Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จักรูปแบบของความผูกพัน เรามีความสัมพันธ์แบบไหนกับคนรอบข้าง

Posted By Plook Magazine | 22 ม.ค. 64
8,335 Views

  Favorite

เคยสงสัยไหมว่าเรามีความผูกพันกับเพื่อนสนิท คนรัก หรือครอบครัวแบบไหน เพราะในทุก ๆ ความสัมพันธ์ต่างก็มีรูปแบบของความผูกพันอยู่ มาทำความรู้จักศาสตร์แห่งความผูกพัน พร้อมสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างกันเลย  

 

 

“นักจิตวิทยาเรียกวิธีที่เราใช้เชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่นว่า ‘รูปแบบความผูกพัน’ (attachment styles)
โดยเราจะได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่วัยเด็กในลักษณะความผูกพันที่ทารกหรือเด็กเล็กมีต่อผู้ปกครอง”

รู้จักรูปแบบของความผูกพัน

จากผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology เมื่อปี 1991 โดยนักวิจัยชื่อ คิม บาร์โธโลมิว (Kim Bartholomew) และเลเนิร์ด โฮโรวิตซ์ (Leonard Horowitz) พวกเขาได้สรุปรูปแบบความผูกพันออกเป็น 4 แบบหลัก ๆ ดังนี้

 

 

ความผูกพันแบบหมกมุ่น

เราจะรู้สึกว่างเปล่า รู้สึกเหมือนขาดอะไรไปเมื่อไม่มีอีกฝ่าย เราต้องการเขาเพื่อทำให้เราและความสัมพันธ์ของเรามีค่าอยู่เสมอ หากเขาเพิกเฉยหรือทำตัวไม่เหมือนเดิม เช่น ไม่ทัก ไม่คุย เป็นต้น เราก็จะเริ่มรู้สึกกลัว กลัวว่าสักวันเขาอาจทิ้งเราไป อาการติดเพื่อน ติดแฟน หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ อย่างพ่อแม่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าชีวิตลูก ทั้งหมดนี้คือลักษณะเด่นของความผูกพันในรูปแบบนี้ 

 

 

ความผูกพันแบบหมางเมิน

เราจะมีความรู้สึกห่างเหินทางอารมณ์และปิดกั้นตัวเองประมาณนึง คือใส่ใจตัวเอง รู้ความต้องการของตัวเอง และแกล้งทำเป็นว่าเราไม่ต้องการใคร I don’t care เมื่อความสัมพันธ์เริ่มสนิทมากขึ้นหรือมีการยุ่งเรื่องส่วนตัวมากไป เรามักจะก้าวออกมาจากความสัมพันธ์นั้น เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับความเปราะบางของความสัมพันธ์ แต่สุดท้ายแล้วก็จะกลับไปมีความสัมพันธ์ด้วยเหมือนเดิมอยู่ดี

 

 

ความผูกพันแบบหวาดกลัว

คนที่เราต้องการ คนที่เรารัก คนที่เราสนิท เขากลับเป็นคนที่เรากลัวว่าจะทำร้ายเรามากที่สุด ทำให้เรามักอารมณ์เสียหรือมีอารมณ์แบบคาดเดาไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ของเรามักจะมีปัญหาหรือเอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่น เด็กโดนผู้ปกครองทำร้ายร่างกาย แต่ก็รู้สึกรักเพราะเลี้ยงดูมา ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกลัวและระแวงไปด้วย หรือมีเพื่อนที่ชอบพูดจาแรง ๆ พูดดูถูก ด่าเราบ่อย ๆ แต่รู้สึกสนิทที่สุดเพราะคบกันมาตั้งแต่เด็ก เป็นต้น

 

 

ความผูกพันแบบมั่นคง

เป็นความผูกพันที่ยกให้เป็นนัมเบอร์วัน เพราะเป็นความผูกพันที่ทุกคนใฝ่ฝัน ความผูกพันรูปแบบนี้จะมีความซื่อสัตย์และเท่าเทียมกัน จุดเด่นคือความอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทอดทิ้งหรือรู้สึกเหงา ตัวเรามักเชื่อว่าอีกฝ่ายจะเปิดเผยและเป็นกำลังใจที่ดี ไม่โหดร้าย ควบคุมความคิด หรือไม่เอาใจใส่ โดยเราจะเคารพและชื่นชมคุณค่าของตัวเองและอีกฝ่ายด้วย

 

สรุปได้ว่าเราทุกคนจะเริ่มสร้างแบบแผนของความผูกพันขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยเรียนรู้ลักษณะความผูกพันจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเรา ซึ่งนักจิตวิทยาก็ได้บอกไว้ด้วยว่า รูปแบบความผูกพันของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามการเรียนรู้ การเติบโต และประสบการณ์ที่เราได้พบเจอมา 


 

แหล่งข้อมูล
Jennifer Lang. (2563). เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น. แปลจาก Consent: The New Rules of Sex Education. แปลโดยธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ bookscape

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow