สบตาเธอแล้วโลกหยุดหมุน เจอกันครั้งแรกก็ปิ๊งทันที มันคือรักแรกพบใช่ไหม ? ในงานวิจัย Neuroimaging of love: fMRI meta-analysis evidence toward new perspectives in sexual medicine ระบุว่าคนเราใช้เวลาในการปิ๊งกันสั้นมาก ๆ คือ 0.2 วินาทีเท่านั้น ซึ่ง Stephanie Ortigue นักประสาทวิทยาก็ได้อธิบายไว้ว่า ช่วงเวลาของการปิ๊งกันแม้จะสั้นมาก ๆ แต่ส่งผลให้สมอง 12 ตำแหน่งทำงานพร้อม ๆ กัน จนเกิดการหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น โดพามีน (Dopamine) ออกซิโตซิน (Oxytocin) อะดรีนาลิน (Adrenaline) วาโสเพรสซิน (Vasopressin) ฯลฯ
การตกหลุมรักใครสักคนแบบแรกพบยังส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมความสุขอย่างล้นเหลือทำงาน มันจึงส่งผลให้เรารู้สึกดีมาก ๆ แฮปปี้มากจนบางคนติดใจความรู้สึกนี้และเสพติดอาการตกหลุมรักเลยละ ส่วนอาการของคนที่ตกหลุมรักแบบแรกพบนั้น แม้จะสบตากันแป๊บเดียวแต่เราจะจำภาพของเธอหรือเขาได้แม่นมาก และภาพนั้นอาจอยู่ในสมองเราได้นานเป็นปี นอกจากการจดจำภาพได้แล้ว เราจะรู้สึกคิดถึงเธอหรือเขาตลอดทั้งวันด้วย โดยในงานวิจัยได้บอกไว้ว่า ฝ่ายชายมักจะเป็นฝ่ายที่ปิ๊งได้ไวกว่าฝ่ายหญิง เพราะสมองของผู้ชายตอบสนองเรื่องการมองเห็นมากกว่าผู้หญิงนั่นเอง
สรุปได้ว่าเราไม่ได้คิดกันไปเองเวลาที่เจอใครแล้วปิ๊งมาก เพราะอาการตกหลุมรักแบบแรกพบนั้นมีจริง และมันยังส่งผลต่อสมองและร่างกายของเราด้วย ไม่ว่าจะตกหลุมรักใครจนลืมหน้าเขาไม่ได้ คิดถึงเขาตั้งแต่ตื่นจนนอนก็ยังเก็บไปฝัน แต่ยังไงก็อย่าลืมรักและเทคแคร์ตัวเองด้วยน๊า
แหล่งข้อมูล
- Neuroimaging of love: fMRI meta-analysis evidence toward new perspectives in sexual medicine
- ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์. (2560). อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ: มติชน