Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

19 เรื่องจริงบนดาวอังคาร

Posted By sanomaru | 30 เม.ย. 64
14,983 Views

  Favorite

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หินดวงที่ 4 ในระบบสุริยะ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลทั่วไปมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับโลก และคาดหวังว่าอาจมีน้ำและสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคาร ดังนั้น มาลองทำความรู้จักกับดาวอังคารกันให้มากขึ้นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

1. ดาวอังคารมีความเก่าแก่ใกล้เคียงกับระบบสุริยะ โดยมีอายุยาวนานประมาณ 4.6 พันล้านปีมาแล้ว

 

2. เนื่องจากดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ออกไป 142 ล้านไมล์ หรือประมาณ 227,940,000 กิโลเมตร ดังนั้น อุณหภูมิสูงสุดบนดาวอังคารจึงอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสที่เส้นศูนย์สูตร และที่ขั้วดาวอังคารหนาวเย็นได้ถึง -125 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของดาวอยู่ที่ -63 องศาเซลเซียส

 

3. ชื่อของดาวอังคารหรือมาร์ส (Mars) มาจากชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของชาวโรมัน ผู้มีอำนาจและความยิ่งใหญ่รองจากราชาแห่งทวยเทพซึ่งปกครองเขาโอลิมปัสอย่างจูปิเตอร์เท่านั้น โดยสีแดงของดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ได้มาจากความร้อนระอุของอุณหภูมิบนดาว (เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของดาวอยู่ที่ -63 องศาเซลเซียส) แต่มาจากเหล็กออกไซด์ที่มีอยู่บนดาวในปริมาณมาก ซึ่งยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ว่า เหตุใดดาวอังคารที่แทบจะไม่มีออกซิเจนเลย จึงมีปริมาณเหล็กออกไซด์มากเช่นนี้

 

4. เราสามารถมองเห็นดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับผู้ที่พบเห็นเป็นครั้งแรก แต่ผู้ที่มองเห็นดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์เป็นคนแรก คือ กาลิเลโอ กาลิเลอิ ในปี ค.ศ. 1610

ภาพ : Shuttetstock

 

5. ดาวอังคารมีปริมาตรเพียง 15% ของโลก หรือประมาณ 1/6 เท่าของโลก และมีมวลเพียง 10% ของโลกเท่านั้น โดยดาวอังคารมีรัศมี 3,396.2 กิโลเมตร มีปริมาตร 16.318x10^10 ลูกบาศก์กิโลเมตร และมีมวล 6.4x1023 กิโลกรัม

 

6. ดาวอังคารมีมวลน้อยกว่าโลกมาก ดังนั้น แรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดบนดาวอังคาร จึงมีน้อยกว่าโลกด้วย และนั่นเป็นข่าวดีที่ว่า หากต้องการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เราสามารถขึ้นไปชั่งน้ำหนักบนดาวอังคารได้ เพราะหากน้ำหนักบนโลกอยู่ที่ 60 เมื่อไปชั่งบนดาวอังคาร น้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 23 กิโลกรัมเท่านั้น โดยสามารถหาน้ำหนักของเราบนดาวอังคารได้จากสูตร (น้ำหนัก/9.81) x 3.711

 

7. เวลา 1 วันบนโลกกับ 1 วันบนดาวอังคาร มีระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก โดย 1 วันบนดาวอังคาร เรียกว่า Sol ซึ่งมีประมาณ 24 ชั่วโมง 39 นาที 35.244 วินาที ตามเวลาโลก

 

8. ดาวอังคารเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 24 กิโลเมตรต่อวินาที และใช้เวลา 687 วันของโลกในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่า เวลา 1 ปีบนดาวอังคาร เท่ากับ 687 วันของโลกนั่นเอง

 

9. บนดาวอังคารมีฤดูกาลคล้ายกับโลก เพราะดาวอังคารเอียงแกนทำมุม 25.19 องศา ซึ่งใกล้เคียงกับแกนของโลกที่เอียงอยู่ประมาณ 22.5 องศา แต่ระยะเวลาของแต่ละฤดูกาลนั้นยาวนานกว่าโลกถึงสองเท่า

 

10. โครงสร้างของดาวอังคาร แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ 1) แกนกลาง (Core) ประกอบไปด้วยเหล็ก นิกเกิล และกำมะถันหนาแน่น มีขนาดรัศมีอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,100 กิโลเมตร 2) เนื้อดาว (Mantle) ประกอบด้วยซิลิกอนและออกซิเจนล้อมรอบแกนกลาง มีความหนาประมาณ 1,240-1,880 กิโลเมตร 3) ชั้นเปลือกนอกของดาว (Crust) ประกอบไปด้วย เหล็ก แมกนีเซียม อะลูมิเนียม และโพแทสเซียม ซึ่งมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 10-50 กิโลเมตร

 

11. พื้นผิวของดาวอังคารปกคลุมไปด้วยภูเขา ภูเขาไฟ และแคนยอน และ Olympus Mons ก็เป็นภูเขาที่สูงที่สุดบนดาวอังคาร รวมถึงสูงที่สุดในระบบสุริยะด้วย โดยมีความสูง 21 กิโลเมตร ซึ่งสูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกประมาณ 12 กิโลเมตร วางตัวอยู่บริเวณซีกตะวันตกของดาวอังคาร

ภาพ : Shutterstock


12. ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีความกดอากาศค่อนข้างต่ำ โดยเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 95% ไนโตรเจน 3% ส่วนอาร์กอนและธาตุอื่น ๆ รวมถึงออกซิเจนมีอยู่ประมาณ 1.6% ดังนั้น มนุษย์อย่างเราจึงไม่สามารถหายใจได้เมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

 

13. ยานสำรวจคิวริโอซิตี (Curiosity Rover) ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคาร ตรวจพบก๊าซมีเทนที่มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ที่มันสำรวจ ซึ่งก๊าซมีเทนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุของจุลินทรีย์ นั่นจึงยังเป็นข้อสงสัยและนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงพยายามหาคำตอบว่า ก๊าซมีเทนเหล่านี้มาจากไหนกันแน่

 

14. วงโคจรองดาวอังคารรอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ได้เป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์แบบ มันเป็นวงโคจรที่บิดเบี้ยวคล้ายลักษณะของไข่ไก่มากกว่า และนั่นทำให้ระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์ถึงดาวอังคารหรือแม้แต่ดาวอังคารกับโลกมีระยะที่ไม่แน่นอน โดยระยะที่ดาวอังคารใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือ 206 ล้านกิโลเมตร และไกลดวงอาทิตย์ที่สุดคือ 249 ล้านกิโลเมตร ส่วนระยะที่ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด คือ 54.6 ล้านกิโลเมตร และไกลโลกที่สุดคือ 400 ล้านกิโลเมตร

ภาพ : Shutterstock

 

15. ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 2 ดวง คือ โฟบอส (Phobos) ซึ่งหมายถึงความหวาดกลัว และไดมอส (Deimos) ซึ่งหมายถึงความตื่นตระหนก ทั้งสองถูกตั้งชื่อตามชื่อของเทพเจ้าโรมันซึ่งเป็นลูกแฝดของเทพเจ้ามาร์ส ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1877 โดยนักดาราศาสตร์ที่ชื่อว่า Asaph Hall

 

16. โลกของเรามีสนามแม่เหล็กที่เกิดจากเส้นแรงแม่เหล็กพุ่งจากขั้วโลกใต้ (ขั้วเหนือแม่เหล็ก) ไปสู่ขั้วโลกเหนือ (ขั้วใต้แม่เหล็ก) ซึ่งสนามแม่เหล็กนี้ช่วยปกป้องโลกจากอันตรายที่มาจากนอกโลก เช่น ลมสุริยะ รังสีนอกโลกต่าง ๆ ในขณะที่ดาวอังคารไม่มีสนามแม่เหล็ก แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ดาวอังคารอาจเคยมีสนามแม่เหล็กอยู่ที่ใดที่หนึ่งเมื่อประมาณสี่พันล้านปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด

 

17. แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ จะคาดหวังว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร แต่แท้จริงแล้ว ดาวอังคารก็มีความโหดร้ายที่คาดไม่ถึงแฝงอยู่ อย่างพายุฝุ่นขนาดใหญ่ ซึ่งมาจากกระบวนการที่เรียกว่า "สปัตเตอริง (sputtering)" เกิดขึ้นเมื่อไอออนถูกลมสุริยะพัดพาอะตอมออกจากชั้นบรรยากาศไปสู่อวกาศ และพายุฝุ่นบนดาวอังคารนี้ก็นับเป็นพายุฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

 

18. การแข่งขันส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจบนดาวอังคารยังคงมีต่อเนื่อง โดยประเทศแรกที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปบนดาวอังคารก่อนคือ สหภาพโซเวียต แต่ภารกิจกลับไม่ลุล่วง และสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศต่อมาที่มีความพยายามจะส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร และทำได้สำเร็จในปี 1965 ซึ่งยานนี้มีชื่อว่า มาริเนอร์ 4 (Mariner 4) มันเข้าใกล้ดาวอังคารและถ่ายภาพส่งกลับมาเป็นผลสำเร็จ

ภาพ : Shutterstock

 

19. หากต้องการจะเดินทางไปเที่ยวที่ดาวอังคาร เราจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เป็นคำถามที่อาจจะตอบเฉพาะเจาะจงได้ยาก เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระยะทางจากโลกถึงดาวอังคารที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบคงที่อยู่ตลอด หรือศักยภาพของยานอวกาศ รวมทั้งแผนการเดินทางด้วย อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปถึงดาวอังคารที่เร็วที่สุดคือ การเดินทางของยานมาริเนอร์ 7 (Mariner 7) ในปี ค.ศ. 1969 โดยใช้เวลา 128 วันเท่านั้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow