเหล่านี้เป็นอันตรายต่อร่างกายของเราหรือไม่

 

แบคทีเรียตามผิวหนัง

ผิวหนังของคนเรามีพื้นที่อยู่ประมาณ 1.8 ตารางเมตร และมีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากกว่า 1.5 ล้านล้านตัว แบคทีเรียบนผิวหนังมีหลายชนิดตามสภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโต อาจเป็นบริเวณที่มีไขมัน เช่น ศีรษะ ลำคอ ลำตัว บริเวณที่มีความชื้น เช่น รอยพับ ระหว่างนิ้วเท้า และบริเวณที่แห้ง เช่น แขน ขา ซึ่งส่วนใหญ่มักมีภาวะอิงอาศัย (+,0 ภาวะที่เป็นประโยชน์ต่อแบคทีเรีย แต่ไม่ช่วยหรือทำอันตรายต่อโฮสต์) หรือภาวะพึ่งพาอาศัย (+,+ ภาวะที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งแบคทีเรียและโฮสต์) โดยบางส่วนช่วยต่อต้านแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรคด้วยการหลั่งสารบางอย่างออกมาเพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของพวกมัน บางส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียในช่องปากและทางเดินหายใจ

ในช่องปากของเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งมีแบคทีเรียอยู่ประมาณ 700 ชนิด รวมทั้งฟังไจ อาร์เคีย และไวรัส เนื่องจากในช่องปากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ คือ อบอุ่น มีความชื้น และเต็มไปด้วยอาหาร จุลินทรีย์โดยส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีบางชนิดที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือกลิ่นปากได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพปากและฟันก็คือการทำความสะอาด รักษาสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ในบางครั้งแบคทีเรียในช่องปากยังอาจเดินทางไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ลำไส้ ปอด และอาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยร้ายแรงได้

 

ขณะที่แบคทีเรียภายในทางเดินหายใจ อาจมาจากภายนอกซึ่งมาจากการหายใจ บางชนิดเป็นอันตราย แต่เยื่อบุในโพรงจมูกและทางเดินหายใจจะผลิตเมือกออกมาเพื่อดักจับแบคทีเรียเหล่านี้ เป็นแนวป้องกันแรกก่อนที่พวกมันจะเข้าสู่ร่างกายของเรา

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียในลำไส้

ลำไส้ของมนุษย์เป็นอีกที่หนึ่งที่มีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก และที่นี่พวกมันตั้งรกรากกันอยู่จนกลายเป็นระบบนิเวศเล็ก ๆ โดยประกอบด้วยแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 1,200 ชนิด ซึ่งพวกมันมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญให้มากขึ้นได้ ช่วยผลิตเอนไซม์บางอย่างที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบย่อยอาหาร สร้างวิตามินบี 12 หรือวิตามินเคที่สำคัญต่อร่างกาย ช่วยควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกัน ควบคุมการตอบสนองต่อการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคหอบหืด  นอกจากนี้งานวิจัยใหม่ ๆ บางชิ้นยังคาดว่าจุลินทรีย์เหล่านี้อาจมีบทบาทรวมไปถึงการช่วยควบคุมการทำงานบางอย่างของสมองด้วย

 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดความไม่สมดุลระหว่างแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพกับแบคทีเรียร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา โดยแบคทีเรียดีมีอยู่น้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารขึ้นมาได้เช่นกัน เรียกว่า "Gut dysbiosis"

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียบริเวณช่องคลอด

แบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณช่องคลอดมีประมาณ 300 สายพันธุ์ และส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียที่มีกรดแลกติก ซึ่งช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดบริเวณดังกล่าว ป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ประเภทอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้

 

นอกจากนี้ในร่างกายของเรายังมีจุลินทรีย์แฝงตัวอยู่ในอีกหลายบริเวณ เช่น สะดือ กระเพาะปัสสาวะ ดวงตา ต่อมทอนซิล ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย ดังนั้น กลุ่มนักวิจัยจึงเริ่มค้นหาและทำแผนที่ไมโครไบโอมของมนุษย์ เพื่อที่จะทราบว่าร่างกายของมนุษย์มีจุลินทรีย์ชนิดใดอยู่บ้าง และพวกมันมีบทบาทอย่างไร  ไมโครไบโอมในร่างกายเสียสมดุลได้อย่างไร และทำไมจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นอันตรายบางชนิดกลับกลายเป็นเชื้อโรค เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ เราทุกคนก็ควรดูแลร่างกายให้ถูกสุขลักษณะและเสริมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ จึงจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- รู้หรือไม่ ? มีแบคทีเรียมากมายในดวงตาของเรา
- ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ (Interspecies Interactions)
- ไวรัสกับแบคทีเรียต่างกันอย่างไร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow