สารเคมีประเภทหนึ่งที่หลาย ๆ บ้านใช้กัน คือน้ำยาซักผ้าขาว หรือสารฟอกขาวคลอรีน ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปของสารละลายโซเดียมไฮโพคลอไรต์ (Sodium hypochlorite, NaOCl) 2.5% ในน้ำ สารประเภทนี้หากนำไปผสมกับสารเคมีประเภทแอมโมเนียหรือกรด จะทำให้เกิดเป็นแก๊สคลอรีนที่เป็นแก๊สพิษได้
ตัวอย่างเช่น
เมื่อผสมน้ำยาซักผ้าขาวคลอรีน กับสารเคมีสำหรับทำความสะอาดท่อของโถชักโครกหรือผสมกับน้ำส้มสายชูที่มีความเป็นกรด จะทำให้เกิดแก๊สคลอรีน โดยน้ำยาซักผ้าขาวคลอรีน (ซึ่งผสมอยู่ในน้ำ) จะค่อย ๆ สลายตัวกระทั่งได้เป็นกรดไฮโพคลอรัส (HOCl)
NaOCl (โซเดียมไฮโพคลอไรต์) + H2O (น้ำ) ↔ HOCl (ไฮโพคลอรัส)+ Na+ (โซเดียมไอออน) + OH- (ไฮดรอกไซด์)
กรดไฮโพคลอรัส (HOCl) เป็นตัวออกซิไดซ์ (ให้อิเล็กตรอน) ที่ดีมาก และนี่เองที่ทำให้สารฟอกขาวเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ดี แต่เมื่อผสมกับสารเคมีที่มีความเป็นกรดแล้ว จะได้เป็นแก๊สคลอรีนออกมา ดังสมการ
HOCl (ไฮโพคลอรัส)+ HCl (กรดไฮโดรคลอริก) ↔ H2O (น้ำ) + Cl2 (คลอรีน)
2HOCl (ไฮโพคลอรัส) + 2HAc (กรดอะซิติกในน้ำส้มสายชู) ↔ Cl2 (คลอรีน) + 2H2O (น้ำ) + 2Ac- (อะซิเตตไอออน)
(หมายเหตุ Ac : CH3COO)
แก๊สคลอรีนเป็นแก๊สที่มีกลิ่นฉุน หากสูดดมหรือสัมผัสจะทำให้มีอาการระคายเคืองตั้งแต่เยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก ทางเดินหายใจ และลำคอ น้ำตาไหล ไอ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น
แอมโมเนีย (NH3) เป็นสารที่มีสมบัติเป็นเบส อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาถูพื้น น้ำยาเคลือบเงา น้ำยาทำความสะอาดท่อน้ำ โดยทั่วไปจะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 5-10% หากผสมกับน้ำยาซักผ้าขาวคลอรีน จะทำให้เกิดแก๊สคลอรามีน (H2Cl) ซึ่งเป็นแก๊สพิษที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตา ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และอาจมีอาการหายใจลำบากตามมาด้วย
NH3 (แอมโมเนีย) + NaOCl (โซเดียมไฮโพคลอไรต์) → NH2Cl (คลอรามีน) + NaOH (โซเดียมไฮดรอกไซด์)
น้ำยาซักผ้าขาวเมื่อผสมกับแอลกอฮอล์แล้วจะเกิดเป็นคลอโรฟอร์ม ซึ่งเป็นแก๊สพิษอีกชนิดหนึ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะมันเป็นของเหลวที่ไม่มีสีและระเหยเป็นไอได้อย่างรวดเร็ว ไอของมันจะทำให้ระคายเคืองดวงตา ทำลายตับ ไตและระบบประสาท โดยสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางผิวหนังได้อีกด้วย
CH3CH2OH (เอทานอล) + 4NaOCl (โซเดียมไฮโพคลอไรต์) + 2NaCl (โซเดียมคลอไรด์) + H2O (น้ำ) → 2CHCl3 (คลอโรฟอร์ม) + 6NaOH (โซเดียมไฮดรอกไซด์)
นอกจากนี้การผสมสารเคมีที่มีความเป็นกรดและเบสสูงเข้าด้วยกัน ยังสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรง เกิดความร้อนสูง และอาจเป็นอันตรายได้หากมีการปะทุขึ้นมาสัมผัสกับร่างกายของเรา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ก๊าซพิษ อันตรายจากภาวะขาดออกซิเจน
- สระว่ายน้ำอันตรายกว่าที่คิด
- สระว่ายน้ำใส่ได้แค่คลอรีนจริงหรือ
- ค่า pH ของสารละลาย