Pomodoro เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า มะเขือเทศแก้มแดง โดยเทคนิคที่มีชื่อสุดคิ้วท์นี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยคุณฟรานเซสโก คิริลโล (Francesco Cirillo) ในปี 1980 ขณะที่เขาเป็นนิสิตมหา’ลัย เขาได้ปิ๊งไอเดียที่จะจัดการงานกองโตด้วยการแบ่งเวลาทำงานเป็นช่วงละ 25 นาที แล้วคั่นด้วยเบรกสั้น ๆ 5 นาที ทำไปจนครบ 4 รอบ (25+5+25+5+25+5+25 = 2 ชั่วโมง) ปรากฏว่ามันได้ผลดีเยี่ยม แถมยังทำให้เขาไม่เหนื่อยสมอง ดีต่อสุขภาพ เขาจึงเริ่มแชร์เทคนิคนี้กับคนอื่นและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการแบ่งเวลา โดยตั้งชื่อเทคนิคตามนาฬิกาจับเวลารูปมะเขือเทศสีแดงที่เขาใช้อยู่ในตอนนั้น
1. เลือกงานที่จะทำ สร้าง To do list และตั้งโปรแกรมตามเทคนิคโพโมโดโระ โดยให้ 1 หน่วย Pomodoro = 25 นาที งานอะไรก็ได้ที่เราต้องการจะทำให้เสร็จภายใน 25 นาทีนี้
2. จับเวลานับถอยหลัง ใช้ Timer จับเวลานับถอยหลัง 25 นาที โดยภายใน 25 นาทีต่อจากนี้ไป เราต้องสัญญากับตัวเองว่าจะไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่นเลยนอกจากงานตรงหน้า
3. ทำงานจนกว่าจะหมดเวลา 25 นาที หากในระหว่างที่กำลังทำงานอยู่และเพิ่งนึกได้ว่ามีอย่างอื่นที่ต้องทำ ให้เราโน้ตสิ่งที่ต้องทำไว้บนกระดาษก่อน เพราะ 25 นาทีนี้ต้องใช้ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น
4. ติ๊กถูกบนงานที่ทำเสร็จ เทคนิคโพโมโดโระแนะนำไว้ว่า เมื่อหมดเวลา 25 นาที ให้เราติ๊กถูกในงานที่ทำเสร็จใน To do list ที่ได้ตั้งไว้
5. พักเบรก 5 นาที แนะนำว่าช่วงพักให้เราดื่มน้ำ จิบอะไรเบา ๆ ลุกขึ้นไปเดิน ขยับแข้งขยับขา เล่นกับสัตว์เลี้ยง สูดอากาศ หรือไม่ก็ไปดูหน้าโอปป้าให้ชื่นใจ
6. ทำแบบเดิมให้ครบ 4 รอบ ให้เราทำตามลูปเดิมให้ครบ 4 รอบ ดังนี้ 25+5+25+5+25+5+25+5 = 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมง จากนั้นให้เราพักเบรกยาวประมาณ 20-30 นาที หากงานยังไม่เสร็จดีก็ให้เราวนการทำงานแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ
เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่ทำง่ายไม่ซับซ้อน ทำน้อยแต่ได้มาก โดยในทางจิตวิทยาแล้วเทคนิคโพโมโดโระถือเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะเมื่อทำงานเสร็จหนึ่งชิ้น ใจเราจะรู้สึกว่าได้รับรางวัลจากความสำเร็จเล็ก ๆ เป็นกลไกทางจิตวิทยาให้เรามีแรงฮึบต่อจากการหลั่งของฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุก ๆ 25 นาที แต่เทคนิคโพโมโดโระก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ
ข้อดี
• มั่นใจได้ว่าเป้าหมายจะเสร็จเร็วภายใน 25 นาที
• ดีต่อสุขภาพเพราะมีเวลาพักเบรกเยอะ ไม่เสี่ยงเป็น Office syndrome
• เป็นการเทรนสมองให้เข้าสู่ช่วง Flow เพิ่มประสิทธิภาพการโฟกัสที่ดีขึ้น
• ไม่พบอาการหมดไฟหรือ Burnout เพราะเป็นการโฟกัสช่วงสั้น ๆ
ข้อเสีย
• สำหรับคนที่ไม่เคยทำอะไรด้วยการจับเวลาอาจรู้สึกกดดัน
• บางงานอาจจะต้องใช้เวลาทำมากกว่า 25 นาที
• ไม่เหมาะกับคนที่ทำงานและต้องถูกรบกวนบ่อย ๆ
• เนื่องจากพักเบรกหลายช่วง อาจทำให้หลุดโฟกัสได้ง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำไมถึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งไม่สมาธิ ?
วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
Input & Output วิธีจดจำเนื้อหาให้ได้มากกว่า 90% โดยจิตแพทย์ญี่ปุ่น
เทคนิคจด Short Note ให้อ่านง่ายจำแม่น
เทคนิคการจำแบบไม่ต้องจำ โดยจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น
คนขี้เกียจไม่ดีจริงหรือ ? ชวนดูอีกด้านของความขี้เกียจที่มีแต่ข้อดี
เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
แหล่งข้อมูล
- Do more and have fun with time management
- Things to do in your 5 minutes break