คนเราชอบเหมารวมคนที่ ‘ชอบพูดคนเดียว’ ว่าเป็นโรคจิต (ย่อมาจากโรคจิตเภท) แต่การจะบอกว่าใครเป็นโรคจิตหรือไม่นั้น เราต้องดูพฤติกรรมหลายอย่างประกอบกัน เช่น
• หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด
• คิดว่าตัวเองเป็นคนกลับชาติมาเกิด เช่น เป็นลูกเทพ เป็นลูกพระเจ้าตาก ฯลฯ
• มีพฤติกรรมด้านลบ เก็บตัว ไม่ดูแลตนเองอย่างที่เคย
• ไม่ไปเรียน ผลการเรียนเริ่มตกต่ำลง ไม่สนใจสิ่งที่เคยสนใจ
ในขณะเดียวกัน การพูดคนเดียวในทางจิตวิทยาเรียกว่า Self-Talk หรือ Internal Monologue คือ การที่คน ๆ หนึ่งพูดกับตัวเองออกมาดังหรือเบาก็ได้ ในขณะที่อยู่คนเดียวหรือมีคนอื่นอยู่ด้วย ซึ่งไม่ได้เรียกว่าบ้าเลยนะ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนเราพูดคนเดียวอยู่ตลอดเวลาแค่จะออกเสียงหรือไม่ออกเสียง รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เช่น “โอ้ย ลืมอีกแล้ว” เมื่อเราลืมกุญแจห้อง หรือ “นี่มันคนหรือนางฟ้าเนี่ย สวยจริง ๆ” เวลาส่องกระจก
เนื่องจาก Self-Talk หรือการพูดคนเดียวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้ความคิด รวมถึงเป็นวิธีการที่ดีต่อสุขภาพจิต สมองและความจำ ช่วยลดความผิดพลาดในงานที่ซับซ้อน เหมือนที่โคนันเจ้าหนูยอดนักสืบมักจะพูดคนเดียวประจำเมื่อต้องไขคดียังไงล่ะ
เวลาที่เราอ่านหนังสือ ถ้าอ่านในใจเราจะรับสารได้แค่ทางตา แต่ถ้าเปล่งเสียงออกมาจะได้รับสารจากประสาทสัมผัสทั้งตาและหู ผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านออกเสียงนี้เรียกว่า “Production Effect” หมายถึงกระบวนการที่มีส่วนช่วยให้ข้อมูลถูกบรรจุลงไปในความทรงจำระยะยาว (Long-Term Memory) ทำให้จำแม่น ไม่หลง ๆ ลืม ๆ และฉลาด
เวลาที่เรามีงานล้นมือหรือต้องแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดแค่ในใจจะทำให้มีโอกาสพลาด หลุดโฟกัสมากกว่าการพูดออกเสียง เพราะเมื่อเราพูดกับตัวเองนอกจากจะเป็นการช่วยย้ำเตือนให้เรามีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้ว ยังช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งที่ทำได้มากขึ้น จัดเรียงลำดับสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น แถมยังลดความกระวนกระวาย ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอีกด้วย
การพูดคนเดียวช่วยให้เราได้ทบทวนความคิด ทบทวนตัวเองไปกับเรื่องต่าง ๆ ได้ อย่างการพูดให้กำลังใจตัวเอง พูดปลุกใจตัวเองเมื่อกำลังจะสอบหรือแข่งกีฬา เพราะสมองของเราชอบคำพูดดี ๆ มากกว่าคำพูดที่ไม่ดี ดังนั้นควรระวังคำพูดที่ไม่ดี เช่น ฉันแย่ ฉันทำไม่ได้ ไม่มีใครรักฉัน แต่เปลี่ยนเป็น ฉันเจ๋ง ฉันทำได้ ฉันเป็นที่รัก พูดให้กำลังใจตัวเองทุกวัน มันจะทำให้เราเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์อีกด้วย
แหล่งข้อมูล