Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

Posted By Plook Magazine | 12 มี.ค. 64
15,739 Views

  Favorite

เราไม่ชอบผู้ใหญ่ที่ขี้โมโห เราก็ต้องไม่เป็นวัยรุ่นที่หัวร้อนเก่ง นอกจากความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ แล้ว วัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมทักษะทางสมองที่สำคัญอย่าง “Executive Functions (EF)” เพื่อให้ห่างไกลจากปัญหาที่อาจนำความเดือนร้อนมาให้ มีสกิลเอาตัวรอดได้และมีความสุข

 

 

EF คืออะไร ?  

ทักษะสมอง Executive Functions (EF) เป็นความรู้ใหม่เรื่องสมองที่นักวิชาการทั่วโลกกำลังสนใจค้นคว้าโดย EF คือ ความสามารถในการกำกับความคิด กำกับอารมณ์ และกำกับพฤติกรรมเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ ซึ่ง EF พัฒนาได้ตั้งแต่ขวบปีแรกต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 25 ปี หลายคนจึงชี้ว่า EF เป็นรากฐานของทักษะศตวรรษที่ 21 โดยประกอบด้วยศักยภาพทั้งหมด 3 ด้าน 

 

• ความจำในการทำงาน (Working Memory) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ คิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมและใหม่เพื่อนำมาใช้งานได้  

 

• การควบคุมยับยั้งตนเอง (Inhibitory Control) คือ สามารถหยุดคิดไตร่ตรองก่อนทำ คิดก่อนพูด อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำเลยทันที เพราะมันอาจส่งผลให้เราเดือดร้อนหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นด้วย

 

• การมีความคิดยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility) คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนเกียร์ให้อยู่ในเกียร์ว่างได้ มีความสมดุลทางใจ คิดนอกกรอบ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ไม่ยึดติดภายใต้สถานการณ์กดดัน   

 

Fun Facts: การพัฒนา EF ในช่วงวัยรุ่นเป็นไปได้ยากเพราะต้องทำมาทั้งแต่ 8 ปีแรก และจะสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุ 20-25 ปี ดังนั้นการพัฒนา EF ช่วงวัยรุ่นจึงเรียกว่าเป็นโค้งสุดท้ายแต่ยังพัฒนาได้ 

 

 

ทำไมเราต้องพัฒนาทักษะสมอง EF

อธิบายภาพ : รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล
ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพราะสมองส่วนนี้ตั้งอยู่บริเวณสมองส่วน Prefrontal Cortex ซึ่งทำหน้าที่เป็นบอสใหญ่ในการสั่งการ ควบคุมการทำงานของสมองหลายส่วนให้ทำงานร่วมกันโดยไม่งอแง ยิ่ง EF บกพร่องมากเท่าไหร่ การกำกับตัวเองก็จะยิ่งต่ำ ความพยายามในเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่สูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ถ้า EF ไม่บกพร่องเลยหรือบกพร่องน้อย การกำกับตัวเองก็จะยิ่งสูงและความพยายามก็จะดีด้วย ข้อมูลสำคัญคือคนที่มี IQ สูงก็ไม่ได้แปลว่าจะมี EF สูงตามไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันคนที่มี IQ ในเกณฑ์เฉลี่ยอาจจะมี EF ที่สูงได้ 

 

คนที่มี EF สูง หากอยากมีเพศสัมพันธ์ก็จะคิดถึงความยินยอม (Consent) รู้จักป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการท้องไม่พร้อมและติดโรคติดต่อ 

คนที่มี EF ต่ำ หากอยากมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำทันที อารมณ์นำเหตุผลโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ใด ๆ หากอยากใช้ยาเสพติดหรือมีใครชวนก็จะใช้เลย โดยไม่มีการคิดให้ถี่ถ้วนก่อน

 

 

วิธีการพัฒนาทักษะสมอง EF 

อ้างอิงจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF ทั้ง 3 ด้านของวัยรุ่นที่อายุมากกว่า 13 ปีได้

 

1. เมื่อจะทำอะไรก็ตามให้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาว รวมถึงวางแผนย่อย ๆ เพื่อที่จะได้ทำให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ 

 

2. ตรวจสอบตัวเอง (Self-monitoring) เป็นระยะรายเดือนว่าเราได้ทำตามเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือเปล่า 

 

3. ฝึกพูดให้กำลังใจตัวเองบ่อย ๆ หรือพูดกับตัวเองในเชิงบวก (Positive Self-talk) ซึ่งเป็นการดึงสติดึงความคิดกลับขึ้นมาสู่การกระทำที่ดี เช่น ฉันทำได้, ฉันเป็นที่รัก, ฉันเป็นคนอ่อนโยน, สักวันฉันจะทำให้ตัวเองภูมิใจให้ได้ เป็นต้น 

 

4. เขียนเรื่องราวของตัวเองในรูปแบบใดก็ได้ (ไดอารี่จะยิ่งดี) ในแต่ละวัน เพื่อเป็นการทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

 

5. แลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับคนอื่น เช่น ช่วยเหลือติวให้เพื่อน คุยกับเพื่อนถึงเป้าหมายในชีวิต  หรือช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์  

 

6. เมื่อทำอะไรสำเร็จให้ขอบคุณตัวเองและคนรอบข้าง เมื่อทำอะไรไม่สำเร็จหรือผิดพลาดให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดเพื่อที่จะทำให้ครั้งต่อไปไม่พลาดอีก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเราทุกคนพลาดได้ 

 

ไม่อยากจะพูดขายฝันว่า หากใครที่มี EF ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตกว่าคนที่ไม่มีหรือมีน้อย ดังนั้นการที่เด็กคนหนึ่งมี EF ถือเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน เพราะโลกใหม่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้เน้นเรื่องความจำเท่านั้น แต่เน้นเรื่องการควบคุมตนเอง การมุ่งสู่เป้าหมาย และมีความยืดหยุ่นทางความคิด การหักห้ามใจให้ตัวเองไปในทางที่ถูกที่ควร  


 

 

แหล่งข้อมูล
- กิจกรรมตามวัยเพื่อส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเอง Activities to enhance executive function and self-regulation (EF/SR) พญ.ณิชา ทัศน์ชาญชัย, ผศ.พญ. จริยาจุฑาภิสิทธ์ิแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์และกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คู่มือพ่อแม่ พัฒนาทักษะสมอง EF Executive Functions ตั้งแต่ปฏิสนธิ-3 ปี  

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow