การปั๊มนม เป็นทางเลือกหนึ่งของคุณแม่มือใหม่ในการเตรียมน้ำนมแม่ไว้ให้ลูก อาจเนื่องมาจากลูกไม่ยอมเข้าเต้า ยังให้นมจากเต้าไม่ได้เพราะลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องไปทำงาน และเหตุผลอื่น ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงควรทำความเข้าใจขั้นตอน และเทคนิคต่าง ๆ ในการปั๊มนม ดังนี้
คุณแม่เริ่มปั๊มนมได้ตั้งแต่หลังคลอด ยิ่งเริ่มปั๊มนมไวเท่าไหร่ปริมาณน้ำนมจะยิ่งมีมากขึ้น เพราะเครื่องปั๊มจะช่วยกระตุ้นนมแม่ให้ไหลได้ดีขึ้น สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมจากเต้าหลังคลอดได้ เมื่อมีเวลาให้ลูกเข้าเต้า คุณแม่สามารถปั๊มนมระหว่างให้นมลูกได้เลย ลูกจะได้มีน้ำนมตุนไว้กินระหว่างวันอย่างเพียงพอ
วิธีการปั๊มนมมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ ปั๊มนมด้วยมือ ปั๊มนมด้วยเครื่องธรรมดา และปั๊มด้วยเครื่องไฟฟ้า ซึ่งคุณแม่ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความถี่ในการใช้งาน ระยะเวลาที่คุณแม่สะดวกปั๊มนม และปริมาณน้ำนมที่ต้องการ หากคุณแม่มีปริมาณน้ำนมมาก มีเวลาปั๊ม และต้องการประหยัดรายจ่าย สามารถปั๊มด้วยมือหรือปั๊มด้วยเครื่องธรรมดาได้ แต่ถ้าคุณแม่อยากปั๊มนมทีเดียวให้ได้ปริมาณมาก ในระยเวลารวดเร็ว หรือสามารถปั๊มจากเต้าพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้ก็ควรเลือกเครื่องไฟฟ้าแทน เป็นต้น
คุณแม่ควรนวดหรือประคบอุ่นเต้านมก่อน 2-3 นาที เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลเวียนดีขึ้น ควรดื่มน้ำ 2-3 แก้วก่อนการปั๊มนม และหาห้องหรือพื้นที่ที่สงบ เงียบ เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายขณะปั๊มนม
คุณแม่ควรแบ่งรอบในการปั๊มนมแต่ละครั้งตามปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ สลับการการหยุดพัก เพื่อให้การปั๊มนมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ใน 1 วันควรปั๊มนม 8-10 ครั้ง การปั๊มหนึ่งครั้งอาจใช้เวลา 1 ชั่วโมง ใน 1 ชั่วโมงนี้ควรแบ่งเป็นการปั๊ม 10 นาที หยุดพักประมาณ 10 นาทีจึงปั๊มต่อ ทำขั้นตอนนี้สลับกันไปจนปั๊มน้ำนมไม่ออก จากนั้นใช้มือบีบลานนมเพื่อให้นมเกลี้ยงเต้าอีกที การปั๊มน้ำนมจนเกลี้ยงเต้า จะช่วยให้ร่างกายสร้างนมใหม่ได้เต็มที่ และป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้
ในช่วงแรก ไม่ควรปั๊มนมนานหรือแรงเกินไป เพราะอาจทำให้หัวนมแตกได้ คุณแม่ควรเริ่มปั๊มนมนาน 3-5 นาทีก่อน เมื่อร่างกายปรับตัวได้จึงค่อยเพิ่มระยะเวลาการปั๊มนมให้นานขึ้น
คุณแม่ไม่ควรฝืนปั๊มนมต่อหากรู้สึกเจ็บ เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น อาทิ เครื่องปั๊มนมมีแรงดูดมากเกินไป กรวยปั๊มไม่ได้ขนาดกับเต้านม ฯลฯ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนการตั้งค่าและอิริยาบถใหม่ เพื่อให้การปั๊มนมสบายตัวมากขึ้น แต่หากปรับแล้วยังพบอาการเจ็บอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง
ในช่วงแรกของการปั๊มนม คุณแม่อาจรู้สึกกังวลใจที่มีน้ำนมไหลน้อย ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว หากคุณแม่ปั๊มนมต่อไปเรื่อย ๆ และมีวินัยในการปั๊มสม่ำเสมอ ไม่เครียดหรือกังวลใจ ปริมาณน้ำนมก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
แต่หากน้ำนมแม่ยังไหลน้อย คุณแม่สามารถดูเทคนิคเพิ่มน้ำนมเหล่านี้เพิ่มเติมได้
10 เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ น้ำนมไหลปรู๊ดแรงปรี๊ด ลูกอิ่มนานคุณแม่มือใหม่ก็ทำได้
ทำไงดี ไม่มีน้ำนมให้ลูก How to กระตุ้นน้ำนมให้ลูกน้อย
------------------------------------------
นอกจากนี้เรายังมีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับนมแม่เพิ่มเติม ตามลิงก์ด้านล่าง
มหัศจรรย์นมแม่ สารอาหารที่ทารกทุกคนควรได้รับ
แนะนำเมนูอาหารสำหรับ 'คุณแม่หลังคลอด'
รวมสูตรอาหารผสมนมแม่ สำหรับเด็ก 6 เดือน - 1 ขวบ
อุ่นนมแม่อย่างไร ให้สารอาหารอยู่ครบ
ชวนคุณแม่มือใหม่มารู้จัก สีของน้ำนมแม่ แต่ละสีหมายถึงอะไรบ้าง