Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชอบสด ไม่ใส่ถุงยาง เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ง่ายกว่าที่คิด !

Posted By Plook Magazine | 02 พ.ย. 63
31,428 Views

  Favorite

การมีอะไรกันแบบไม่ใส่ถุงยาง เพราะชอบแบบสด ๆ นั้นมีเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น อ้างอิงจากสถิติของกรมควบคุมโรคที่พบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีอัตราการใช้ถุงยางที่ต่ำลง โดยใช้อยู่แค่ 45% เท่านั้น ซึ่งการไม่ใส่ถุงยางเวลามีเพศสัมพันธ์ นอกจากจะเสี่ยงตั้งครรภ์ เป็นคุณพ่อคุณแม่วัยใสได้แล้ว ยังเสี่ยงที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย 

 

“ปัจจุบันวัยรุ่นไทยช่วงอายุ 15-24 ปี มีการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นทุกปี
โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น”

 

“จากสถิติของกรมควบคุมโรคในปี 2562 พบว่า วัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปี
ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน
โดยป่วยเป็นโรคหนองในสูงถึง 69.7 และซิฟิลิสสูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน” 

 

 

การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะสอดใส่เข้าไปไม่ถึงนาที หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกทั้งคู่ ก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งนั้น และนี่คือ 4 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิตที่วัยรุ่นไทยเป็นกันมาก

 

ซิฟิลิส (Syphilis) 

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัส เช่น การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสแผล การรับเลือดจากผู้ติดเชื้อ เป็นต้น โรคซิฟิลิสน่ากลัวตรงที่หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ครบตามคำสั่งของแพทย์ เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอักเสบ หรือเสียชีวิตได้

ระยะฟักตัวของโรค: โดยเฉลี่ยคือ 2-4 สัปดาห์

อาการของโรค:   ระยะแรก - จะมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ลักษณะแผลเรียบสะอาด ขอบแผลแข็ง จับแล้วไม่เจ็บ มักจะเป็นแผลตื้น ๆ และแผลจะหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์ 

ระยะที่สอง - มักจะเกิดหลังจากแผลหายแล้ว 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน โดยจะมีแผลนูนขึ้นที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ระยะนี้อาการอาจหายไปเองได้ แต่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผลเลือดซิฟิลิสเป็นบวกแล้ว 

ระยะที่สาม - มักจะไม่มีอาการของโรค แต่จะตรวจพบเชื้อได้ในกระแสเลือด

 

 

หนองใน (Gonorrhea) 

โรคหนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด เชื้อจึงสามารถแพร่ได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางปาก ทำให้เกิดอาการระคายเคือง รู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะ และมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เป็นหมันหรือมีบุตรยาก

ระยะฟักตัวของโรค: โดยเฉลี่ยคือ 1-14 วัน

อาการของโรค: ผู้ชายจะมีมูกใสไหลออกจากท่อปัสสาวะ โดยมูกใสที่ว่าจะไม่ใช้น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ และจะรู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ รู้สึกปวดที่อัณฑะ และมีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ผู้หญิงจะมีตกขาวผิดปกติ คือมีปริมาณมากขึ้น มีสีเหลืองหรือเขียว รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ มีอาการปวดท้องน้อย และเลือดออกกะปริบกะปรอย 

ส่วนการติดเชื้อที่บริเวณอื่น ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมักมีอาการคล้ายกัน 

ติดเชื้อที่ทวารหนัก - มีอาการปวดหน่วง หรือมีน้ำคล้ายหนองไหลออกมา

ติดเชื้อที่ลำคอ - ส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่ในคนที่มีอาการมักจะรู้สึกเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต

ติดเชื้อที่เยื่อบุตา - มีอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และมีหนองที่ดวงตา

 

หนองในเทียม (Chlamydia)

โรคหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Trachomatis ซึ่งเป็นแบคทีเรียคนละชนิดกับโรคหนองใน แต่การเพร่เชื้อจะคล้ายกัน คือสามารถแพร่เชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก และทางตา (กรณีมีสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อกระเต็นใส่)

ระยะฟักตัวของโรค: โดยเฉลี่ยคือ 1-3 สัปดาห์

อาการของโรค: ผู้ชายจะมีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ มีอาการอักเสบที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และรู้สึกเจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ บางคนอาจมีอาการบวมหรือปวดที่อัณฑะด้วย ผู้หญิงจะมีตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น มักจะรู้สึกเจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ และรู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ บางคนอาจมีอาการเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย 

ส่วนการติดเชื้อที่บริเวณอื่น ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมักมีอาการคล้ายกัน 

ติดเชื้อที่ทวารหนัก - มีอาการเจ็บปวด มีหนองหรือเลือดไหลออกมา

• ติดเชื้อที่ลำคอ - มีอาการเจ็บคอ ไอ และมีไข้

ติดเชื้อที่เยื่อบุตา - มีอาการเจ็บปวด และมีหนองที่ดวงตา

 

 

แผลริมอ่อน (Chancroid)

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi โรคนี้ภาษาชาวบ้านมักจะเรียกว่า ‘ไข่ดันบวม’ เพราะมีแผลที่อวัยวะเพศ มีอาการบวมและเจ็บ บางคนมีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต หากไม่รักษาหนองจะแตกออกจากต่อมน้ำเหลืองได้ 

ระยะฟักตัวของโรค: 1 วัน-2 สัปดาห์

อาการของโรค: มีตุ่มนูนแดงขึ้นที่อวัยวะเพศและค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนอง แผลจะมีความนูน เห็นขอบแผลชัด แผลมักเป็นสีเหลืองปนเทาไปจนถึงสีเทา มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผล คนที่รักษาโรคนี้ไม่หายขาดจะมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ 

ลักษณะอาการที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิง

ผู้ชายจะมีตุ่มแดงขนาดเล็กขึ้นที่อวัยวะเพศไม่เยอะ โดยมักจะขึ้นที่ปลายหนังหุ้มและอัณฑะ หลังจากนั้น 1-2 วัน ตุ่มแดงที่ขึ้นจะกลายเป็นแผลเปิด และมีอาการเจ็บหรือปวดมากกว่าผู้หญิง 

ผู้หญิงจะมีตุ่มแดงขึ้นมากกว่าผู้ชาย โดยมักขึ้นที่ด้านนอกอวัยวะเพศ ต้นขา ขาหนีบ หรือปากมดลูก และจากตุ่มแดงก็จะกลายเป็นแผลเปิดเช่นเดียวกัน แต่จะมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่า มีจำนวนแผลมากกว่าผู้ชาย และในผู้หญิงที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลย

 

 

ไม่อยากติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ทำยังไงดี ?

คำตอบคือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าอารมณ์หรือสถานการณ์จะเป็นใจแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีถุงยางอนามัยก็อย่าเผลอตัวเผลอใจเชียว เพราะถึงจะสอดใส่เข้าไปแป๊บเดียว สอดใส่เข้าไปแต่ยังไม่หลั่ง ใช้ปากทำออรัลเซ็กซ์ หรือเป็นการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ทั้งหมดที่ว่ามานี้มีโอกาสที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งนั้นถ้าไม่ใส่ถุงยางอนามัย หากรู้สึกเขินอายเวลาไปซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อ เราก็ขอแนะนำให้ลองสั่งผ่านช่องทางออนไลน์แทน และท่องให้ขึ้นใจเลยว่า ‘No Condom No Sex’ 

 

“การใช้ถุงยางอนามัยช่วยลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศได้ถึง 98%” 

อย่าลืมเช็กถุงยางอนามัยให้ดีก่อนใช้

• ถุงยางอนามัยมีวันหมดอายุ คือไม่เกิน 5 ปี นับจากวันผลิต

• ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่ ๆ ร้อนเกินไป เช่น ในรถยนต์ เพราะจะทำให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

• การสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน แต่จะยิ่งทำให้ถุงยางเสียดสีและแตกได้

 

สำหรับคนที่กังวล รู้สึกไม่สบายใจ และมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษา อย่าอาย หรือแอบรักษาเองด้วยวิธีที่ผิด เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว อาการของโรคก็จะไม่ลุกลามและสามารถหายขาดได้ และในบางโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หากไม่รีบรักษาก็อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เลยนะ 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ถุงยางสองชั้นดีมั้ย แตกนอกจะท้องมั้ย ? และอีกหลายคำถามเรื่องเพศที่วัยรุ่นสงสัย

ยาคุมฉุกเฉินกินยังไงให้ไม่พลาดท้อง

ชีวิตจะเป็นยังไง ถ้าพลาดท้องในวัยเรียน

 

แหล่งข้อมูล
- Thaihealth Watch 2020 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 โดย ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และแผนงานสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสร้างเสริมสุขภาพ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow