Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ

Posted By Plook Magazine | 23 เม.ย. 64
15,628 Views

  Favorite

เคยโดนเพื่อนแกล้งเพราะแค่เป็นเด็กเรียนไหมคะ ? ไม่ก็โดนแผ่รังสีหมั่นไส้ใส่เวลาครูประกาศผลสอบแล้วเราได้คะแนนดีกว่าเพื่อนในห้อง แน่นอนว่าการเจออะไรแบบนี้ทำให้หลายคนเครียด สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราโตมากับค่านิยม "จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย” เพราะไม่มีใครอยากเห็นคนอื่นเด่นเกินว่าซั่น

 

 

 “จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย”
วลีที่ทำให้คนเก่งถูกหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ

 

คนไทยเราโตมากับค่านิยม (Mindset) ที่ว่า การเป็นคนเด่นเกินไป ดีเกินหน้าเกินตาคนอื่น มักจะนำความเดือดร้อนมาให้คน ๆ นั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการโดนนินทา โดนแขวะ โดนแซะหน้าแซะหลังอย่างกะขนมเบื้อง ! จึงทำให้คนเก่ง คนดี คนที่ตั้งใจเรียนมากมายถูกแกล้งจากคนที่มีนิสัยร้อนรนทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นมีผลงานที่ดีกว่า เนื่องจากเขาโตมากับค่านิยมแบบนั้นและอาจจะไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคต

 

The Tall Poppy Syndrome
ดอกใดโดดเด่นต้องโดนเด็ดทิ้ง


แต่ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกนะคะที่มีค่านิยมแบบนี้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า คนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็มีค่านิยมหมั่นไส้คนเก่งเหมือนกัน เรียกว่า “The Tall Poppy Syndrome” โดยเขาเรียกคนที่โดดเด่นเหนือคนอื่น ๆ ในกลุ่มเนื่องจากประสบความสำเร็จมากกว่า รวยกว่า หรือมีชื่อเสียงมากกว่าว่า Tall Poppy (1902) เพราะดอกป๊อปปี้จะโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแนวดิ่ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีดอปป๊อปปี้สูงเด่นเกินหน้าเกินตาดอกป๊อปปี้ดอกอื่น ๆ สิ่งที่คนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์สมัยก่อนทำกันก็คือ ตัดมันทิ้งซะ 

 

นั่นจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมทางสังคมของคนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ไม่ต้องการให้ใครเด่นเกินหน้าใคร ถ้าใครเด่นเกินก็จะถูกกำจัดทิ้งไป กลายเป็นความคิดที่ฝังแน่นอยู่ในระบบวิธีคิดของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงคนไทยด้วยที่ปัจจุบันความคิดนี้ก็ยังไม่หายไป ยกตัวอย่างเช่น KJ Apa นักแสดงชื่อดังจากเรื่อง Riverdale เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาต้องย้ายออกจากประเทศนิวซีแลนด์ไปอยู่อเมริกาเพราะผลกระทบของวัฒนธรรม Tall Poppy Syndrome เช่นกันกับ Chris Hemsworth จากเรื่อง Thor ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาก็กลัว ๆ วัฒนธรรม Tall Poppy Syndrome อยู่เหมือนกัน

 

 

ตอนนี้เราก็คงจะเข้าใจภาพรวมกันมากขึ้นแล้วว่า มนุษย์ไม่ได้มียีนขี้อิจฉามาแต่กำเนิด แต่มันเกิดจากค่านิยมที่เราถูกปลูกฝังกันมา ทางแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือเราควรจะตระหนักอยู่เสมอว่า คนเราทำดีและเก่งได้ คนเราสามารถโดดเด่นกว่าคนอื่นได้ และมันไม่เป็นไร ชีวิตจริงนะไม่ใช่ละครหลังข่าว !

 

มาฝึกให้ตัวเองเป็นมืออาชีพในอนาคตเพราะวัฒนธรรมใดที่มีความอิจฉาเป็นพื้นฐาน ย่อมไม่สามารถพัฒนาคนได้อย่างเต็มที่ และของแบบนี้เราสามารถเรียนรู้กันได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ดังนี้

 

รู้ทันอารมณ์ตัวเอง 

รู้ไว้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดของเรา สงบสติอารมณ์ให้เรารู้ทันอารมณ์ของตัวเองก่อน และหากเพื่อนไม่หยุดก็ให้พูดไปเลยว่า แบบนี้เราไม่ชอบนะ เพื่อให้เพื่อนหยุดสิ่งที่ทำอยู่และเข้าใจว่าต่างคนก็ต่างความคิด และการที่เราทำได้ดีด้วยความพยายามนั้นเป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่เราก็ต้องพูดเพื่อปกป้องความรู้สึกของตัวเองด้วย  

 

ชื่นชมคนที่ทำดี 

ในส่วนของคนที่เคยหมั่นไส้เพื่อนก็ไม่ต้องรู้สึกผิดและให้ปรับตัวใหม่ จากที่เคยแผ่รังสีหมั่นไส้ใส่ก็เปลี่ยนไปเป็นยินดีกับเพื่อน การรู้สึกยินดี แฮปปี้ไปกับความสำเร็จของคนอื่นไม่เพียงแต่ทำให้คนฟังรู้สึกดีแล้ว ทุกครั้งที่เรายินดีกับคนอื่นอย่างจริงใจ มันยังทำให้ความถือตัว (Ego) เราลดลง ทำให้เรามีความสุขง่าย สุขภาพจิตดี ไม่ปลูกฝังความขี้อิจฉาให้ตัวเองอีกด้วย 

 

เข้าหาเพื่อนก่อน 

ลองเป็นฝ่ายเข้าหาเพื่อนก่อน แสดงความจริงใจของเราออกไปให้เพื่อนที่เเซะ ๆ เรารู้สึกว่าการเรียนเก่งของเราไม่ได้เป็นการเอาเปรียบพวกเขานะ เราไม่ได้ขี้อวดหรืออะไรเลย แต่ยินดีที่จะแชร์เทคนิคการเรียนและช่วยเหลือเพื่อนหากเพื่อนต้องการ แสดงจุดยืนว่าเราไม่ได้เก่งแล้วกั๊ก พร้อมช่วยเหลือ ติวโต้รุ่งก็ยังได้ และอย่าลืมให้กำลังใจเพื่อนว่าทุกคนมีจุดเด่นจุดด้อย เพื่อนไม่ได้คะแนนดีในวิชานี้ก็ไม่ได้แปลว่าเพื่อนไม่เก่ง 

 

ปล่อยเขาไปตามน้ำ 

หากเราลองเปิดใจแล้ว เข้าหาดี ๆ ก็แล้ว ให้สบายใจได้ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วนะที่จะแก้ปัญหา หากเพื่อนคนนั้นยังคงแซะเรา หรือยังพร้อมที่จะหมั่นไส้เราอย่างไม่ลดละ นั่นก็แปลว่าปัญหามันอยู่ที่เขาไม่ได้อยู่ที่เรา เพราะบางคนก็แค่นิสัยเสีย และเวลาเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ตัว เพราะเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนใครได้นอกจากเขาจะอยากเปลี่ยนแปลงตัวของเขาเอง
 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน

5 สิ่งเล็ก ๆ ช่วย ‘พัฒนาความกล้าแสดงออก’ ให้ฉันเป็นฉันในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม

วิธีแก้เกมเมื่อ 'โดนบูลลี่' ที่โรงเรียน

เพื่อนที่ดี 4 ประเภทที่คบแล้วชีวิตจะดีขึ้นคูณสอง

รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร

รู้จัก 'Impostor Syndrome' โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง พร้อมเคล็ดลับเอาชนะมัน !

‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ วิธีบำบัดจิตใจให้ผ่อนคลายจากซีรีส์เกาหลีที่ใช้ได้จริง

เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’

แนะนำ 10 หนังสือพลังบวก ที่จะช่วยโอบกอดเราให้เข้มแข็งขึ้น

 

 

แหล่งข้อมูล
- The Tall Poppy Syndrome ดอกใดโดดเด่นต้องโดนเด็ดทิ้ง

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow