เป็นการเอาธรรมชาติในการสร้างรังของนกมาเปรียบเทียบกับการกระทำของคน เนื่องจากนกจะสร้างรังตามขนาดตัวของมัน นกตัวเล็กก็จะสร้างรังขนาดเล็ก มันจะไม่สร้างรังที่ใหญ่เกินตัวมันมาก (สำนวนนี้เลยถูกใช้บ่อย ๆ เวลาคนจะซื้อบ้าน)
แต่ถ้าเป็นการใช้ชีวิต ความฝัน การเรียนแล้วล่ะก็ แนวคิดนี้จะขัดขวางความก้าวหน้าเราได้ ด้วยการทึกทักไปเองว่าเรามีความสามารถ ‘แค่นี้’ และไม่สามารถที่จะ ‘ก้าวหน้า’ ได้มากกว่านี้ ดูเจียมเนื้อเจียมตัวเกินเหตุที่จะต้องใช้ชีวิตตามฐานะทั้งที่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น ถ้าเข้าใจได้ว่าทุกอย่างในโลกกำลังพัฒนาไปข้างหน้าและเรายังปรับปรุงได้อีก สุดท้ายแล้วเราจะทำรังใหญ่แค่ไหนก็ได้ถ้าเราวางแผนให้ดีและพร้อมที่จะเรียนรู้
ไม่ว่าจะเป็นคนเฮงซวยประเภทไหนก็สร้างความวุ่นวายให้เราทั้งนั้น วิธีรับมือกับคนเหล่านี้ไม่ใช่การท้าตี ท้าต่อย ไปสู้รบปรบมือเพื่อเอาชนะ หรือหาทางกำจัดพวกเขาให้สิ้นซากด้วยเล่ห์กล แต่เราควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีที่จะพาตัวเองออกไปจากคนเหล่านั้นต่างหาก
เพราะยิ่งเรายอมรับคนเฮงซวยให้เข้ามาในชีวิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้มาตรฐานในการคบคนของเราค่อย ๆ ลดลงเท่านั้น กลายเป็นว่าเราจะยอมรับคนแบบนั้นมากขึ้น และคิดว่าเราเหมาะสมกับคนเหล่านั้นทั้งที่เราควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า ตัด คน เฮง ซวย ออก ไป ซะ ตั้งแต่ทีแรก อย่ายอมให้อำนาจหรือพลังบางอย่างแก่เขาเพื่อที่จะให้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์หรือมาทำให้เราติดขัดในการใช้ชีวิต
Shlomo Benartzi นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้พูดสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เกี่ยวกับ ‘อคติชอบปัจจุบัน’ (present bias) หรืออาการสายตาสั้นทางการเงิน คือคำอธิบายของคนที่จ่ายเพื่อบางสิ่งทันที ไม่ชอบที่จะเสียสละความสุขในวันนี้เพื่อความสุขในวันหน้า ชอบที่จะมีความสุขในปัจจุบันทันด่วนแม้รู้ว่าถ้ารออีกหน่อยเราจะได้สิ่งที่คุ้มค่ามากกว่าก็ตาม
ผลที่ตามมาก็คือความเสียหายที่เราอาจจะมองไม่เห็น เช่น ทำให้เราออมเงินไม่สำเร็จ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีระเบียบวินัยทางการเงิน มีเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ พาลทำให้ในอนาคตเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิตก็จะเป็นปัญหาเพราะฐานไม่แข็งแรง แนะนำให้ปรับมาใช้แนวคิด ‘Saving for tomorrow, tomorrow’ เก็บไว้เผื่อวันพรุ่งนี้และวันมะรืนด้วย
หลายคนมักพลาดให้กับเรื่องของหัวใจ และไม่ว่าใครต่างก็ต้องเคยว้าวุ่นใจกับเรื่องความรัก ‘เขาทำแบบนี้แปลว่ายังไงคะ ?’ ‘แอบชอบรุ่นพี่ ทำยังไงดี’ ‘จับได้ว่าแฟนนอกใจจะให้อภัยดีไหมครับ’ รักครั้งนี้มันยังไงแน่’ ซึ่งไม่เป็นไรเพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่อย่างน้อย ๆ ก็ควรจะรู้ไว้ว่าคนแบบไหนที่เราควรจะปิดไฟใส่และคนแบบไหนที่ควรจะให้โอกาส
เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนคลั่งรักจนเกินไป จงตามหาคนที่ทำให้เราสามารถทำทุกอย่างได้ดีขึ้น ในแบบที่เราไม่สามารถทำได้เวลามีเพียงตัวคนเดียว แล้วเราจะได้พบช่วงเวลาที่สวยงาม แต่เมื่อไหร่ที่เจอความรักที่เหมือนจะกลืนลงคอก็ไม่ได้ จะคายทิ้งก็ตัดใจไม่ลง ได้แต่อมไว้ในปากก็ให้คิดเยอะ ๆ
การรู้จักเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่ดี แต่การเอาตัวรอดด้วยการแก้ตัวไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ นอกจากจะทำให้เรากลายเป็นคนที่รับความจริงไม่ได้ ไม่รับผิดชอบแล้ว ยังทำให้เราเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีเครดิต อยากให้ทิ้งนิสัยฉันไม่ผิด ฉันไม่รู้ ฉันไม่เกี่ยว ออกไป
รู้จักยอมรับความผิดเมื่อเรามีส่วนผิดจริง กล้าเผชิญหน้า กล้ายอมรับความจริง และมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานั้นซ้ำ เพราะนั่นเป็นวิธีที่ควรจะใช้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่ทำงานในอนาคต ลองถามตัวเองดูว่าเราจะชอบใครมากกว่ากัน อยากร่วมงาน อยากใช้ชีวิตกับใครมากกว่ากันระหว่างคนที่ชอบแก้ปัญหากับคนที่ชอบแก้ตัว ?
ในอนาคตปัญหาสุขภาพจิตจะกลายมาเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของโลก และนิสัยชอบตำหนิตัวเองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเราป่วยใจ ดังนั้นควรตระหนักไว้ว่าเราอยู่ในยุคที่มีมาตรฐานหยุมหยิมหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่มากมาย เช่น beauty standards, toxic masculinity หรือ racist
ทุกครั้งที่เราไม่ได้มีและไม่ได้เป็นเหมือนคนอื่น เรามักจะกล่าวโทษตัวเองเสมอว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวนั้น ซึ่งแม้ว่าจะมีความจริงอยู่บ้างแต่การตำหนิตัวเองไม่ใช่ทางออก เราจะเสียใจให้กับสิ่งที่ผ่านไปหรือทำพลาดไปแล้วเท่าไหร่ก็ได้ แต่อย่าโทษตัวเองซะจนก้าวต่อไปไม่ไหว ให้ประเมินตัวเองแทนการตำหนิตัวเอง เพื่อทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตต่อไป