Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

Posted By Plook Magazine | 13 พ.ค. 64
11,286 Views

  Favorite

องค์การอนามัยโลกเผยว่าในช่วงปี 2020 โลกของเราได้เกิดโรคอุบัติใหม่ ‘ภาวะซึมเศร้า’ คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ภาวะไร้ความสามารถทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 264 ล้านคนทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า กดดัน เผชิญปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์จนนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงโรคติดต่อและไม่ติดต่อมากมายตามมา ด้วยการจัดการอารมณ์ที่ไม่ถูกวิธี 

 

 

Toxic Positivity
คิดบวกจอมปลอม

 

หลายคนมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ที่ผิด ๆ ด้วยการมโนไปว่า เราสามารถควบคุมอารมณ์ที่ไม่ต้องการได้ด้วยการไม่สนใจมัน หรือพยายามแสดงออกในทางตรงกันข้ามเพื่อปิดกั้นความรู้สึกที่แท้จริง การข่มอารมณ์ไว้และการแสดงออกว่าเราโอเค เป็นเทพแห่งการไม่เป็นไรหรือไม่ก็ช่างมันเถอะ ! กับตัวเองบ่อย ๆ คือการคิดบวกจอมปลอม หรือ Toxic Positivity การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้เราเศร้ามากขึ้นทวีคูณ คนที่ต้องมาชดใช้ก็คือตัวเรา คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือแฟน เพราะวันหนึ่งเราอาจจะเอาอารมณ์ที่เราเมินเฉยเหล่านั้นไปลงกับคนที่เรารักได้ 

 


นักวิจัยได้ทำการวิจัยเรื่องการควบคุมอารมณ์และพบว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่อารมณ์ถูกผลักออกไปหรือไม่ได้รับความสนใจ อารมณ์นั้นจะยิ่งสตรองมากขึ้น นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Amplification’ ปฏิกิริยาการเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเวลาสั้น เหมือนกับเวลาที่เราเปิดตู้เย็นหาน้ำดื่ม แต่เห็นเค้กรสโปรดอยู่ในนั้น ยิ่งเราพยายามที่จะไม่สนใจมันเท่าไหร่ เรายิ่งอยากหยิบมันมากินมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามหากเรายอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไม่เสแสร้งแกล้งโอเค เราก็จะมีความคล่องแคล่วทางอารมณ์ (Emotional Agility) มากขึ้น

 

 

Emotional Agility คืออะไร

Emotional Agility คือภาวะที่เราจะไม่เพ่งตัดสินว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นถูกหรือผิด ดีหรือว่าแย่ เพียงแค่รับรู้และ ยอมรับมัน เพราะการยอมรับอารมณ์ของตัวเองไม่ว่าจะโกรธ เสียใจ ผิดหวัง มันคือวิธีที่จิตใจของเราจะได้รับการเยียวยามากกว่าการเพิกเฉย การซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองจะช่วยทำให้เราเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้นจนนำไปสู่การลงมือแก้ไขที่ถูกทาง เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ถูกต้องและมีความสุขอย่างแท้จริง

 

 

วิธีจัดการกับอารมณ์ เราควรจะต้องฝึกอย่างไร ? 
 

 

1. เผชิญหน้า

เผชิญหน้ากับอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยความซื่อสัตย์ เรารู้สึกอย่างไร แล้วใช้คำอธิบายที่เหมาะสม เช่น เวลาที่เราเครียด พยายามเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ฉันเครียด ฉันโมโห แต่ให้เปลี่ยนเป็น ฉันคิดว่าฉันเครียด ฉันสังเกตว่าฉันโมโห โดยไม่ต้องไปให้น้ำหนักมันว่าถูกหรือผิด แย่หรือดี พยายามฝึกให้แค่รับรู้เท่านั้นว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น เรารู้สึกว่าเราโมโหที่เพื่อนไม่ช่วยงานกลุ่ม แทนที่เราจะช่างมัน แต่เราควรจะยอมรับตามตรงว่าตอนนี้โมโหแล้วนะโว้ย       

 

2. ก้าวออกมา

ปกติแล้วเวลาเราเศร้า มีอารมณ์ด้านลบ สมองส่วนเหตุผลและตรรกะจะหยุดทำงาน ทำให้เราไม่สามารถประเมินเหตุการณ์ตามความเป็นจริงได้ (เหมือนเวลาที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเราจะเก่ง แต่พอเป็นเรื่องของตัวเองเราจะทำอะไรไม่ถูกนั่นเอง) เมื่อยอมรับอามณ์ที่เกิดขึ้นแล้วให้เราตรวจสอบตามสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด โดยใช้อารมณ์เป็นเพียงข้อมูล ไม่ใช่ใช้มันเพื่อเป็นทิศทางในการกระทำของเรา เช่น เราโกรธ ทำไมถึงโกรธ เพราะเพื่อนไม่ช่วยงาน แทนที่จะทำในสิ่งที่คนขี้โมโหเขาทำกัน เราก็ไปโฟกัสที่เพื่อนไม่ช่วยงานแทน ว่าทำไมเพื่อนถึงไม่ช่วยงาน ?  

 


3. ทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น  

เมื่อเราก้าวออกมาจากอารมณ์แล้ว เราจะเห็นทางออกของปัญหาที่มากขึ้น เพราะสมองส่วนควบคุมอารมณ์และส่วนที่ควบคุมตรรกะและเหตุผลทั้งสองซีกได้แอคทีฟแล้วอย่างสมดุล เราจะไม่ ‘โมโหจนหน้ามืดตามัว’ ‘ทำตามอารมณ์ชั่ววูบ’ ทำให้เราตัดสินใจได้ว่า วิธีการหรือเส้นทางไหนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับคุณค่าของเราและเราต้องทำอะไร เช่น เราเห็นแล้วว่าเพื่อนมันไม่ช่วยงาน ถ้าเราทำส่วนของเพื่อนด้วยเราจะเหนื่อย (เป็นการลดคุณค่า แก้ปัญหาให้ถูกใจคนอื่น ซึ่งไม่โอเค) เราอาจจะบอกเพื่อนไปเลยว่า "เราเหนื่อยนะ ถ้าแกไม่ช่วย” “ช่วยกันหน่อยซิ นิดเดียวก็ดีกว่าไม่ทำนะ" เป็นต้น 

 

4. เดินหน้าต่อไป 

เดินหน้าต่อไปด้วยหัวใจที่โปร่งโล่ง และคิดอยู่เสมอว่าคนที่ไม่เครียด ไม่เศร้า ไม่ผิดหวังเลยในชีวิตคือคนที่ไม่มีลมหายใจแล้วเท่านั้น ความเจ็บปวดใด ๆ ก็ตามตั้งแต่ไปซื้อชานมร้านโปรดแต่ร้านไม่เปิด ไปจนถึงอกหักเพราะเขาไม่รัก อารมณ์ถือเป็นสิ่งวิเศษที่ทำให้มนุษย์พิเศษกว่าสัตว์อื่น ๆ คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเผชิญตั้งแต่เกิดไปจนตาย เป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ต่อไป การฝึกฝน ยอมรับอารมณ์ของตัวเองถือเป็นทักษะที่จะทำให้เราใช้ชีวิตให้สะดุดน้อยลงและสมูทมากขึ้น   


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพิ่มเวลาออฟไลน์ ลดความเครียดกับ ‘Social Media Detox’

3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์

เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน

วิธีรับมือกับความเจ็บปวดและความเครียด

ทำไมคนเราต้องโกรธจนมือสั่น แล้วเราจะควบคุมความโกรธได้ยังไงบ้าง

นอนยังไง กินอะไร เพื่อให้ร่างกายหายเหนื่อยล้า

ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้

ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ดี ช่วยลดอาการเครียด นิสัยหงุดหงิดง่ายได้ !

 

 

แหล่งข้อมูล

David, Susan (November,2013) Emotional Agility: How effective leaders manage their negative thoughts and feelings [PDF file]. HBR.  

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow