Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จักเกมที่ลูกเล่น เพื่อใช้เป็น...ลูกเล่น! เข้าถึงลูก

Posted By Plook TCAS | 19 เม.ย. 64
5,892 Views

  Favorite

          “รู้จักเกม รู้จักลูก” เด็ก Gen Z ยุคดิจิทัล ค่อนข้างมีชีวิตผูกติดตัวเองอยู่กับเกม ไม่ว่าออนไลน์หรือออฟไลน์  พวกเขาชอบความเป็นทีม ดังนั้นหนทางเนียน ๆ อีกวิธีหนึ่ง ที่พ่อแม่จะเข้าให้ถึงพวกเขาได้ คือการร่วมเป็นทีมเล่นกับพวกเขา มันเป็นช่วงเวลาที่คุณจะสืบเรื่องราวความเป็นไปของลูกตัวน้อย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะเสริมสร้างช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน ให้เกิดความอบอุ่น ความผูกพัน และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็ก วันนี้เรามาปูพื้นฐานรู้จักกับเกมประเภทต่าง ๆ ว่าในโลกของเกม เกมไหนจะเหมาะสมที่คุณจะเลือกซ้อมฝีมือเตรียมตัวไว้เล่นกับลูก ๆ หลาน ๆ
 

เกมแอคชั่น (Action Game)

          เกมยอดนิยม เล่นง่าย เพียงแค่บังคับทิศทางการกระทำของตัวละคร เพื่อผ่านด่านต่าง ๆ บางเกมอาจจะไม่มีเลเวล แต่มีไอเทมพิเศษให้เก็บ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน บางเกมก็แค่ตะลุยด่าน เช่น เกม Batman Arkham Knight

 

เกมยิง (Shooting Game)

          เน้นการยิงทำลายศัตรูเป็นหลัก  ฝ่าฟันอุปสรรคให้ผ่านด่าน เพื่อให้คุณได้ไปต่อ  ทั้งยังต้องคอยหลบกระสุนของฝ่ายศัตรูให้ได้ด้วย  เช่น เกม ROV,  A.V.A,   Ghost Recon,  Point Blank

 

เกมสวมบทบาท (Role-Playing Game)

          ในเกมต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครหนึ่งในโลกนั้น ๆ  ผจญภัยไปตามเนื้อเรื่อง  โดยมีจุดเด่นทางด้านการพัฒนาประสบการณ์เอาตัวรอดหรือเอาชนะบอส ศัตรูตัวร้ายที่สุดในเกมให้ได้  อย่างเกม Free Fire,   PUBG, Assassin's Creed Unity, World of Warcraft

 

เกมต่อสู้ (Fighting Game)

          เกมประเภทนี้ต่างจากเกมแอคชั่นตรงที่ไม่มีการผ่านด่านระดับสูงขึ้น  เน้นการต่อสู้ตัวต่อตัว หรือเป็นทีม มีการเตะต่อยและใช้ศิลปะการต่อสู้  การเล่นขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ควบคุมเป็นหลัก อย่างเกมฮิตของเด็ก ๆ คือ Marvel Heroes, Killer Instinct, SNK Heroiness

 

เกมจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) 

          เกมจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ  มาให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทไม่ซับซ้อน อย่างเกมในตระกูล The Sims หรือพวกเกมทำอาหาร ทำสวน ปลูกต้นไม้ อย่าง HayDay  หรือบริหารโรงพยาบาล อย่าง Two Point Hospital เกมพวกนี้อาจถูกใจพ่อแม่ แต่บางทีเด็ก ๆ อาจมีเบื่อได้บ้าง

 

เกมวางแผนกลยุทธ์ (Strategy Game)                       

          เกมประเภทนี้แยกย่อยมาจากเกมการจำลอง  เล่นคนเดียวหรือเล่นร่วมกันได้หลายคนอีกด้วย มีเรื่องราวสไตล์เวทย์มนต์ พ่อมด กองทัพหลาย ๆ ยุค เกมในตำนานที่ไม่เคยตกยุคความนิยม เช่น Red Alert, Civilization, เกมในตระกูล Star Wars, Endless Legend
 

เกมปริศนา (Puzzle Game)

          เน้นการแก้ปริศนา ปัญหาต่าง ๆ มีตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงซับซ้อน หาของจับคู่เหมือน เกมยอดนิยมน่าเล่น อย่างเช่น Catherine Game, The Room Three หรือเกมในตระกูล Hidden Object

 

เกมกีฬา (Sport Game)        

          เกมจำลองการเล่นกีฬาฟุตบอล ว่ายน้ำ เทนนิส  ใช้กติกาแบบกีฬาจริงๆ  ใช้ฝีมือของผู้เล่นในการเอาชนะ เช่นเกมอมตะยอดฮิต คือ Fifa คงจะเป็นภาพที่น่ารักไม่น้อยที่พ่อกับลูกจะอยู่ทีมฟุตบอลเดียวกัน ทั้งในสนามจริงและสนามเกมออนไลน์   

 

บอร์ดเกม (Board Game)

          หากการต้องนั่งหน้าคอมหรือจ้องมือถือนาน ๆ ไม่ใช่จริตของคุณ ลองเลือกพวกบอร์ดเกมคลาสสิก เกมเศรษฐี Monopoly เกมนักสืบหาตัวฆาตกร Clue  เกมแนวสืบสวน Deception หรือจะเป็นเกมไพ่ ที่มีให้เลือกเยอะแยะ อย่าง เกม Mogel Motte, Geistes Blitz เกมโดมิโน   

 

          เชื่อว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่เปิดใจ แล้วพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเดียวกับลูกบ้าง ไม่ใช่เรียกแต่ให้ลูกเข้ามาอยู่แต่ในโลกของเรา จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่เป็นพวกเดียวกับเขา ทีนี้ก็ใช้เวลานี้เป็นเวลาทองในการชี้แนะอบรมสั่งสอนหรือแลกเปลี่ยนความคิดกับลูก สอนให้เขาเข้าใจความแตกต่างระหว่างการแข่งขันในโลกออนไลน์กับการแข่งขันในโลกความจริง สอนความสมดุลระหว่างโลกเสมือนที่เด็ก ๆ ชอบไปใช้ชีวิตอยู่ กับโลกความจริงที่มีสิ่งอื่นให้เรียนรู้อีกมากมาย

 

          “เกม” อาจจะเป็นเทคนิคหนึ่งที่พ่อแม่ใช้เป็นสะพานเชื่อมเข้าไปให้ถึงหัวใจลูก ทำให้กำแพงระหว่างวัยค่อย ๆ ลดลง และกลายเป็นพื้นที่ของครอบครัวได้ แต่ถ้าใครเกิดปัญหางงกับเกม เล่นไม่เป็น ไม่เข้าใจศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ขอแนะนำว่า ลูกของคุณไงคะ ให้เขาเป็นพี่เลี้ยงแนะนำ ลงมือเล่นด้วยกัน ลูกสอนเกมออนไลน์พ่อแม่ พ่อแม่ก็สอนเกมชีวิตให้ลูก สลับกัน แบบนี้รับรองค่ะว่าได้ใจเด็ก Gen Z แน่นอน

 

          เมื่อพ่อแม่สามารถเข้าถึงหัวใจของลูกได้แล้ว อาจชวนลูกสลับไปทำกิจกรรมของพ่อแม่บ้าง เช่น ออกกำลังกายกลางแจ้ง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ไปเที่ยวแบบฉบับครอบครัว สลับกันเรียนรู้โลกกิจกรรมของแต่ละวัย เพราะเด็กจะไม่ได้มองว่าเป็นแค่เรื่องของครอบครัว แต่เขาจะมองว่านี่คือเรื่องของ “ทีม” ที่เขาควรต้องมีส่วนร่วม ซึ่งทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม

 

และผลลัพธ์ที่ดีที่สุดคือ ถ้าคุณคือทีมเดียวกับลูกแล้ว ลูกก็พร้อมจะเป็น...ทีมเดียวกับคุณ!
 

อังสนา  ทรัพย์สิน
 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Gamehttp://www.youthradioandmedia.orghttps://www.familylives.org.ukhttps://www.marketingoops.comhttps://my-best.in.th

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow