Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการรับมือ จัดการกับความดื้อของเด็กยุคนี้

Posted By Plook TCAS | 05 พ.ค. 64
11,665 Views

  Favorite

          มีเด็กคนไหนไม่ดื้อบ้าง ยกมือขึ้นหน่อย  หรือมีคุณพ่อคุณแม่ท่านใดเหนื่อยใจที่ลูกดื้อสุด ๆ  รีบออกมาแถวหน้าเลย เพราะคราวนี้เรามีเทคนิครับมือกับเด็กดื้อด้วยความรักมาฝากกัน

          ย้ำให้ชัด ๆ ว่า การที่เด็ก ลูกของเราดื้อนั้น  เป็นพัฒนาการเติบโตตามวัย เป็นเรื่องปกติมาก ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นเด็กไม่ดีในอนาคต  เพราะช่วงที่สมองเติบโตเต็มที่ บวกกับฮอร์โมนที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จนว้าวุ่นอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง  ยิ่งเด็ก Gen Z ด้วยแล้ว ไม่คิดเอง ไม่ต่อต้านคำสั่ง เห็นจะไม่ใช่พวกเขาแน่

          สิ่งที่ต้องสังเกตให้มาก จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เด็กดื้อกลายเป็นเด็กก้าวร้าว นั่นต่างหากที่สำคัญ เด็กดื้อที่อารมณ์เสีย ไม่พอใจ โกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เถียง ทะเลาะกับผู้ใหญ่ตลอดเวลา ท้าทาย ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ คำสั่ง ของผู้ใหญ่เป็นประจำ  ชอบแกล้ง รังแก ตั้งใจรบกวนคนอื่นเกินขอบเขต แม้แต่สัตว์เลี้ยง เด็กบางคนเริ่มโกหก โยนความผิดให้คนอื่น  มีอารมณ์แก้แค้นอาฆาตพยาบาทบ่อย ๆ  และบางรายเริ่มมีการใช้กำลังขัดขืน ทำลายสิ่งของ ขโมยของ หนีเที่ยว โดดเรียน ทำพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย หากผู้ปกครองละเลย แค่อีกไม่กี่ขีด มันอาจส่งผลเสียให้พวกเขาได้ในอนาคต   

          เมื่อรู้แล้ว เรามาดูเทคนิคการรับมือ จัดการกับเด็กดื้อ ไม่ให้เข้าสู่พฤติกรรมก้าวร้าวไปมากกว่าเดิม

 

1. ต้องรับฟังให้มากที่สุด

          เวลาที่ลูกอยากเล่า อยากบอกอะไรให้ฟังพ่อแม่ควรรับฟังเขาอย่างตั้งใจ ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ไม่ใช่พอลูกเริ่มเล่า พ่อแม่ก็ดักคอไว้ ไม่เห็นด้วยก็สั่งสอน ดุว่า หรือว่าทำโทษทันที คิดวิตก หมกมุ่นอยู่กับเรื่องไม่ดีของเด็ก เอาแต่บ่น ตำหนิ และทำโทษ  เด็กส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาขัดแย้ง ตอบโต้ เข้าใจว่าไม่มีใครเข้าใจ และเริ่มมองหาคนอื่น ที่อื่นที่เข้าใจตัวเขามากกว่า

 

2. ใจเย็นนับสิบจนเกินร้อย ให้เด็กเหนื่อยไปเอง

          การรับมือเข้าใจอารมณ์ของเด็ก เวลาที่เขาขยันขัดใจ หรือไม่ทำตามคำสั่ง หรือเวลาให้คำแนะนำ มีเพียงวิธีเดียวคือ ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ไม่เริ่มต้น หรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง  หลายครั้งก็ต้องใจแข็ง เพิกเฉยปล่อยให้ลูกร้องไห้งอแง อาละวาดนานเท่าที่เขาอยากทำ ขอแค่นิ่งไว้ เหมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น เดี๋ยวเขาก็จะเหนื่อย สงบไปเอง  ขณะเดียวกัน การตามใจลูกเสียทุกอย่าง เพียงเพราะไม่อยากได้ยินเสียงร้องไห้งอแง หรือเบื่อการกระทำ ตัดความรำคาญ ขณะที่บางคนอาจหาทางออกด้วยการลงไม้ลงมือ ทำโทษลูกตลอดเวลา มันไม่ช่วยให้ความดื้อของพวกเขาเบาบางลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

 

3. อย่าคาดหวัง หรือตั้งความหวังให้เด็ก        

          อย่าลืมว่าผู้ปกครองยุคใหม่ คุณเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ และให้การสนับสนุน อย่าตั้งเป้าหมาย ความหวัง ความสำเร็จให้กับลูกของคุณ ให้เขาเลือกเอง ตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง โดยมีคุณคอยให้คำแนะนำ หากมีสิ่งที่อยากให้เขาทำตามความหวังของคุณ ให้มั่นใจก่อนว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ อย่าสั่งหรือคาดหวังให้เด็กทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเด็ก  การที่พ่อแม่คาดหวังในตัวเด็กมากเกินไป เด็กทำไม่ได้เครียดขึ้นมา ทำให้เด็กดื้อและต่อต้านโดยการประชดและไม่ทำตามนั่นเอง

 

4. สื่อสารให้ตรงประเด็น เลือกใช้คำที่เหมาะสม

          เวลาที่ต้องการให้ลูกทำสิ่งใดตามที่เราต้องการ หรือจะแนะนำพวกเขา ต้องแน่ใจก่อนว่าเด็กพร้อม และมีสมาธิในการรับฟัง ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเด็กเข้าใจตรงกันกับเราหรือไม่ เลือกใช้คำพูดให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้การสื่อสารผิดพลาด และสามารถปฏิบัติตามได้มากขึ้น  เด็กดื้อหลายคนมักเกิดอาการต่อต้านมากขึ้น เวลาที่ได้ยินผู้ใหญ่ห้ามให้เขาทำอะไรบ่อย ๆ โดยใช้คำว่า “อย่า”  อย่าทำโน้น อย่าทำนี่  เลือกคำพูดดี ๆ ที่ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่ง  หรือให้ทำเดี๋ยวนี้ ในทันที และถึงแม้พวกเขาจะอิดออดไม่ทำตาม ก็ไม่ควรพูดซ้ำ  แล้วซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองหรือสาม  อย่าลืมเด็ก gen z นั้นไม่ชอบการบังคับ แต่พวกเขาก็ยอมรับการมีเหตุและผลที่เพียงพอ

 

5. ฝึกเด็กให้อ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน

          ให้พวกเขาเรียนรู้ซึบซับกับความอ่อนโยนอ่อนน้อม การปฏิบัติตัวที่ดีต่อกันในครอบครัว ให้พวกเขาตระหนักว่า การไม่ใช่เด็กดื้อ ไม่แข็งกร้าวนั้น มีผลดีต่อตัวเขาอย่างไร การเป็นเด็กน่ารัก ใครพบใครเห็นก็จะเมตตาเอ็นดู พร้อมให้การสนับสนุนในทุก ๆ เรื่อง  รวมถึงเรียนรู้ถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่ตัวเขาเป็นศูนย์กลางจักรวาลแต่เพียงผู้เดียว

 

6. ชื่นชม สนับสนุน ให้กำลังใจตลอดเวลา

          การพูดชมเชยไม่ต้องรอจนกว่าเขาจะทำสิ่งยิ่งใหญ่หรือทำสำเร็จ คุณอาจชมทันทีเมื่อเด็กเริ่มทำตามที่คุณบอก หรือตั้งต้นทำกิจกรรมใด ๆ  และชมอีกครั้งเมื่อเด็กทำสิ่งนั้น ๆ สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นงานของเขาเอง หรือเป็นงานที่คุณสั่ง  ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการการชื่นชมและกำลังใจ  และต้องไม่ลืมภาษากาย แสดงความชื่นชมโดยการสัมผัส หอม กอด ลูบหัว มันเป็นความอบอุ่น ที่แสดงถึงความรัก ความห่วงใย ความใส่ใจในตัวเขาของคุณ

 

7. บางเรื่องต้องปล่อยให้ลองผิดลองถูก รับรู้ด้วยตัวเอง

          ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าในบางเรื่อง เด็ก ๆ คิดผิด เลือกผิด แต่ลองให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ  ให้เขาค้นพบว่าเขาผิดด้วยตัวเอง ดีกว่าเราเป็นคนบอก หรือห้ามปรามตั้งแต่เขายังไม่เริ่มทำด้วยซ้ำ  เด็กส่วนใหญ่มักไม่เชื่อตามคำบอกของผู้ใหญ่ จนกว่าจะได้ค้นพบด้วยตัวเอง  เมื่อพวกเขาผิดพลาด ขอเพียงอย่าซ้ำเติม หรือหยิบยกขึ้นมาแบบเป็นตัวอย่างความผิดไปชั่วชีวิต  ให้พวกเขารับรู้ว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ เรียนรู้ และจะไม่ทำผิดแบบเดิมอีก

 

          ความรัก ความเข้าใจ การเอาใจใส่ และความอบอุ่นของครอบครัวยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยลดพฤติกรรมความดื้อในวัยรุ่น ช่วยขัดเกลาทั้งนิสัย อารมณ์ และพฤติกรรม ไม่ให้ก้าวร้าวเกินขอบเขต จนนำไปสู่ความรุนแรง  พวกเขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ผ่านช่วงเวลาไป   เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะเข้าใจความเป็นห่วงของคนที่บ้าน  และกลายเป็นเด็กน่ารัก  ไม่ไปดื้อกับคนอื่น ๆ  อย่างอาจารย์ อย่างแฟน หรือแม้แต่เวลาทำงานกับเจ้านายในอนาคต


                                                                                          อังสนา  ทรัพย์สิน

 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.orghttps://www.familylives.org.uk,  https://www.amarinbabyandkids.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow