Social Media Detox (อ่านว่า โซเชียล มีเดียดีท็อกซ์) ไม่ใช่การงดใช้มือถือนะแต่เป็นการ ‘พักเบรก’ จาก ‘โซเชียลมีเดีย’ สักพัก ลดการเสพคอนเทนต์ที่อยู่ใน facebook, youtube, line หรือ twitter ให้น้อยลง โดยอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 วัน หนึ่งอาทิตย์ หรือเป็นเดือน ในระหว่างที่ทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์นี้ เราจะใช้โซเชียลมีเดียเมื่อจำเป็น ใช้อย่างมีความหมาย เพื่อประโยชน์มากกว่าเป็นเรื่องเอนเตอร์เทนหรือฆ่าเวลา
วัยรุ่น เพราะว่าสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่และอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง (1 MHz = 1 ล้าน ลูกคลื่น/วินาที) จะไปรบกวนสมองของวัยรุ่นได้มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ในการควบคุมความฉลาดฝ่อเล็กลง
เด็กมัธยมต้น เพราะเป็นวัยที่ต้องมีการฝึก สำรวจ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อให้พร้อมไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ (เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ) เช่น เด็กวัย 13 ปี ต้องไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อน แต่กลับใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ก็จะทำให้ขาดโอกาสในการฝึกการเข้าสังคมไปเลย
คนที่ปวดหัวไม่มีสาเหตุ มันคือคนที่ติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องผูก ปวดเมื่อยตามตัวเมื่อไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย เพราะเสพติดมากจนเมื่อไม่ได้เล่นร่างกายและกล้ามเนื้อจะเกิดภาวะเครียด
คนที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ คนที่ติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ บางคนจะไม่รู้วิธีผูกมิตรในชีวิตจริงเลย ทำให้มีปัญหากับคนอื่น กับเพื่อน กับครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างพังได้
แต่เดี๋ยวนี้แม้จะยกข้อเสียของการติดโซเชียลมาแย้งแค่ไหน คนเราก็ไม่ค่อยกลัวกันแล้ว เพราะการไม่ได้เล่นโซเชียลนั้นดูจะทำให้เรากลัวมากกว่า (ทั้งที่ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย) บางคนยอมแลกทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้เปิดเฟซบุ๊กดูสัก 5 นาที หรือขอโพสต์ทวิตเตอร์สักหน่อยเถอะ ! แต่ถ้าใครรู้สึกว่าอยากลองทำดู ให้ลองทำตามนี้นะ
Log Out แอปที่เราอยากดีท็อกซ์ที่สุด 3 แอปเพื่อที่มันจะได้ไม่เเจ้งเตือนให้เราตบะแตกเข้าไปเช็ก เราอาจจะทิ้งทวนสเตตัสสุดท้ายเพื่อแจ้งให้เพื่อน ๆ ชาวโซเชียลรู้ว่าเราจะทำโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์นะ เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ลบแอปพลิเคชัน เพราะหากไม่ลบแอปต้องมีสักนาทีที่เราจะเผลอเข้าไปล็อกอินเพื่อที่จะเล่นอยู่ดี ดังนั้นแค่ล็อกเอาท์อาจจะไม่พอ ต้องลบแอปออกไปด้วยในระหว่างที่เรากำลังโซเชียล มีเดียดีท็อกซ์ โดยเริ่มจากแอปที่ไม่จำเป็นอย่าง instagram หรือว่า facebook ก่อนก็ได้
เชื่อมต่อกับเพื่อนโดยตรง แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้แย่ไปทั้งหมดแต่การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดีท็อกซ์ควรเป็นการเชื่อมต่อที่มีความหมาย ไม่ใช่การโพสต์ทุกอย่างลงไป จากการโพสต์ให้คนเห็นเป็นร้อย ให้เราเปลี่ยนเป็นส่งข้อความส่วนตัวแทน (personal texts) คุยกับเพื่อนที่เรารู้จักจริง ๆ และมีตัวตน มีค่า มีความหมายในชีวิตของเราจริง ๆ มากกว่าหลายร้อยคนที่เราแทบไม่รู้จักเลย
Track เวลาที่เราใช้ไปกับหน้าจอ ตั้งค่าการแสดงผลเวลาการใช้หน้าจอเอาไว้ เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองใช้เวลาไปกับหน้าจอมากเกินไป เพราะบางคนไม่เล่นโซเชียลมีเดียก็จริง แต่อาจจะหาวิธีไปเล่นเกมหรือเล่นแอปอื่นมากกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้นดักทางไว้ก่อน
ลิสต์สิ่งที่อยากทำ อาจจะเป็นการลงเรียนภาษาที่สามออนไลน์ เริ่มจัดห้อง หยิบหนังสือที่ดองไว้บนชั้นมาอ่าน หัดวาดรูป ฝึกใช้โปรแกรมต่าง ๆ ทุกอย่างที่เคยบอกว่าไม่มีเวลาทำ รวมทั้งกิจกรรมที่ทำแล้วจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
ออกกำลังกาย เมื่อเราไม่เล่นโซเชียลบ่อยเท่าเดิมร่างกายจะเริ่มเครียด เนื่องจากการเล่นโซเชียลมีเดียจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ดังนั้นเราควรจะหันมาออกกำลังกายให้ได้ 30 นาทีต่อวัน เพราะความรู้สึกที่ได้รับจากการเล่นโซเชียลมีเดียนั้นจะเท่ากับการออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายจะได้ทั้งความรู้สึกดีและสุขภาพก็แข็งแรงด้วยนะ
แหล่งข้อมูล
- งานวิจัยสังคมออนไลน์กับสมองของเด็กวัยรุ่น Social Media and Child’s Brain โดยนิชาภา พัฒนกูลชัย, สุวรรณา มณีวงศ์ และอังธนา จุลสุคนธ์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย