รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศเลิกใช้พลาสติก 8 ชนิดในปี ค.ศ. 2020 ได้แก่
1. ชุดช้อน ส้อม และมีดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยพบว่ามีการทิ้งขยะประเภทนี้เกลื่อนกลาดบนชายหาดหลาย ๆ แห่ง ใน สหราชอาณาจักร โดยมีการเรียกร้องให้ใช้ชุดช้อน ส้อม และมีดพลาสติกประเภทที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรือผลิตจากวัสดุประเภทอื่น
2. บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยวัสดุพอลิสไตรีน โดยพอลิสไตรีน (polystyrene, PS) เป็นพลาสติกที่ส่วนมากนำมาผลิตเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร นิยมใช้ทำช่องหน้าต่างของกล่องกระดาษ ใช้ห่อผัก ผลไม้สด และดอกไม้สด เนื่องจากความใสและยอมให้ก๊าซซึมผ่านได้ง่าย ใช้ทำโฟมทั้งเป็นภาชนะบรรจุและแผ่นฉนวนกันความร้อน ใช้ทำถ้วย ถาด หรือแก้วน้ำสำหรับใช้ครั้งเดียว ใช้ทำถาดหลุมสำหรับรองขนมปังกรอบ คุกกี้ ช็อกโกแลต และอื่น ๆ ก่อนบรรจุใส่กล่อง ซึ่งพอลิสไตรีนไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ในสหราชอาณาจักร
3. สำลีก้านพลาสติก (cotton buds) ซึ่งพบมากบนชายหาด โดยมีการเรียกร้องให้ใช้วัสดุที่ทำจากกระดาษในการผลิตส่วนที่เป็นก้านแทนพลาสติก
4. แท่งคนกาแฟ ซึ่งถูกใช้ในปริมาณมากและมีการทิ้งเกลื่อนกลาด โดยมีการเรียกร้องให้ใช้วัสดุอื่น ๆ แทนพลาสติก หรือให้ใช้ช้อนโลหะแทน ซึ่งสามารถนำมาล้างและใช้ใหม่ได้
5. หลอดดื่มน้ำที่ทำจากพลาสติก ซึ่งส่วนมากถูกใช้เกินความจำเป็น และไม่ถูกนำไปรีไซเคิล แต่อย่างไรก็ตามการห้ามใช้หลอดพลาสติกจะมีข้อยกเว้นสำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์
6. พลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-degradable Plastics) เป็นพลาสติกที่สามารถแตกสลายโดยกระบวนการปฏิกิริยาออกซิเดชัน แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพจึงมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริงพลาสติกชนิดนี้เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกทั่วไป เช่น พอลิเอทิลิน (polyethylene, PE) ที่ผสมสารเติมแต่งทางเคมี ซึ่งอาจจะประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น โคบอลต์ หรือโครเมียม ที่มีคุณสมบัติเป็นสารเร่งให้เกิดปฏิกิริยาที่มีออกซิเจนในบรรยากาศเข้าร่วมด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของพลาสติกและแตกสลายได้อย่างต่อเนื่องเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ทางกายภาพ ซึ่งยังคงตกค้างหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้ว่าพลาสติกชนิดนี้สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพหมดอย่างสมบูรณ์ ชิ้นพลาสติกเล็ก ๆ จากพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซจำนวนมากรวมทั้งโลหะหนักสามารถฟุ้งกระจาย และถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจก่อให้เกิดสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือก่อเกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้เศษพลาสติกดังกล่าวสามารถดูดซึมสารเคมีอันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyl trichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) ซึ่งปัจจุบันได้มีการประกาศเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงตกค้างกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสลายตัวได้ช้า ดังนั้นเศษพลาสติกอ๊อกโซจะทำให้ความเข้มข้นของสารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ถึงล้านเท่า ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อคุณภาพของดินและสิ่งมีชีวิต
7. พลาสติก PVC หรือพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride, PVC) PVC เป็นพลาสติกที่สามารถแปรเปลี่ยนสมบัติได้โดยการเติมสารเคมีปรุงแต่ง (additives) ต่าง ๆ ในแง่ของการผลิตฟิล์ม PVC จุดเด่นของฟิล์ม PVC คือ ทนต่อน้ำมันและกันกลิ่นได้ดี ใส แข็งแรงทนทานต่อการเสียดสี ในขณะที่ความต้านทานต่อการซึมผ่านของความชื้นอยู่ในขั้นปานกลาง อุณหภูมิใช้งานของ PVC ไม่เกิน 90 องศาเซลเซียส และถ้าอุณหภูมิการใช้งานเกินกว่า 137 องศาเซลเซียสจะเริ่มเปลี่ยนคุณภาพ ขวดพลาสติก PVC สามารถใช้แทนที่ขวดแก้ว เนื่องจากเบากว่าและตกไม่แตก แต่ในระยะหลังถูกแย่งตลาดโดยขวด PET เนื่องจากเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนแผ่น PVC มักใช้กับบรรจุภัณฑ์แบบการ์ด ประเภทบลิสเตอร์แพ็ค ( blister pack) เนื่องจากมีความใสและเหนียว พลาสติก PVC นิยมนำมาใช้ทำฟิล์มยืดสำหรับห่อเนื้อสัตว์สด เนื้อสัตว์ แช่เยือกแข็ง ผักและผลไม้สด เนื่องจากความใสและมันวาว ทำให้เห็นผลิตภัณฑ์ ได้ดีและอัตราการซึมผ่านของก๊าซและไอน้ำอยู่ในช่วงที่เหมาะสม และนิยมนำใช้ทำถาดบรรจุอาหารแห้ง เช่น ขนมปังกรอบ คุกกี้ช็อกโกแลต และอื่น ๆ เพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนและป้องกันการแตกหัก ทำถาดหรือกล่องบรรจุอาหารสด และทำขวดบรรจุน้ำมันพืชปรุงอาหาร แต่ปัญหาของการใช้พลาสติกประเภทนี้คือ พลาสติกชนิดนี้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และสามารถปนเปื้อนกับพลาสติกประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย
8. ชามและถ้วยพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยมีการเรียกร้องให้ใช้ชามและถ้วยพลาสติกที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดขยะและมลพิษ
รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศในเดือนพฤษภาคมว่าหลอดน้ำดื่มพลาสติก สำลีก้านพลาสติก และแท่งคนกาแฟ จะถูกห้ามใช้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 ในขณะที่โครงการ UK Plastics Pact ได้เสนอให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอีก 5 รายการรวมเป็น 8 รายการ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โครงการ UK Plastics Pact ได้ถูกจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 127 รายเข้าร่วม ซึ่งถือเป็นร้อยละ 85 ของบริษัทที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในผลิตภัณฑ์ที่ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร เช่น Nestlé Procter & Gamble Sainsbury’s และ Tesco
โดยสมาชิกของโครงการต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้ง 8 ชนิด และหาวัสดุทดแทน เช่น กระดาษ เส้นใย โลหะ และอื่น ๆ รวมไปถึงร่วมมือกันในการบรรลุเป้าหมายการกำจัดพลาสติกที่เป็นปัญหาทั้งหมดและลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2025
โดยมีการส่งสารให้สมาชิกแต่ละรายของโครงการได้ทราบว่าการหาวัสดุเพื่อมาทนแทนพลาสติกจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และจะต้องไม่เพิ่มจำนวนของขยะอาหาร นอกจากนี้ทางโครงการ UK Plastics Pact ยังได้กำหนดเป้าหมายว่า ร้อยละ 100 ของผลิตภัณฑ์พลาสติกในอนาคต จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล และย่อยสลายได้โดยกระบวนการทางชีวภาพได้
นาย Peter Maddox ผู้อำนวยการของโครงการ UK Plastics Pact ได้กล่าวว่า ประชาชนต่างก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพลาสติกทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งวิธีพื้นฐานที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้ก็คือจัดการกับพลาสติกประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้นในทุก ๆ ชิ้นส่วนของบรรจุภัณฑ์ ต้องมีการพิจารณาถึงประเภทวัสดุพลาสติกที่เหมาะสม และต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ เพราะบางครั้งอาจจะสามารถใช้วัสดุอื่นทดแทนได้ แต่ในหลาย ๆ กรณีพลาสติกก็กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหากพิจารณาถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกรณีเหล่านี้จำเป็นต้องแน่ใจว่าวัสดุพลาสติกที่นำมาใช้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้ง 8 รายการที่ถูกระบุไว้ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการเลิกใช้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกของโคงการ UK Plastics Pact ที่จะต้องปฏิบัติตาม
สำหรับประเทศไทย คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) พิจารณากำหนดการลด และเลิกใช้ ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) ที่พบมากในขยะซึ่งถูกทิ้งในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนการยกเลิกพลาสติก 7 ประเภทดังนี้
1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (cap seal)
2. พลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-degradable Plastics)
3. ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) เลิกใช้ปี 2562
4. ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
5. กล่องโฟมบรรจุอาหาร เลิกใช้ปี 2565
6. แก้วน้ำพลาสติก (ชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง) และ
7. หลอดพลาสติก เลิกใช้ปี 2568
โดยมีเป้าหมายรวมในการลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นจำนวนร้อยละ 70 ภายในปี พ.ศ.2580 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดมลพิษจากขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ปี พ.ศ. 2573 เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องอาศับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในการรณรงค์การลดและคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่อง และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อลดพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและทะเล
ที่มา
https://www.thansettakij.com/content/368204
จากวารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม 2562