เป็นเรื่องโกหกที่จะพูดว่านักสเก็ตช์ภาพคนร้ายไม่จำเป็นต้องจบศิลปะมาก็ได้ เพราะนักสเก็ตช์ภาพคนร้ายจำเป็นต้องจบปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์หรือใกล้เคียง เพราะต้องใช้ความรู้ทางด้านการวาดรูป การปั้น และการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งหากใครเรียนต่อหรือมีประสบการณ์ทางด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ก็จะได้เปรียบ
โดยนักสเก็ตช์ภาพคนร้ายจะทำงานให้กับฝ่ายศิลป์ของหน่วยงานกองทะเบียนประวัติอาชญากรหรือจะเรียกว่า ‘ตำรวจนักสเก็ตช์ภาพ’ ก็ได้ ซึ่งจะทำงานในส่วนของการสเก็ตช์ภาพในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันรอยนิ้วมือหรือ DNA ได้ ในคดีที่มีคนร้าย คนหาย หรือแม้กระทั่งสเก็ตช์ภาพศพร่วมกับนักสืบ ไม่ใช่อาชีพที่แค่มีสกิลวาดรูปเก่งเพียงอย่างเดียวแล้วจะเข้ามาทำได้ ต้องมีการฝึก การเทรนเป็นพิเศษก่อน
การจะเป็นนักสเก็ตช์ภาพคนร้ายที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ใช้แค่ความสามารถด้านการวาดรูปเท่านั้น ส่วนที่ยากที่สุดกลับเป็นการสัมภาษณ์พยาน พูดคุย ซักถามเพื่อเรียกความทรงจำจากพยานเกี่ยวกับรายละเอียดของคนร้ายให้ได้มากที่สุด เช่น รอยตำหนิ คนร้ายมีตำหนิตรงไหนที่เห็นได้ชัด มีสัดส่วนยังไง ผอม สูง ผมเป็นแบบไหน ตรงหรือหยัก (แบบ, สี) รูปหน้า เชื้อชาติ อายุ รอยสัก รูปร่าง แผลเป็น ชนิดอาวุธ ส่วนที่พิการ ท่าทางการเดิน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือแม้กระทั่งรถที่คนร้ายใช้ เครื่องประดับที่คนร้ายใส่ ซึ่งจะไม่ง่ายเลยเพราะพยานเพิ่งจะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบจิตใจมา บางคนจำได้นิดหน่อย บางคนจำไม่ได้ทั้งหมด จึงทำให้นักสเก็ตช์ภาพคนร้ายต้องรู้จักใช้จิตวิทยาในการทำงานสูง และไม่ใช่อาชีพที่วาดแค่หน้าคนอย่างเดียว ทำให้เงินเดือนสูงตาม
ยกตัวอย่างภาพสเก็ตช์คนร้ายในตำนานที่เรารู้จักกันดีเมื่อปี 2551 นั่นก็คือภาพสเก็ตช์คนร้ายสวมหมวกกันน็อคทั้งหน้าในคดีปล้นธนาคาร ซึ่งชาวโซเชียลก็พากันขำใหญ่ว่าจะจับได้เหรอ หน้าก็ไม่เห็น แต่กลายเป็นว่าตำรวจจับคนร้ายได้ในที่สุดจากการสืบหาจากหมวกกันน็อคที่คนร้ายใช้ เพราะเป็นรุ่นพิเศษที่นำเข้ามาขายเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ถือเป็นการย้ำอีกครั้งว่าอาชีพนักสเก็ตช์ภาพคนร้ายไม่ได้วาดแค่หน้าคนร้ายเท่านั้นเพื่อที่จะจับโจร ขึ้นอยู่กับเคสด้วย เพราะบางเคสก็ต้องเน้นสเก็ตช์รูปหน้าชัด ๆ อย่างเช่นคดีน้องจีจี้ คดีคนหาย เป็นต้น
แหล่งข้อมูล
พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเก็ตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย