Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

Posted By Plook Magazine | 12 เม.ย. 64
12,027 Views

  Favorite

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยทางสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเปลี่ยนไปตามพลวัตที่เกิดขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปคนเราก็จำเป็นต้องมีทักษะใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่ที่หลาย ๆ คนกังวลกัน ก็คือการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์และจำกัดอยู่แค่ในขอบเขตของการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่มันได้นำมาซึ่งความท้าทายและกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการศึกษา ตลาดงาน และชีวิตการทำงานด้วย

 

 

มนุษย์ในยุคนี้จึงต้องพัฒนาทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 
เพื่อเปิดรับโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาให้ได้

 

ดังนั้นนอกจากทักษะด้านความรู้ (IQ) และอารมณ์ (EQ) อีกทักษะที่ชื่อว่า Adaptability Quotient หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘AQ’ ก็ถือเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ๆ

 

AQ คืออะไร สำคัญยังไง ?

AQ คือ ทักษะในการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ สถานการณ์ที่ว่านี้อาจมาในรูปแบบของสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปหรืออุบัติขึ้นใหม่  เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่บีบคั้นให้เราต้องรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ การหาวิธีรับมือกับการแพร่ระบาดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย การออกนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม (social distacning) จากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเปลี่ยนจากเรียนหนังสือที่โรงเรียนเป็นเรียนออนไลน์แทน 

 

ความสามารถในการปรับตัวนี้แหละที่เรียกว่า AQ

cr: https://ravishly.com


 

นอกจากการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าแล้ว การปรับตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในด้านของการทำงาน 

 

McKinsey Global Institute ประมาณการว่าอาจมีคนงานมากถึง 375 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของกำลังคนงานทั่วโลกที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากการที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานบางส่วนแทนมนุษย์ แล้วถ้าคนงานไม่สามารถหางานใหม่ได้ ค่าจ้างที่ได้รับจากงานเก่าอาจลดฮวบลง และคนอาจตกงานกันมากขึ้น

 

แน่นอนว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงระดับนี้คงต้องอาศัยศักยภาพและวิสัยทัศน์จากภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาลในการสร้างงานและเตรียมความพร้อมให้กับตลาดงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

แต่ระหว่างที่รอให้ระดับมหภาคเขาปรับตัว
เรามาพัฒนาทักษะของเราเองกันก่อนดีกว่า !

 

 

วิธี boost ทักษะ AQ ในตัวเรา

ในหนังสือ The Oz Principle ที่เขียนโดย Roger Connors, Craig Hickman และ Tom Smith ได้นำเสนอโมเดลที่ชื่อว่า Steps to Accountability ไว้เป็นแนวทางสำหรับก้าวย่างสู่การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หรือเพื่อยกระดับทักษะ AQ ไว้ 4 ขั้นตอนดังนี้

 

1. See It - คือการฝึกตนให้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัว ก็คือเราต้องประเมินถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการค้นคว้าและวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าข้อสรุปที่ได้จากการ ‘เล็งเห็น’ ในครั้งนี้จะน่ารื่นรมย์หรือไม่ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมัน
 

2. Own It - คือการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่อาจนำมาซึ่งโอกาส ความท้าทาย หรือแม้กระทั่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลว การเล็งเห็นและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าจะต้องปรับแก้อะไรอย่างไรตรงจุดไหนอย่างมีประสิทธิภาพ
 

3. Solve It - เมื่อเราเห็นภาพที่ชัดเจนถึงความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการร่างแผนเพื่อนำสู่การปฏิบัติ ด้วยการคิดหาหนทางการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นจะต้องหาวิธีการมากมายเพื่อมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเสมอไป แต่หัวใจสำคัญคือคิดให้ต่างอย่างสร้างสรรค์
 

4. Do It - การตระหนักถึงกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง การยอมรับถึงความจำเป็นในการปรับตัว การเตรียมตัวรับมือกับมัน ทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำให้เราปรับตัวได้เลยหากปราศจากการลงมือทำ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ Steps to Accountability ที่จะช่วยให้เราปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

 

นอกจากนี้ Otto Scharmer แห่ง Massachusetts Institute of Technology ได้นำเสนอทฤษฎี Theory U ที่สามารถใช้เป็นกรอบแนวคิดนำไปสู่การพัฒนาทักษะ AQ ด้วยการปรับทัศนคติของตัวเอง ดังนี้
 

•  Keeping an open mind คือ การเบิกตาให้กว้างเพื่อที่เราจะได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองสดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น

•  Keeping an open heart คือ การเปิดใจให้กว้างต่อความเห็นต่าง ๆ ของคนอื่นที่มีต่อสถานการณ์เดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราเห็นมิติต่าง ๆ ในประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

•  Keeping an open will คือ การปล่อยวาง ไม่ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เราเกิดความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

เราจะเห็นว่าเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางแบบปลายเปิดที่สามารถพลิกแพลงไปใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น เข้ากันกับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนบางทีเราแทบจะตามไม่ทัน ทักษะชีวิตในวันนี้อาจล้าสมัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รูปแบบการทำงานและบรรทัดฐานต่าง ๆ ในสังคมอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เทคโนโลยีขั้นสูงอาจนำมาซึ่งพฤติกรรมใหม่ ๆ ของมนุษย์ และเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับวันวาน การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่ Charles Darwin เคยกล่าวไว้ว่า

 

“สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่เพราะความแข็งแกร่งหรือความเฉลียวฉลาด
แต่เป็นเพราะความสามารถในปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างหาก”
- Charles Darwin

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

DQ สกิลต้องมีบนโลกดิจิทัล

สกิลที่เด็กรุ่นใหม่ควรมี

เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

ฝึก ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เคล็ดไม่ลับอัปผลการเรียนให้ดีขึ้น

รวมทริคการเรียน เรียนยังไงให้อนาคตมีงานทำในยุค New Normal

คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่

เรียนที่ไหนก็เหมือนกันจริงเหรอ...เหมือนยังไง ? ไม่เหมือนยังไง

รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด



 

แหล่งข้อมูล

- 4 Steps to Develop Your AQ and Make Change Happen

- Adaptability quotient - BBC Worklife 101

- How (and Why) to Boost Your Adaptability Quotient

- JOBS LOST, JOBS GAINED: WORKFORCE TRANSITIONS IN A TIME OF AUTOMATION

 

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow