Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 เรื่องสุดเซอร์ไพรส์ใน Patpong Museum

Posted By witchy_fah | 04 พ.ย. 63
4,562 Views

  Favorite

ใครที่เคยฟังเพลง “เวลคัมทูไทยแลนด์” ของวงคาราบาวที่ฮิตปลุกกระแสท่องเที่ยวเมืองไทยช่วง 30 กว่าปีก่อน 

ท่อนที่ร้องว่า “ทอม ทอม แวร์ยูโกลาสไนท์? ไอเลิฟเมืองไทย ไอไลค์พัฒน์พงศ์” ช่วยสะท้อนถึงยุครุ่งเรือง

ของถนนพัฒน์พงศ์ แหล่งท่องเที่ยวบันเทิงยามราตรีแสนวาบหวามที่ทำเอาฝรั่งมังค่าติดอกติดใจไม่รู้ลืม

แต่ใครจะไปคิดว่าเบื้องหลังย่านโคมแดงอันแสนโด่งดังของเมืองไทย จะมีความลับมากมายซ่อนอยู่

แบบที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 

1. ถนนพัฒน์พงศ์เคยเป็นดงกล้วย 

       ก่อนการเกิดขึ้นของถนนพัฒน์พงศ์นั้น จุดเริ่มต้น คือ การเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนของชาวจีนที่ชื่อ ตุ้น แซ่ผู่ เพื่อเข้ามาเสาะแสวงหาโชคจากสยามประเทศที่กำลังเฟื่องฟู เขาเริ่มต้นค้าขายข้าว จนการค้าขยับขยายเติบโต ได้สัมปทานกับปูนซีเมนต์ไทย และได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น หลวงพัฒน์พงศ์พานิช ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
       ใครจะคิดว่าถนนแห่งนี้ก่อนจะมีแสงสีแห่งความบันเทิงอย่างพัฒน์พงศ์จะเคยเป็นป่ากล้วยมาก่อน ซึ่งมีเพียงที่ทำการของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นอาคารหลังเดียวในตอนนั้น หลวงพัฒน์พงศ์พานิชตัดสินใจซื้อที่ดินป่ากล้วยนี้ไว้ในราคา 3000 ดอลล่าร์สหรัฐ จนกระทั่งบุตรชายคนที่ 4 นามว่า "อุดม พัฒน์พงศ์พานิช" หนุ่มหัวนอกจบการศึกษาจากอเมริกาได้ตัดสินใจตัดถนนกลางป่ากล้วย เพื่อเชื่อมต่อความเจริญของถนนสุรวงศ์และสีลม ให้กลายเป็นถนนส่วนบุคคลที่พร้อมเปิดรับความศิวิไลซ์จากต่างชาติทั้งในด้านธุรกิจและวัฒนธรรม โดยทางพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ไว้ผ่านแผนที่ คำอธิบาย และโมเดลจำลองพื้นที่พัฒน์พงศ์หรือป่ากล้วยในช่วงเวลานั้นไว้อย่างน่าสนใจ 

 

2. พัฒน์พงศ์ ซอกหลืบความลับของสงคราม 

       แรกเริ่มเดิมที วัตถุประสงค์ของคุณอุดม คือการบุกเบิกถนนสายใหม่ให้เป็นย่านธุรกิจที่ทันสมัย เขาได้ชักชวนเพื่อนชาวต่างชาติ ให้มาลงทุนตั้งกิจการอาคารพาณิชย์ ทำให้เส้นพัฒน์พงศ์คราครั่งไปด้วยบริษัทต่างชาติ (ที่ชื่อคุ้นหู) อย่าง Shell, Caltex, IBM สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รวมไปถึงสายการบินและร้านอาหารต่างชาติและธุรกิจบันเทิงอีกมากมาย จนเรียกได้ว่า ถ้าคุณอยากจะมาคุยธุรกิจหรือซื้อตั๋วเที่ยวต่างประเทศสักใบ ก็ต้องมาที่พัฒน์พงศ์แห่งนี้
       แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า อาคารหลังสีส้มแห่งหนึ่งในถนนพัฒน์พงศ์จะเป็นที่ทำการลับของ CIA (Central Intelligence Agency) หน่วยข่าวกรองเพื่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นมีการต่อสู้กันของสองฝั่งแนวคิดทางการเมืองอย่างคอมมิวนิสต์และเสรีนิยม และสมรภูมิที่ไม่ใกล้ไม่ไกลบ้านเรา คือ เวียดนามนั่นเอง  ณ ช่วงเวลานั้น CIA ได้เปิดบริษัทด้านการขนส่งที่ชื่อ Civil Air Transport บังหน้าเพื่อทำภารกิจ จึงอาจไม่มีใครจะเอะใจเลยว่าชาวต่างชาติที่เดินเตร็ดเตร่อยู่บนถนนแห่งความบันเทิงแห่งนี้ อาจเป็นสายลับ เป็นทหารนอกเครื่องแบบ หรือเป็นตำนานนักฆ่า อย่าง Tony Poe อดีตทหารดาวเด่นของพัฒน์พงศ์ ที่เรื่องราวของเขาถูกเล่าขานไว้มากมาย ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
       มิวเซียมเล่าเรื่องส่วนนี้ผ่านของสะสมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานของ CIA  เรื่องราวการเข้าร่วมฝึก OSS (ต่อมาคือหน่วย CIA) ของคุณอุดม พัฒน์พงศ์พานิช รวมถึงป้ายห้างร้านและสื่อ propaganda  ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความต่างของขั้วอำนาจการเมืองทั้งสองฝั่งที่สะท้อนชุดความคิดในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

3. ความบันเทิงสุดตราตรึงที่ดังไปถึงฮอลลีวูด

       วันเวลาผ่านไป เมื่อสงครามสิ้นสุดลง พัฒน์พงศ์ยังคงสว่างไสว ด้วยธุรกิจบันเทิงที่คับคั่ง บริษัทต่างชาติประเภทอื่น ๆ แม้จะเริ่มทยอยย้ายออกหรือปิดตัว แต่กลับมีธุรกิจสายบันเทิงผุดขึ้นแทนที่อย่างทวีคูณทั้งร้านอาหาร บาร์ Night Club รวมทั้งธุรกิจบริการทางเพศ ชื่อเสียงของถนนพัฒน์พงศ์ เริ่มกลายเป็นถนนสายบาปของเมืองไทยไปโดยปริยาย นักท่องเที่ยวมากมายหลั่งไหลเข้ามาเสพความบันเทิงสุดวาบหวามจนชื่อเสียงโด่งดังไกล เห็นได้จากสื่อต่าง ๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์รวบรวมจัดแสดงไว้ให้ชม ทั้งการเดินทางมาถ่ายทำ Music Video เพลง Ricochet ของ David Bowie และนักแสดงฮอลลีวูดมากหน้าหลายตาที่ผู้ชมสามารถส่องผ่าน notepad ว่าคนดังคนไหนที่เคยมาเยือนพัฒน์พงศ์แห่งนี้แล้วบ้าง 

 

4. บาร์อะโก้โก้กับช่องโหว่ทางกฎหมาย

       ในช่วงปี 2512 การจะเปิดสถานบันเทิงในประเทศไทยจะต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตสองประเภทด้วยกัน คือใบอนุญาตสถานบันเทิง และใบอนุญาตเต้นรำ (ซึ่งหมายถึงการเต้นรำในรูปแบบที่มีคู่เต้นเท่านั้น) จุดเริ่มต้นของอะโกโก้เกิดจากบาร์ของอดีตทหารอเมริกันนามว่า Rick Menard ผู้ซึ่งผุดไอเดียให้สาว ๆ ในชุดวาบหวิวขึ้นเต้นโชว์เดี่ยวสร้างความบันเทิงให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เมื่อเรื่องรู้ถึงหูผู้รักษากฎหมาย จึงเกิดการทวงถามถึงใบอนุญาตเต้นรำขึ้น Rick จึงตอบไปว่า สาว ๆ เหล่านั้นเธอเพียงแค่สนุกและเต้นไปตามเสียงเพลง และไม่ได้มีคู่เต้นเสียหน่อย นั่นล่ะ หลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเต้นแบบ  Go Go Dancing แห่งแรกในเมืองไทย
       ถ้าผู้ชมอยากย้อนเวลาเพื่อไปสัมผัสถึงบรรยากาศ ก็ลองเข้าไปนั่งในบาร์ 18+ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองไว้ได้ ในบาร์ตกแต่งสไตล์ให้เหมือนย้อนเวลา พร้อมเสิร์ฟด้วยเครื่องดื่มให้คุณเลือกสรร ดื่มด่ำเคล้าเสียงเพลง ไฮไลท์ในห้องนี้น่าจะเป็นจอ LED ทีฉายภาพการเต้นสุดเซ็กซี่ของสาว ๆ ให้คุณได้เปิดประสบการณ์ใหม่อย่างเพลิดเพลิน 

5. โชว์แบบนี้ก็มีด้วย 

       บนถนนสายบันเทิงอย่างพัฒน์พังศ์ เมนูที่พนักงานจะยื่นให้คุณสั่งอาจไม่ใช่เพียงอาหารหรือเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเมนูโชว์สุดสยิว ที่เรียกว่า "Sex Show" จากสาวสุดเซ็กซี่ให้คุณเลือกได้ตามชอบใจ ตัวอย่างโชว์ที่โด่งดัง ก็มีทั้ง Pussy Ping pong, Pussy Fish in หรือ Pussy Open the Bottle โดยในพิพิธภัณฑ์จะมีไฮไลท์เป็นเครื่องเป่าลูกปิงปองอัตโนมัติให้ผู้ชมได้ลองฝึกรับลูกปิงปอง รวมทั้งจัดแสดง เสา dancing pole ที่ท้าทายให้ผู้ชมลองเข้าไปโหนดูสักครั้ง และ sex toy หลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพถ่ายและวิดีโอของโชว์สุดสยิวที่คุณอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน 

       นอกจากพัฒน์พงศ์มิวเซียมจะทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของถนนสายนี้แล้ว คุณไมเคิล เมสเนอร์ผู้ก่อตั้งมิวเซียมยังหวังว่าจะกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรีต่าง ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมาด้วย โดยพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ พัฒน์พงษ์ ซอย 2 บางรัก เวลาเปิดทำการ : จันทร์ – อาทิตย์ 11:00 น. ถึง 20:00 น. ค่าเข้าชม 350 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Patpong Museum หรือช่องทาง Facebook หากใครอยากมาเปิดโลกประสบการณ์ใหม่ ๆ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ต้องลองมาค้นพบด้วยตัวคุณเอง  

 

ภาพโดย: I am Fonn

เรื่องโดย: Witchy Fah 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • witchy_fah
  • 1 Followers
  • Follow