ถือเป็นเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมไม่น้อยในบ้านเรา ใช้กินคู่กับอาหารฝรั่งหลายอย่างทีเดียว แต่ทราบหรือไม่ว่า คำว่า Ketchup มีต้นกำเนิดจากภาษาจีน นั่นคือ คำว่า “คีเซียบ” ซึ่งเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง น้ำปลาหมักที่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร เป็นเครื่องปรุงที่คนจีนนิยมใช้กันทั่ว ต่อมาชาวอังกฤษได้นำเครื่องปรุงนี้มาปรับสูตรใหม่และผสมกับวัตถุดิบบางอย่าง เช่น เห็ด หอยนางรม ถั่ววอลนัท รวมทั้งมะเขือเทศ ปรุงรสจนกล่อมกลอมถูกปาก เกิดเป็นซอสปรุงรสที่ได้รับความนิยมในชาติตะวันตกอย่างแพร่หลาย และคำว่า คีเซียบ ก็เรียกกันจนเพี้ยนไปเป็น Ketchup ในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน เราเริ่มคุ้นเคยกับการใช้หุ่นยนต์ หรือ Robot ทำงานต่าง ๆ ย้อนหลังไปในปีค.ศ. 1920 มีการเริ่มใช้คำว่า Robot ในละครเวทีเรื่อง "Rassum's Universal Robots" คำว่า Robot มาจากคำว่า “Robota” ซึ่งเป็นภาษาเช็ก แปลว่า การทำงานเสมือนทาส ละครมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการประดิษฐ์หุ่นยนต์มาเป็นทาสทำงานรับใช้มนุษย์ จนกระทั่งหุ่นยนต์เริ่มมีความรู้สึกนึกคิด และไม่ยอมตกเป็นทาสอีกต่อไป จึงเกิดการต่อต้านขึ้น
คำนี้มีที่มาจากภาษาอิตาเลียน คือ คำว่า “Quaranta giorni” โดยคำนี้มีความหมายว่า 40 วัน ในอดีตมีการกักกันผู้ที่โดยสารมากับเรือไว้เป็นเวลา 40 วัน ก่อนจะอนุญาตให้เข้าเมืองเวนิส ประเทศอิตาลีได้ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีการแพร่ระบาดของกาฬโรค ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย จึงจำเป็นต้องกักกันตัวไว้ให้แน่ใจว่าคนที่มาจากต่างเมืองไม่มีเชื้อโรค
คำนี้มีต้นกำเนิดจากภาษาฮินดี คือ คำว่า “chāmpo” มีความหมายว่า นวด หรือ นวดศีรษะด้วยน้ำมัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 Sake Dean Mahomed ชาวอินเดียได้เปิดร้านให้บริการนวดบำรุงศีรษะด้วยสมุนไพรตามแบบอินเดียขึ้นที่ประเทศอังกฤษ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างพากันเรียกขานการนวดศีรษะแบบนี้ว่า Shampoo ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคำที่หมายถึงยาสระผมในที่สุด
คำว่า Barbecue นั้นมีที่มาจากภาษาสเปน คำว่า “Barbacoa” ซึ่งแปลว่า เปลวไฟจากไม้ย่าง ในอดีตนั้น นักสำรวจชาวสเปนที่ได้เดินทางไปยังดินแดนอเมริกาใต้และบริเวณหมู่เกาะแคริปเบียน ได้พบเห็นวิธีการย่างและรมควันเนื้อสัตว์บนตะแกรงไม้เหนือกองไฟ ของชาวอินเดียนแดง ต่อมาจึงได้นำวิธีย่างอาหารบนเปลวไฟแบบนี้มาเผยแพร่ในดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา
คำว่า Malaria มีที่มาจากภาษาอิตาเลียน ซึ่งประกอบด้วยคำว่า “Mal” ซึ่งแปลว่า ไม่ดี กับคำว่า “Aria” ซึ่งแปลว่า อากาศ ในอดีตเมื่อราวศตวรรษที่ 17 ชาวโรมันมีความเชื่อว่า การสูดดมเอาอากาศที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำขังรอบตัวเมือง เข้าสู่ร่างกายทำให้เป็นโรคไข้มาลาเรีย แต่ความจริง คือ โรคนี้เกิดจากการถูกกัดโดยยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะนำโรค ยุงมักมาวางไข่ในพื้นที่น้ำขัง ทำให้บริเวณลุ่มน้ำขังมียุงก้นปล่องมากมายเป็นพิเศษ