ก่อนปี 1960 เด็กสองภาษาจะถูกเรียกว่าเป็น ‘คนพิการ’ เพราะใช้พลังสมองมากเกินไปน่ะซิ แต่ต่อมาคดีพลิกเมื่อนักวิจัยยุคใหม่ได้เผยว่า เด็กสองภาษาไม่ได้พิการหรอก ดีซะอีกนะเพราะสมองของพวกเขาแข็งแรงกว่า คิดซับซ้อนได้ดีกว่า มีสมาธิ มีความมั่นใจ ใฝ่รู้ กล้าฝัน มองอุปสรรคเป็นความท้าทายกว่าเด็กที่พูดภาษาเดียว
นอกจากนี้ งานวิจัยใหม่ ๆ ยังพบว่าเด็กสองภาษามีข้อได้เปรียบ (Bilingual Advantage) ด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมอีกด้วย เพราะเด็กที่เกิดมายากจนบางคนมักจะมี mindset ‘น้อยเนื้อต่ำใจ’ สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กฐานะดี แต่เด็กที่มีฐานะยากจนที่เป็นเด็กสองภาษาจะมี mindset น้อยเนื้อต่ำใจน้อยกว่าและไม่มองว่าฐานะจะเป็นอุปสรรคเหมือนเด็กที่พูดภาษาเดียว พูดง่าย ๆ ก็คือ ภาษาเป็นวิชาแก้จนได้อย่างหนึ่ง
ขอยกตัวอย่างในหนังเรื่อง Parasite (หนังรางวัล Oscar ปี 2020) ที่ ‘คิวู’ เด็กหนุ่มชนชั้นล่างที่มีฐานะยากจน เขาได้ปลอมตัวไปสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษให้กับลูกสาวเศรษฐี จนลูกสาวเศรษฐีหลงรักในความมีเสน่ห์ ฉลาดและมีไหวพริบของเขา วิชาภาษาอังกฤษในหนังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คาแรคเตอร์ของคิวูสมบูรณ์แบบว่าทำไมเขาถึงเป็นเด็กฉลาด เช่นกันกับในชีวิตจริงที่นักแสดงฮอลลีวูดหลายคนเคยเป็นผู้อพยพ ก่อนจะผันตัวเองมามีชื่อเสียงได้ เช่น Kumail Nanjiani และ Natalie Portman ซึ่งพวกเขามีคุณสมบัติที่เด่น ๆ คือ เป็นเด็กสองภาษา
ในเมื่อการเป็นเด็กสองภาษายังไงก็ได้เปรียบกว่าในหลายแง่ แล้วทำไมเราถึงไม่ลองฝึกฝนให้เก่งขึ้นด้วยการเริ่มเลยตั้งแต่วันนี้
ภาษาอื่น 1 นาทีทุกวัน
ให้คิดหัวข้ออะไรก็ได้ที่เราสนใจโดยไม่ต้องจำกัดเรื่อง เช่น ไอศกรีม กงยู ประเทศไทย หนวดแมว ฯลฯ แล้วให้เราพูดเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ เป็นเวลาทั้งหมด 1 นาที โดยไม่ต้องไปคิดมากหากเราจะคิดช้าหรือพูดไม่คล่อง เมื่อหมดเวลาแล้วก็ให้หยุด พรุ่งนี้เริ่มใหม่ ฝึกแบบนี้ทุกวันเราจะคล่องขึ้นแน่นอน ถ้าเล่นกับเพื่อนผลัดกันถามก็จะยิ่งสนุกขึ้น
ดูสิ่งที่ชอบเป็นภาษาอื่น
ทำไมติ่งเกาหลีถึงได้เข้าใจภาษาเกาหลีแม้จะไม่ได้เรียนเลย ? นั่นก็เพราะพวกเขาฟังภาษาเกาหลีจากเพลงและรายการโชว์มาเป็นปี ๆ ยังไงละ ! สมมติว่าเราชอบหนังเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์มาก เป็นหนังที่เราจะดูกี่สิบล้านรอบก็ไม่เบื่อ ดูจนจำได้ ให้เราเลือกหนังประเภทนั้นมาเปิดดูเป็นภาษาอื่น ถามว่าเเล้วจะเข้าใจเหรอ ? แรก ๆ อาจจะไม่เข้าใจหรอก แต่เราจะเริ่มรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเราจะต้องวางแผนว่าทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์เราจะดูอย่างน้อย ๆ ให้ได้ 30 นาที
สรุปเหตุการณ์ของวันนี้เป็นภาษาอื่น
นอกจากจะเป็นวิธีที่จะทำให้เราสุขภาพจิตดีแล้ว เรายังสามารถฝึกภาษาไปได้อีกด้วย โดยเราอาจจะเปิดรูปภาพในมือถือที่เราถ่ายในวันนั้น ๆ แล้วอธิบายรูปนั้นให้เพื่อนในจินตนาการฟังก็ได้ หรือเราจะหาเพื่อนสักคนไว้ฝึกภาษา คอยถามคำถามง่าย ๆ ว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง ? คนที่คุณอยากจะขอบคุณ ? หรืออาหารมื้อไหนอร่อยสุด ? แค่คิดก็คันปากอยากจะพูดแล้ว
อย่าหยุดท่องคำศัพท์
ทุกครั้งที่เราได้ศัพท์คำใหม่ให้บันทึกไว้ตามความสะดวก จะจดเอาไว้ในสมุดพกก็ได้ หรือจะใช้แอปการ์ดคำศัพท์อย่าง Anki หรือ Memrise ที่ออกแบบมาเพื่อให้เราบันทึกคำศัพท์โดยเฉพาะก็ได้ ขอแค่ให้หมั่นทบทวบคำศัพท์นั้นซ้ำ ๆ จนจำได้เพื่อให้คำศัพท์คำนั้นถูกจัดเก็บใน Long-Term Memory (ความทรงจำระยะยาว)
คีย์เวิร์ดสำคัญของการเรียนภาษาที่ถูกบอกต่อกันมาในหมู่นักภาษาศาสตร์อย่าง Lýdia Machová ที่พูดได้ถึง 8 ภาษาและเธอจะเรียนภาษาใหม่ ๆ ทุก 2 ปี บอกว่า ทางที่จะทำให้ใครสักคนเรียนภาษานั้น ๆ ได้คล่องคือหาให้เจอว่าวิธีไหนที่จะทำให้เราเรียนภาษานั้นได้สนุกที่สุด !
แหล่งข้อมูล
- The secrets of learning a new language
- The benefits of a bilingual brain