Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 วิธีออกกำลังสมองให้ฉลาดขึ้น ด้วยวิธี ‘Neurobic exercise’’

Posted By Plook Magazine | 22 ม.ค. 64
16,168 Views

  Favorite

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สมองของคนเรานั้นก็ต้องการออกกำลังกายไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะการที่เราใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเคยชินจนติดนิสัย จากการสั่งการของจิตใต้สำนึกนาน ๆ เข้า สมองก็จะไม่ได้ถูกกระตุ้นมากนัก ทำให้คิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ค่อยออก ความจำไม่ดีขึ้น ใครที่ไม่อยากให้สมองแก่ก่อนวัยต้องทราบแล้วเปลี่ยน !

 

 

Neurobic exercise หรือ การออกกำลังนิวโรบิก เป็นการส่งเสริมให้เราได้ใช้พื้นที่ในสมองบางส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เพื่อที่จะให้สมองส่วนนี้ไม่ฝ่อหรือขึ้นสนิมเสื่อมไปซะก่อน เพราะสมองก็ไม่ต่างจากกล้ามเนื้อที่หากไม่ได้ใช้งานนานก็จะลีบเล็ก ไม่มีแรง ทำให้เรารู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า การออกกำลังสมองแบบนิวโรบิกถูกคิดค้นเมื่อปี 1999 โดย Katz & Rubin

 

สลับที่ของบนโต๊ะอ่านหนังสือ 

เริ่มที่จัดโต๊ะใหม่ จัดที่วางของใหม่ จากที่จะวางคอนโดปากกาไว้ที่ข้างขวาก็ลองย้ายมันไปไว้ข้างซ้าย หรือจะหมุนทิศทางของโต๊ะไปทางใหม่ เราจะได้เปลี่ยนทิศทางนั่ง เปลี่ยนที่วางถังขยะใหม่ไปไว้ในมุมที่เราไม่เคยวาง เอาที่สะดวกนะไม่ใช่ว่าต้องเอาไปวางบนหลังคา สลับที่วางนิดหน่อยเพื่อจะได้กระตุ้นสมองให้จดจำตำแหน่งใหม่ ๆ 

 

ทบทวนเหตุการณ์ 3 อย่างก่อนนอน 

คนเราไม่ชอบทบทวน มักปล่อยให้เหตุการณ์ในแต่ละวันผ่านไป จะทบทวนก็เมื่อเป็นเรื่องแย่ ๆ มากกว่าเรื่องดี ๆ ทำให้เกิดการคิดมาก การทบทวนเหตุการณ์ 3 อย่างก่อนนอนจะช่วยฝึกฝนรหัสสมองด้านความคิด เช่น วันนี้เราได้ทำอะไรที่สนุกที่สุด ยากที่สุด ทำแล้วไม่สำเร็จบ้าง แล้วลองระบุสาเหตุและทางแก้หรือทางออก นอกจากนี้ยังสามารถฝึกสมองด้านความคิดด้วยการตั้งเป้าหมาย 1 วัน ด้วยคำไม่เกิน 10 คำ หรือ มองหาข้อดีของคนรอบข้างให้ได้ 3 ข้อ

 

พูดคุยกับผู้คน

การสนทนากับผู้คนความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเราไม่รู้เลยว่าเราจะเจออะไรบ้าง มันไม่เหมือนการคุยกับเพื่อนที่เราสนิทกัน การสนทนากับคนที่มาจากพื้นเพที่ต่างกัน วัฒนธรรมที่ต่างกัน การไปเดินตลาดที่ไม่เคยเดินจะช่วยกระตุ้นสมองในส่วนของการได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เทียบเท่ากับการได้ไปเที่ยว กระตุ้นการหลั่ง dopamine ที่เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจ (motivation neurotransmitter) ซึ่งจะช่วยเราลดปัญหา burn out หรือภาวะหมดไฟได้ด้วย

 

ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดบ้าง 

การแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เปลี่ยนมือที่ใช้จับช้อนส้อมในการทานอาหาร ลองใช้ตะเกียบแทนช้อนส้อมทานข้าว เปลี่ยนมือในการจับเมาส์ การที่เราเปลี่ยนวิธีในการทำสิ่งต่าง ๆ สมองในส่วนที่ไม่เคยถูกใช้เลยก็จะถูกใช้งาน และยังเป็นการได้ฝึกใช้สมองทั้งสองข้างด้วย สุดปัง ! 

 

อ่านป้ายโฆษณา

ในขณะที่รถติดบนทางด่วน ป้ายโฆษณาตามร้านรวงต่าง ๆ ที่เรียงรายกันไกลสุดลูกหูลูกตาก็สามารถที่จะฝึกสมองของเราได้ การอ่านป้ายโฆษณาออกเสียงแบบฟรีสไตล์เหมือนแบบที่เราเคยได้ยินในทีวีหรือวิทยุ เพราะเวลาที่อ่านออกเสียง สมองทั้งซีกซ้ายและขวาจะกระตุ้นสมองชั้นนอกให้ทำงานไปพร้อมกันโดยเฉพาะส่วนของการได้เห็นและได้ยิน 

 

หลับตาตอนอาบน้ำ   

เวลาที่เราลืมตาทำอะไรสักอย่าง ประสาทสัมผัสส่วนการมองเห็นจะทำงานเป็นตัวบอส คือทำงานหนักที่สุดทำให้ส่วนอื่น ๆ ทำงานนิดเดียว ดังนั้นลองหลับตาขณะทำกิจกรรมที่ไม่เป็นอันตราย เช่น อาบน้ำ สระผม ผูกเชือกรองเท้า ใช้เครื่องคิดเลข พิมพ์แชทมือถือ ซักผ้าที่ไม่ได้เปื้อนมาก หรือตอนทานอาหาร ฯลฯ เพราะเมื่อเราปิดการรับรู้บางส่วน การรับรู้ส่วนอื่นจะทำงานหนักขึ้นโดยอัตโนมัติ เหมือนอย่างที่เรายกของด้วยมือเดียว มือข้างที่ยกก็จะทำงานหนักกว่ามือข้างที่ไม่ได้ยก ซึ่งสมองในส่วนได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ก็จะได้เป็นพระเอกบ้าง เพราะอย่างนี้ไง นักชิมอาหารบางคนถึงชอบหลับตาชิมอาหาร เพราะเขาอยากจะกระตุ้นสมองส่วนได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ให้สตรองขึ้นเท่า ๆ กับส่วนมองเห็น

 

เปลี่ยนทางกลับบ้านในแต่ละวัน

ในวันที่ไม่รีบ มีเวลาเหลือชิลล์ ๆ ให้เราลองเปลี่ยนเส้นทางการเดิน ขี่จักรยาน หรือเปลี่ยนสายรถเมล์กลับบ้าน เพราะการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน cortex และ hippocampus ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การจัดเก็บและจัดระเบียบความทรงจำ เหมือนอย่างที่ Bill Gates มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ก็เลือกที่จะฝึกสมองด้วยวิธีนี้ เขาขับรถจากบ้านไปที่ทำงานด้วยเส้นทางที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน 

 

ท่องพยัญชนะกลับหลัง วางของกลับหัว 

ไม่ถึงกับต้องนอนกลับหัวนะ แค่ลองคิดกลับหัวจากหลังไปหน้าดู เช่น ท่อง ฮ-ก, z-a หรือพยัญชนะภาษาอื่นที่เรากำลังเรียนอยู่ หรือการวางตารางเรียน ปฏิทิน นาฬิกาตั้งโต๊ะ รูปภาพกลับหัว เพราะปกติเวลาที่เรามองสิ่งที่มันตั้งอยู่ในตำแหน่งปกติ สมองซีกขวาจะทำงานหนัก แต่เมื่อเราวางมันกลับหัวสมองซีกซ้ายจะได้ทำงานบ้าง เพราะเราต้องตีความเพิ่มและเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นให้ออกมาเป็นภาพอันซับซ้อน และทำให้เราใช้ประสาทสัมผัสทางตามากขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสมองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก 

 

ทายเสียงจากการได้ยิน ได้กลิ่น  

เวลาที่เราได้ยินเสียงอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในหู อย่าเพิ่งรีบหันไปมองทันที ให้เรานึกก่อนว่านั่นน่าจะเป็นเสียงอะไรหรือเสียงของใคร ตอนเด็ก ๆ เรามักจะได้ใช้สมองส่วนนี้บ่อย ๆ เพราะพ่อแม่มักจะให้เราทายว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงของอะไร เช่น เสียงจิ๊บ ๆ คือเสียงนก เสียงเมี๊ยว ๆ คือน้องแมว แต่พอโตขึ้นเราก็มักจะไม่ได้ใช้เลยเพราะไม่ค่อยได้เล่นทายเสียงแล้ว โดยปกติสมองของคนเราแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ด้วยการมองเห็น แต่เมื่อเราเปลี่ยนไปเป็นการได้ยินบ้างก็จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองที่ควบคุมการได้ยินให้ดีขึ้น      

 

ลองชิมอาหารที่ไม่เคยลอง

ลองชิมอะไรที่ไม่เคยทานดู (แต่ถ้ารู้ว่าแพ้้ก็ไม่ต้องชิมนะ) เพราะจมูกคนเราสามารถแยกกลิ่นที่แตกต่างกันได้เป็นล้านกลิ่น แต่จะค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ เมื่อไม่ได้ใช้งาน เช่นเดียวกับต่อมรับรส เมื่อเคยชิมแต่อะไรเดิม ๆ สมองส่วนกลางเราจะไม่ได้ออกกำลังมากเท่ากับการลองชิมอาหารเมนูใหม่ ๆ ดังนั้นอาหารรสชาติใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรับรสและความรู้สึกใหม่ ๆ ในสมองได้ด้วย

 
 
 

แหล่งข้อมูล 
- Toshinori Kato. (2559). 66 วิธีลับคมสมอง. แปลจาก NOU NO KYOUKASHO: 66 Methods to Strengthen Your Brain. แปลโดย อังคณา รัตนจันทร์. กรุงเทพฯ: อินสปายร์

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow