1. ลำเลียงสาร มีไขมันบางส่วนจากอาหารในลำไส้ที่ถูกระบบน้ำเหลืองดูดซับ ซึ่งระบบน้ำเหลืองจะลำเลียงสารอาหารที่เป็นไขมันเหล่านี้เพื่อส่งคืนกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด นอกจากนี้ยังลำเลียงสารอาหารหรือของเสียที่มีโมเลกุลใหญ่จากช่องว่างระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อ (intercellular space) ไปตามท่อน้ำเหลืองและจะถูกคัดกรองที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงการลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะจัดการกับเชื้อโรคไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
2. ลำเลียงของเหลวกลับสู่ระบบหมุนเวียนเลือด บริเวณรอบ ๆ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ จะมีของเหลวส่วนเกินซึ่งถูกแรงดัน (Hydrostatic pressure) ดันออกมาจากหลอดเลือดฝอย (Capillary) ระบบน้ำเหลืองจะทำหน้าที่ลำเลียงของเหลวส่วนเกินนี้กลับทางท่อน้ำเหลืองและกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือดอีกครั้ง โดยลำเลียงส่งไปทางระบบน้ำเหลืองตามลำดับ ดังนี้ Intercellular fluid (ช่องว่างระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อ) ---> lymph capillary (ท่อน้ำเหลืองฝอย) ---> lymph vessels (ท่อน้ำเหลือง) ----> Rt. Lymphatic duct (ท่อน้ำเหลืองจากแขนขวาและศรีษะซีกขวา) และ Thoracic duct (ท่อน้ำเหลืองจากแขนซ้ายและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย) ---> Right Subclavian Vein และ Left Subclavian Vein (หลอดเลือดดำ) ซึ่งการลำเลียงของเหลวส่วนเกิดกลับนี้จะช่วยให้ร่างกายยังคงรักษาสมดุลปริมาตรและความดันของเลือดในระดับปกติไว้ได้ และยังป้องกันการบวมน้ำจากการสะสมของเหลวส่วนเกินรอบ ๆ เนื้อเยื่ออีกด้วย
3. จัดการกับเชื้อโรค เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก หรือแม้แต่เศษซากเซลล์ที่เสียหายหรือตายแล้ว ระบบน้ำเหลืองจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งโดยการกรองที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้นเพื่อมากำจัดเชื้อโรค
โครงสร้างของระบบน้ำเหลือง ประกอบไปด้วย น้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง อวัยวะน้ำเหลือง
1. น้ำเหลือง (Lymph) เป็นส่วนที่มาจากพลาสมา มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ประกอบไปด้วย น้ำ โปรตีน เกลือ กรดไขมัน เม็ดเลือดขาว และสารอื่น ๆ ที่ต้องลำเลียงกลับไปยังระบบหมุนเวียนเลือด ผ่านทางท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือด น้ำเหลืองจะมีทิศทางการไหลเพียงทิศทางเดียว คือ ทิศทางไปยังลำคอ โดยท่อน้ำเหลืองจะเชื่อมต่อกับเส้นเลือดดำที่ชื่อว่า ซับคลาเวียน (Subclavian Vein) และของเหลวจากท่อน้ำเหลืองจะกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด
2. ท่อน้ำเหลือง (Lymphatic Vessels) ท่อน้ำเหลืองพบได้ทั่วไปในร่างกายของเรา มีลักษณะคล้ายกับเส้นเลือดดำและเส้นเลือดฝอยในระบบหมุนเวียนเลือด และมีลิ้นปิดเปิดเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลืองจะวางตัวขนานกับหลอดเลือดและคอยนำของเหลวส่วนเกินที่อยู่รอบ ๆ เนื้อเยื่อกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด โดยท่อน้ำเหลืองจากบริเวณต่าง ๆ จะค่อย ๆ รวมกันเป็นท่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ลำเลียงของเหลวผ่านต่อมน้ำเหลืองเพื่อกรองเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อนจะระบายน้ำเหลืองเข้าสู่เส้นเลือดดำที่ชื่อว่า Right Subclavian Vein และ Left Subclavian Vein บริเวณใกล้หัวใจ
3. อวัยวะน้ำเหลือง
- ต่อมน้ำเหลือง (Lymph nodes) เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับท่อน้ำเหลือง ในร่างกายของคนเรามีต่อมน้ำเหลืองอยู่ประมาณ 700 ต่อม พบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณลำคอลงไปจนถึงเข่า โดยเฉพาะบริเวณใต้วงแขน ขาหนีบ หรือข้อพับ ซึ่งจะเชื่อมต่อกันเป็นกลุ่มหรือสายโซ่ ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ ใกล้กับหลอดเลือด ทำหน้าที่กรองน้ำเหลืองที่มีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เศษซากของเซลล์ที่ตายแล้ว ก่อนจะลำเลียงน้ำเหลืองกลับเข้าสู่เส้นเลือดดำ นอกจากนี้ ต่อมน้ำเหลืองยังสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ชนิด T-Cell และ B-Cell ซึ่งดักจับและทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้
หากมีเศษซากของเซลล์ที่ตายแล้วหรือเชื้อโรคถูกลำเลียงผ่านต่อมน้ำเหลือง พวกมันจะตรวจสอบและมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองบวมหรือโตขึ้นนั่นเอง
- ต่อมไทมัส (Tymus) เป็นอวัยวะน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณหลังกระดูกหน้าอก เหนือหัวใจ ทำหน้าที่สำคัญคือ เก็บเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ยังไม่โตเต็มที่ และหลังฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการแบ่งเซลล์เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ชนิด T-Cell และปรับสภาพให้เจริญเติบโตได้เต็มที่ เพื่อช่วยจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์มะเร็ง
- ม้าม (Spleen) เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในระบบน้ำเหลือง อยู่บริเวณข้างซ้ายใต้กระเพาะอาหาร เหนือไต ทำหน้าที่ทั้งเก็บสะสมและทำลายเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่หมดอายุโดยวิธีฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis) ซึ่งทำให้สามารถควบคุมและเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างรวดเร็วหากมีการสูญเสียเม็ดเลือดแดงไป
นอกจากนี้ม้ามยังช่วยคัดกรองเลือด เศษซากเซลล์ รวมถึงเชื้อโรค และทำหน้าที่คล้ายกับต่อมไทมัส คือ สร้างและช่วยในการเจริญเติบโตของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ทำลายเชื้อโรคและเซลล์ที่ตายแล้วที่อยู่ในเลือด หากม้ามตรวจจับพบแบคทีเรีย ไวรัส หรือจุลชีพที่มีอันตรายในเลือดหรือตามต่อมน้ำเหลือง มันก็จะสร้างเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์มาต่อสู้กับผู้รุกราน และหยุดการแพร่กระจายเชื้อ หากสูญเสียม้ามไปจากโรคร้ายหรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เราก็ยังคงมีชีวิตต่อไปได้ แต่จะติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติที่ยังมีม้ามอยู่
- ต่อมทอนซิล (Tonsils) อยู่บริเวณหลังลำคอ เปรียบเสมือนต่อมน้ำเหลืองต่อมหนึ่ง โดยเป็นด่านแรกของระบบภูมิคุ้มกันที่คอยดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ทางเดินอาหารผ่านปาก และทางเดินหายใจผ่านจมูก ต่อมทอนซิลเป็นที่อยู่ของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์และแมกโครฟาจ หากมีการเพิ่มขนาดของต่อมทอนซิลอาจจะทำให้นอนกรนหรือหายใจลำบากได้
นอกจากอวัยวะน้ำเหลืองที่กล่าวมาแล้ว ยังมีไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่นิ่มและยืดหยุ่น อยู่ภายในกระดูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดด้วย จึงนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน เม็ดเลือดขาวที่ไขกระดูกสร้างขึ้น บางชนิดก็เติบโตในไขกระดูก ขณะที่ลิมโฟไซต์บางชนิดจะย้ายไปยังอวัยวะน้ำเเหลือง เช่น ม้ามหรือต่อมไทมัส เพื่อให้เม็ดเลือดขาวเติบโตและทำงานได้อย่างเต็มที่
ส่วนใหญ่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบน้ำเหลืองก็คือ 1) ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของต่อมน้ำเหลืองจากการสร้างเม็ดเลือดขาวมาต่อต้านเชื้อโรคจำนวนมาก หรือต่อมน้ำเหลืองอุดตัน 2) มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเหลือง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์เพิ่มมากเกินไปอย่างผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถรักษาได้โดยการให้คีโม การฉายรังสี การผ่าตัด หรือทั้งสามการรักษาร่วมกัน