Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์

Posted By Plook Magazine | 30 เม.ย. 64
14,966 Views

  Favorite

แม้ใครหลายคนจะขนานนามว่าประเทศไทยคือผืนดินแห่งความเมตตากรุณา แต่ก็ยังมีเหตุการณ์อาชญากรรมให้เห็นกันทุกวี่ทุกวัน รุนแรงถึงขนาดที่ทำให้บางคนต้องอุทานว่า “นี่หรือเมืองพุทธ” เช่น คดีการล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำความรุนแรงกับเยาวชน ฯลฯ แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อก็ว่าแย่แล้ว แต่หลายครั้งเหยื่อมักถูก “สังคมแห่งความเมตตากรุณา” ซ้ำเติมเข้าไปอีกผ่านการกล่าวโทษเหยื่อหรือที่เรียกว่า Victim Blaming

 

 

cr: www.freepik.com

 

นิยามคร่าว ๆ ของคำว่า victim blaming คือการที่เหยื่อของอาชญากรรมหรือการกระทำผิดถูกกล่าวโทษว่ามีส่วนหรือเป็นต้นเหตุทั้งหมดของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้วยคำนิยามนี้หลายคนคงตั้งคำถามทำนองว่า
 

“จะมีใครสติดีที่ไหนไปซ้ำเติมเหยื่อขนาดนั้น”

“คนที่ควรได้รับการลงโทษคือผู้กระทำผิดไม่ใช่หรือ”

“ควรให้กำลังใจเหยื่อมากกว่ามานั่งประณามเขาหรือเปล่า”
 

แน่นอนว่ามันควรเป็นอย่างนั้น แต่ที่เกิดขึ้นหลายครั้งกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม เพื่อให้เห็นภาพ เราไปดูตัวอย่างกันว่าการกล่าวโทษเหยื่อหรือ victim blaming มักจะเกิดขึ้นตอนไหน ขอบอกก่อนเลยว่าอาจเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละที่ไปซ้ำเติมเหยื่อโดยไม่ทันรู้ตัว หรือร้ายหนักกว่านั้นคือทำไปทั้ง ๆ ที่รู้ตัว

 

 

กรณีการล่วงละเมิดทางเพศ

หลายต่อหลายครั้งที่เหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศมักถูกกล่าวหาว่ามีส่วนหรือเป็นต้นตอทั้งหมดที่นำไปสู่การล่วงละเมิดนั้น ๆ ผ่านคำถามยอดฮิต เช่น 

“แต่งตัวโป๊หรือเปล่า” 

“ดื่มหรือเปล่า” 

“เสพยาหรือเปล่า” 

“ทำไมไม่สู้” 

“เดินในที่เปลี่ยวทำไม” 

“ออกไปทำอะไรดึกดื่น” 

“ให้ท่าเขาหรือเปล่า” 

 

ที่น่าสงสัยคือใครจะไปใจดำตั้งคำถามที่ซ้ำเติมเหยื่อแบบนี้ ถ้าดูจากตัวอย่างในอดีตก็จะพบว่าทุกภาคส่วนของสังคม (ไม่ใช่ทุกคน) นี่แหละที่รุมกันตั้งคำถามแบบนี้ กล่าวคือตั้งแต่ตัวผู้กระทำ ประชาชน สื่อ กระบวนการยุติธรรม หรือแม้กระทั่งคนรอบตัวของเหยื่อเอง 

 

การที่เหยื่อเป็นฝ่ายถูกสังคมตั้งคำถามแบบนี้ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดที่ว่าเราทุกคนสามารถลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่เหตุการณ์อันน่าสลดใจได้ เพราะแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญารู้จักหักห้ามใจตนเอง แต่ก็ยังมีสัญชาตญาณดิบที่อาจเผยขึ้นมาเมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าต่าง ๆ จึงเป็น ‘หน้าที่’ ของเราทุกคนที่จะต้องไม่สร้างสิ่งเร้าหรือเปิดโอกาสให้ผู้ล่าลงมือกระทำการใด ๆ ได้ เช่น ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่เดินที่เปลี่ยวยามดึก ฯลฯ สำหรับผู้หญิงแล้วหน้าที่เหล่านี้แหละที่สร้าง ‘กรอบความเป็นกุลสตรี’ ขึ้นมา ซึ่งถ้าทำอะไรที่หลุดไปจากกรอบนี้และถูกล่วงละเมิดขึ้นมา ก็คงไม่พ้นที่จะถูกสังคมตั้งคำถามให้รู้สึกด้อยค่าลงกว่าเดิม

 

“การผลักภาระและความผิดไปยังเหยื่อ
คือการลดทอนความรุนแรงและสร้างความชอบธรรม
ให้กับสัญชาตญาณดิบของผู้กระทำ”

 

แน่นอนว่าหลักการเรื่องหน้าที่และกรอบวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย จึงทำให้แนวคิดประมาณนี้แพร่หลายอย่างมากในสังคม แต่เพราะที่มันเข้าใจง่ายนี่แหละจึงนำไปสู่การยัดเยียดภาระหน้าที่และความรับผิดไปที่ผู้ถูกกระทำอย่างมักง่าย การผลักภาระและความผิดไปยังเหยื่ออีกด้านหนึ่งคือการลดทอนความรุนแรงและสร้างความชอบธรรมให้กับ ‘สัญชาตญาณดิบ’ ของผู้กระทำไปโดยปริยาย

 

cr: www.freepik.com

 

คำถามคือถ้าสัญชาตญาณดิบได้รับความชอบธรรม แล้วการกระทำของตัวอาชญากรจะได้รับความชอบธรรมในสายตาของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยหรือไม่ เพราะถ้าพูดกันให้ถึงที่สุดการล่วงละเมิดเกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาที่ผู้ละเมิดตัดสินใจกระทำการละเมิด ไม่ใช่จังหวะที่เหยื่อเลือกสวมเสื้อน้อยชิ้น ดื่มแอลกอฮอล์ ออกไปเที่ยวยามราตรี หรือเดินในที่เปลี่ยวที่รัฐไม่ได้ติดโคมไฟบนถนนไว้


การไม่ยินยอมและสถานะการเป็นผู้เยาว์ก็เป็นอีกด่านที่มักถูกละเลยเช่นกัน พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอีกฝ่ายคือผู้เยาว์คำตอบก็คือไม่ หรือแม้อีกฝ่ายจะบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ถ้าบอกว่าไม่ก็คือไม่ ถ้าไม่ตอบสนองก็เท่ากับไม่ยินยอม ไม่ว่าจะเป็นคู่รักกันมาแต่ชาติปางก่อน ‘ไม่ก็คือไม่’ กรณีการกล่าวโทษผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศคือตัวอย่างคลาสสิกที่ไม่ควรสืบสานความคลาสสิกนี้ต่อไป และสังคมควรเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้กันได้แล้ว

 

 

ขึ้นชื่อว่าเป็นเหยื่อจะแบบไหนก็อาจถูกกล่าวโทษซ้ำ

ถ้าการตั้งคำถามจากสังคมมันบิดเบี้ยว ไม่ว่าจะตกเป็นเหยื่อในกรณีไหนก็อาจถูกกล่าวโทษซ้ำเติมได้ ไม่เฉพาะแค่กรณีการล่วงละเมิดทางเพศ แต่รวมถึงกรณีความรุนแรงอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

 

การล่วงละเมิดทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกายและจิตใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน ซึ่งเท่ากับว่าผู้กระทำและเหยื่ออาจเป็นใครจากสถาบันทางสังคมไหนก็ได้ ไม่เว้นสถาบันครอบครัวหรือพื้นที่ในบ้านที่มักถูกยกให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด หรือสถานบันการศึกษาที่ควรจะเป็นอีกพื้นที่ที่เยาวชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย แต่เราก็มักจะเห็นข่าวการล่วงละเมิดใน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เหล่านี้อยู่เสมอ

 

cr: www.freepik.com
 

นอกเหนือจากการล่วงละเมิดทางเพศภายในรั้วสถาบันการศึกษาแล้ว ก็ยังมีการล่วงละเมิดประเภทอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การกล่าวโทษเหยื่ออีกมากมาย เช่น กรณีที่นักเรียนทำผิดกฎระเบียบแล้วถูกลงโทษแรงเกินกว่าเหตุ

 

วิธีการลงโทษภายในสถาบันการศึกษาสะท้อนถึงความครีเอทีฟที่ผิดที่ผิดทาง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้คัดหนังสือทั้งเล่มเพื่อแก้เกรด การกล้อนผม การเฆี่ยนตี การดุด่าว่าทอที่อาจข้ามเส้นจนกลายเป็นการกดขี่ทางอารมณ์ แม้ว่าเหล่าครูบาอาจารย์ที่ลงโทษเกินกว่าเหตุจะถูกว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่หันไปกล่าวโทษนักเรียนว่าเป็นต้นตอของเรื่องเพราะไปละเมิดกฏระเบียบเองตั้งแต่แรก ในสายตาของคนกลุ่มนี้การลงโทษต่าง ๆ จึงทำได้เพื่อที่จะให้นักเรียนนักศึกษาอยู่ภายใต้ ‘กรอบนักเรียนดี’

 

นอกจากนักเรียนนักศึกษา ประชาชนพลเมืองทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น ๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวประชาชนถูกมองว่าหลุดออกจาก ‘กรอบพลเมืองดี’ ซึ่งในกรณีนี้มักถูกตีตราว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นตัวป่วนของบ้านเมือง ดังนั้นไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะกระทำการรุนแรงผิดหลักสากลแค่ไหนก็ถือว่ารับได้ และมักจะมีการกล่าวโทษหรือซ้ำเติมเหยื่อ เช่น “โดนบ้างก็ดีแล้วจะได้จำ” หรือที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตก็คือ “ตายไปก็ดีจะได้ไม่หนักแผ่นดิน”

 

cr: www.freepik.com
 

การกล่าวโทษเหยื่อยังมีอีกหลายกรณีที่เราอาจจะหลงลืมไป เช่น เหยื่อของการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพที่บกพร่อง โดยเฉพาะในกรณีการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ ตัวอย่างคือการศัลยกรรมใบหน้า ที่ไม่ว่าจะมีการฟ้องร้องกันจนเหยื่อได้รับค่าชดเชยหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อย ๆ คือคำซ้ำเติมจากสังคมหรือคนรอบข้างทำนองว่า “รู้ว่าเสี่ยงแล้วไปทำทำไม” “ไม่น่าไปทำเลย หน้าเดิมก็ดีอยู่แล้ว” “ทำออกมาแล้วน่าเกลียดกว่าเดิมอีก” ฯลฯ

 

จากรณีตัวอย่างทั้งหมดเราจะเห็นว่าการกล่าวโทษเหยื่อนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมเหยื่อแล้ว มันก็เหมือนกับเป็นข้อแก้ต่างให้กับผู้กระทำผิดไปโดยปริยาย ประหนึ่งว่าเหยื่อมีส่วนที่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

คำถามคือการที่สังคมให้น้ำหนักกับการกล่าวโทษเหยื่อเช่นนี้มันจะนำสังคมไปทางไหน

...ดีขึ้นหรือเสื่อมลง ?

 

 

คนรอบข้าง สื่อ และกระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้ข่มขืนซ้ำ

แม้ผู้กล่าวโทษเหยื่ออาจมีเจตนาในเชิงตักเตือนเหยื่อให้ปรับพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำสอง แต่หารู้ไม่ว่านั้นแหละคือการทำให้เหยื่อตกอยู่ในสภาวะของการถูกกระทำซ้ำ (Secondary Victimization)

 

“การข่มขืนซ้ำ คือการที่ทำให้เหยื่อตกอยู่ในสภาวะ
ที่ต้องรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วต้องมาบอบช้ำซ้ำสอง”

 

การกระทำซ้ำ หรือในกรณีของการล่วงละเมิดทางเพศที่มักเรียกว่า “การข่มขืนซ้ำ” คือการที่ทำให้เหยื่อตกอยู่ในสภาวะที่ต้องรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วต้องมาบอบช้ำซ้ำสอง (re-traumatization) ซึ่งการกล่าวโทษเหยื่อนี่แหละคือข้อต่อสำคัญที่นำไปสู่การกระทำซ้ำ จากตัวอย่างมากมายที่กล่าวไปจะเห็นว่าผู้กระทำซ้ำคือคนรอบข้างของเหยื่อและประชาชนทั่วไป แต่ไม่หมดแค่นั้นเพราะสื่อและกระบวนการยุติธรรมก็มักจะร่วมวงในการกระทําชําเราเหยื่อซ้ำสองด้วยเช่นกัน

 

การที่สื่อมวลชนและคนทั่วไปแห่กันลงภาพใบหน้าของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมกับบรรยายรายละเอียดของเหตุการณ์จนเกินความจำเป็น หรือในกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่อาจขะมักเขม้นกับการเฟ้นหาคำตอบจนละเลยความบอบช้ำของเหยื่อ ทำให้เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อต้องกลับไปอยู่ในฝันร้ายที่เกิดขึ้นจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่แย่ไปกว่านั้นคือการตั้งคำถามเชิงกล่าวโทษ ที่อาจทำให้เหยื่อหันมาโทษตัวเองและผลักให้คน ๆ หนึ่งตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ถ้าหากการกล่าวโทษเหยื่อและการกระทำซ้ำสร้างความทุกข์ให้กับเหยื่ออย่างแสนสาหัส แล้วทำไมสังคมยังปฏิบัติเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ

 

cr: www.freepik.com

 

เหยื่อในอุดมคติ

หากดูจากตัวอย่างในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การทำโทษภายในรั้วโรงเรียน การปราบปรามพลเมือง จะพบว่าการกล่าวโทษมักเกิดขึ้นเมื่อเหยื่อถูกมองว่าได้ก้าวล่วง ‘กรอบ’ อะไรบางอย่าง เช่น กรอบกุลสตรี (หลายครั้งกรอบนี้ก็ใช้อธิบายไม่ได้เพราะเหยื่อได้ปฏิบัติตามกรอบอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังถูกละเมิดในที่สุด) กรอบนักเรียนดี กรอบพลเมืองดีของรัฐ ซึ่งก่อนที่จะไปอธิบายว่ากรอบเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากอะไร เราไปดูกันก่อนว่าเหยื่อแบบไหนที่จะไม่ถูกกล่าวโทษหรือกระทำซ้ำ

 

“เหยื่อที่มักจะไม่ถูกกล่าวโทษคือเหยื่อที่อยู่ภายในกรอบที่สังคมกำหนดที่เรียกกันว่า
เหยื่อในอุดมคติ หรือ Ideal Victim”

 

ในเมื่อการกล่าวโทษมักเกิดขึ้นกับเหยื่อที่ถูกมองว่าไม่ปฏิบัติตามกรอบของสังคม กลับกันเหยื่อที่มักจะไม่ถูกกล่าวโทษคือเหยื่อที่อยู่ภายในกรอบที่สังคมกำหนดที่เรียกกันว่า ‘เหยื่อในอุดมคติ’ หรือ Ideal Victim

 

เหยื่อในอุดมคติคือเหยื่อที่ถูกมองว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ  เช่น ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เดินในที่เปลี่ยวยามดึก ปฏิบัติตามกฏระเบียบของโรงเรียน ไม่ออกมาเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ในแง่หนึ่ง นิยามเรื่องความเป็นเหยื่อในอุดมคติได้เบียดขับให้เหยื่อที่ไม่เข้ากรอบนี้กลายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดไปเสียอย่างนั้น

 

 

คดีพลิก: จากเหยื่อกลายเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

การที่สังคมและกระบวนการยุติธรรมหันมาให้ความสนใจ (ไม่ใช่เห็นใจ) กับเหยื่อของเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้เป้าแห่งการถกเถียงเบี่ยงเบนไปยังเหยื่อแทนผู้กระทำ สิ่งที่ตามมาคือคำอธิบายว่าต้นตอไม่ได้จากผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่เหยื่อเองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ผลก็คือความรุนแรงของการกระทำนั้นจะถูกลดทอนลง ทำนองว่าเจ้าหน้าที่ต้องลงมือลงไม้กับประชาชนเพราะถูกยั่วยุ ที่เกิดเหตุการณ์ข่มขืนเพราะต่างคนต่างดื่มหนัก ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายแต่ก็เข้าใจได้ การกล่าวโทษเหยื่อและการกระทำซ้ำจึงทำให้เหยื่อตกอยู่ในสถานะประหนึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดในเหตุการณ์นั้น ๆ

 

cr: www.freepik.com

 

ต้อนคนเข้า ‘กรอบ’ ด้วยการเฆี่ยนตี

เราจะเห็นว่าการที่เหยื่อถูกกล่าวโทษก็เพราะไม่ได้เป็นเหยื่อในอุดมคติ หรือไม่ได้มีลักษณะตามกรอบของสังคม กรอบที่ว่านี้มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมและชุดความคิดที่ฝังลึกอยู่ในสังคม มันได้เข้าไปจัดระเบียบหรือมีอิทธพลทางความคิดของคนในสังคม แล้วถ้ามีคนไปสมาทานชุดความคิดใดชุดหนึ่งมาก ๆ กรอบความคิดนั้นจะยิ่งทรงพลังในการกำหนดหรือตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคม

 

กรอบความคิดที่เข้ามากำหนดบทสนทนาในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศคือกรอบความเป็นกุลสตรี ที่พร่ำสอนว่าผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย ไม่ต่อล้อต่อเถียง รักนวลสงวนตัว ห้ามเที่ยวเตร่ยามราตรี ฯลฯ ซึ่งได้รับอิทธิพลอีกทอดหนึ่งมาจาก ‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่’ ในแง่ที่เข้ามากำหนดบทบาทและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ร่างของผู้หญิงภายในสังคมที่ชายเป็นใหญ่จึงเปรียบเสมือน ‘ร่างกายภายใต้บงการ’ ยิ่งกว่านั้นในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ กระบวนการยุติธรรมก็มักมีสภาพที่ชายเป็นใหญ่ตามไปด้วย เห็นได้จากการยอมรับความสามารถของผู้ชายมากกว่า ในวงการจึงมีบุคลากรที่เป็นผู้ชายมากกว่า ทำให้ผู้ชายที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อาจเผลอ (หรือตั้งใจ) ถามคำถามที่แทงใจดำเหยื่อที่เป็นผู้หญิง ด้วยคำถามเช่นว่า “วันที่เกิดเหตุคุณแต่งตัวอย่างไร”

 

ในกรณีของเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่มักถูกกล่าวโทษเมื่อมีความประพฤติไม่ตรงตามกฎระเบียบที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมาจากกรอบความคิดเกี่ยวกับระบบอาวุโส ที่สอนว่าเด็กต้องรู้จักฟังผู้ใหญ่เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนจึงย่อมรู้ผิดชั่วชอบดีมากกว่า ดังนั้นแม้เด็กจะโดนกล้อนผมจนอับอายขายขี้หน้าเพียงใด ในสายตาของผู้กระทำคือการลงโทษเพื่อให้เด็กรู้จักอยู่ในร่องในรอยของความเป็น ‘เด็กดีในอุดมคติ’ เป็นความหวังดีที่เหล่าคุณครูมอบให้กับเด็ก และเป็นความหวังดีที่ช่วยลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้น เบี่ยงเบนประเด็นไปกล่าวโทษเด็กว่า “กฎระเบียบมีทำไมไม่ปฏิบัติตาม ทีหลังก็ทำตามกฎระเบียบซะนะ”

 

 

ผลพวงแห่งการเฆี่ยนตี

การกล่าวโทษเหยื่อนี้มักเป็นวิถีปฏิบัติที่พบเห็นได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในสังคมที่ชอบปล่อยให้มีการดูถูกดูแคลนคนบางกลุ่มที่มีรูปลักษณ์ภายนอก เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศสภาพ ความคิด หรือพฤติกรรมที่ไม่ตรงตามกรอบหรือบรรทัดฐานของสังคม เอาเข้าจริงการเหยียดคนอื่นก็เท่ากับการลดคุณค่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง แล้วถ้ากลุ่มกระแสหลักไม่สามารถเปลี่ยนให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามค่านิยมของตนได้ ผลที่ตามมาก็คือการผลักไสให้กลุ่มคนที่แตกต่างนี้ออกจากพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ตนดำรงอยู่ เพราะกลัวที่จะมาแปดเปื้อนสังคมอันเป็นที่รักของตนบ้างแหละ ไม่ก็เพราะอคติส่วนตัวบ้างแหละ เมื่อเลยเถิดมาถึงจุดนี้การขีดเส้นแบ่งทางกลุ่มคนหรือชนชั้นก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง

 

สภาวะทางสังคมแบบนี้แหละที่มักมีการกล่าวโทษเหยื่อที่มีพฤติกรรมไม่ตรงตามกรอบ หรือสคริปท์ที่เหล่าผู้กำกับทางวัฒนธรรมยัดเหยียดให้ เพราะตนได้มีอคติกับผู้ที่ไม่ได้เป็นเหยื่อในอุดมคติอยู่ก่อนแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับสังคมลักษณะนี้คือการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มก้อน กีดกัดอีกฝ่ายให้ออกไปจากกลุ่มของตัวเองผ่านการตีตรา (Stigmatization/Labeling) การแบ่งแยก (Discrimination) และการลดค่าความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ซึ่งหากสังเกตดูดี ๆ จะพบว่ากระบวนการเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่มีการกล่าวโทษเหยื่อ 

 

กล่าวโดยสรุปคือแพ็กเกจที่พ่วงมากับการกล่าวโทษเหยื่อมักจะนำไปสู่การตีตรา การแบ่งแยก และการลดค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งการสืบสานวิถีปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปก็เท่ากับเป็นการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมที่ไปกดขี่ข่มเหงทางร่างกายและจิตใจของเพื่อนมนุษย์ เช่น วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ลิดรอนกดขี่เหยื่อผู้หญิง ระบบอาวุโสที่กดให้เด็กอยู่ใต้อาณัติ ระบบอำนาจนิยมกึ่งฟาสซิสต์ (Fascism) ของบางประเทศที่เข้าห้ำหั่นประชาชนอย่างกับผักกับปลา เป็นต้น

 

cr: www.freepik.com
 

คืนค่าความเป็นคนให้กับเหยื่อและตัวผู้กล่าวโทษ

ทางหนึ่งที่จะไม่นำตัวเองไปสู่การกล่าวโทษ ซ้ำเติม และผลักไสเหยื่อจนถึงขั้นเกิดรอยร้าวทางสังคม คือการที่คนรอบข้าง ประชาชนทั่วไป สื่อ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม จะต้องไม่ตั้งคำถามเชิงลบที่แฝงไปด้วยอคติตั้งแต่แรก สำหรับคนที่ได้ซักถามเหยื่อโดยตรงควรใช้คำถามแบบปลายเปิด ไม่กดดันและพุ่งเป้าจนเกินไป เช่น อาจะเริ่มด้วยการถามว่า “อยากจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังไหม” ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหยื่อได้มีโอกาสพูดในมุมของตัวเอง โดยไม่ถูกชี้นำด้วยคำถามปลายปิดอย่างคำถาม “วันที่เกิดเหตุใส่ชุดอะไร”

 

เทคนิคที่จะช่วยให้เรารับฟังเหยื่อมากขึ้นคือ Deep Listening หรือการฟังด้วยหัวใจ วิธีนี้จะช่วยคลายอคติเดิมที่มีอยู่ในใจเราซึ่งมีรากเหง้ามาจากกรอบวัฒนธรรมอย่างที่บอกไปก่อนหน้า การลบอคตินี้จะช่วยให้เราเปิดใจรับฟังเหยื่อได้ดีมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้เหยื่อได้บอกเล่าความทุกข์ของตัวเองได้อย่างอิสระ

 

พร้อมกันนี้เราควรเป็นมิตร ให้กำลังใจและความช่วยเหลือกับเหยื่อ สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ การเอากรอบทางสังคมมาเป็นมาตรวัดคุณค่าในตัวเหยื่อ แล้วตัดสินเหยื่อจากกรอบนี้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับไปข่มเหง กดขี่ และตัดสินลงโทษเหยื่อซ้ำสอง ทั้งนี้ หากเปรียบเปรยว่าการโทษเหยื่อคือวัตถุดิบ แล้วเปรียบสังคมเป็นโรงงาน การไม่ไปกล่าวโทษเหยื่อซ้ำก็เท่ากับการหยุดป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิตเหยื่อทางสังคม พร้อมกันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการคืนค่าความเป็นคนให้กับผู้ถูกกระทำและตัวผู้กล่าวโทษเอง

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 คำพูดทำร้ายจิตใจ & ลดทอนคุณค่าคนอื่น

รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่

พ่อแม่ชอบด่า ไม่ค่อยให้กำลังใจ...จะทำยังไงดี

โดนจับโดนล้วง โดนล่วงละเมิดทางเพศ จะเอาตัวรอดยังไงนะ

วิชาการเอาตัวรอด เมื่อถูกคุกคามทางเพศ

5 ประเด็นสังคมที่วัยรุ่นไม่ควร ignorance ในปี 2020

ไอเดียพูดถึงคนที่เราไม่ชอบยังไง ไม่ให้เป็น ‘Hate Speech’

‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ วิธีบำบัดจิตใจให้ผ่อนคลายจากซีรีส์เกาหลีที่ใช้ได้จริง

16 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ ที่อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ

ครูตีนักเรียนได้ไหม ? ตอบเลยว่าไม่ได้นะ หมดยุคไม้เรียวสร้างคนแล้ว !

ในเมื่อมุกลามกคุกคามทางเพศยังมีคนเล่นอยู่ เราจะรับมือกับมุกลามกยังไงได้บ้าง

 

 

แหล่งข้อมูล
Victimisation and Secondary victimization
Blaming the Victim, Blaming the Student - 101.world
จากวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ สู่วัฒนธรรมการเล่นมุกตลกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ
บทเรียน "ลัลลาเบล" สปอตไลท์ส่องพฤติกรรมชายเป็นใหญ่
How to Avoid Victim Blaming
ปฐมพยาบาล ‘ใจเด็ก’ จากการสลายการชุมนุม
101 In Focus EP.9 : หยุดโทษเหยื่อ หยุดข่มขืนซ้ำ หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง 

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow