การตระหนักรู้ในตนเอง หรือ Self-Awareness คือ การเรียนรู้ตัวเองในหลายมิติ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรู้ว่าตัวเองเป็นใคร เก่งอะไร อยากทำอะไร แต่ยังหมายถึงการรู้พัฒนาการของตัวเอง ความเป็นมาของตัวเอง สิ่งที่ทำให้ตัวเองแตกต่างหรือไม่เหมือนคนอื่น โดยที่เราไม่ได้ตัดสินว่าผิดหรือถูก ทำได้หรือทำไม่ได้ แต่เพื่อให้เห็นความจริงในตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้ว Self-Awareness ของคนเราประกอบด้วยอะไรบ้าง
• Real Self ตัวตนจริงๆ ที่เราเป็น เช่น เราเกิดที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร อยู่จังหวัดอะไร ชีวิตวัยเด็ก ทั้งหมดมีผลต่อตัวตนและประสบการณ์ของเราทั้งนั้น
• Ideal Self ตัวตนที่เราวาดฝัน ว่าเราอยากจะเป็น ถ้าเราใช้ในทางที่ดีก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้ แต่ถ้าเราใช้ในทางไม่ดี ก็อาจทำให้เราคิดเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตคนอื่นได้
• Self Image ภาพที่เราอยากให้คนอื่นมองเรา และอยากให้คนอื่นจดจำ ซึ่งถ้าตัวตนนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็อาจจะทำให้เรามีปัญหาหรือสร้างความกดดันให้กับตัวเองได้
• Self-Concept การตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ฉันคือใคร’ เราอยากจะมองตัวเองว่าเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่าเราจะรับรู้หรือมองตัวเองแบบไหน
• Hidden Self ตัวตนที่เราทำลงไปโดยไม่รู้ตัว เราชอบทำตัวแบบนี้โดยที่ไม่ตั้งใจ และทำลงไปโดยที่เรามองไม่เห็นตัวเอง เป็นตัวเราที่เราไม่ค่อยรู้จัก และมักจะเป็นการกระทำจากจิตใต้สำนึก
มาถึงจุดนี้ เราจะพบว่าตัวตนของเรานั้นมีอยู่หลายแบบ โน้นก็ชอบนี่ก็อยาก บางคนอยากให้คนอื่นจำว่าตัวเองเป็นคนมั่นใจในตัวเอง แต่ตัวตนจริง ๆ ของเรากลับเป็นคนขี้อายซะงั้น แล้วตกลงตัวเราเป็นแบบไหนและเราเป็นใครกันแน่ ? เพราะมันมีความขัดแย้งกันอยู่ นี่คือเรื่องปกติ ความจริงแล้วตัวเราเป็นได้ทั้งหมด ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะตัวตนของเราจริง ๆ มีหลายมิติ สิ่งที่จะทำให้เราพัฒนาไปได้ก็คือ Self-Concept การตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ฉันคือใคร’ เพื่อมองให้เห็นว่า ‘เราเป็นใคร’ และขั้นต่อไปคือเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางให้กับสิ่งที่เราอยากจะทำและอยากจะเป็น
หากเราเป็นคนที่ให้คุณค่ากับความท้าทาย การแข่งขัน ความเสี่ยง คนที่มีบุคลิกแบบนี้จะมีความกล้าได้กล้าเสีย อาจจะเหมาะกับองค์กรที่ต้องแข่งขันสูง เนื้องานมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว สนุกกับการได้ท้าทายกับงานใหม่ ๆ ที่ไม่เป็นรูทีน ทำงานแบบเป็นโปรเจกต์ต่อโปรเจกต์ เจอผู้คนหลากหลายก็ไม่หมดแรง เช่น วิศวกร, ครีเอทีฟโฆษณา, สถาปนิก, โปรแกรมเมอร์, ทนายความ, กราฟิกดีไซน์เนอร์ เป็นต้น
คนที่ชอบความสนุกสนาน รักอิสระ ชอบคิด ไม่ชอบอยู่นิ่ง อาจจะเหมาะกับงานศิลปะ ครีเอทีฟ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น เกษตรกร, นักเขียน, ช่างสัก, ดีไซน์เนอร์, นักแสดง, ช่างภาพ, นักร้อง, เชฟ, พนักงานต้อนรับในโรงแรม, พนักงานต้อนรับบนเรือ เป็นต้น
คนที่ให้คุณค่ากับการช่วยเหลือผู้คน อาจจะเหมาะกับงานบริการ งานที่ได้ดูแลผู้อื่น เช่น หมอ, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, นักกายภาพบำบัด, จิตแพทย์, สัตวแพทย์, นักโภชนาการ, พยาบาล, นักดนตรีบำบัด, พนักงานฝ่ายบุคคล, นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลและคำแนะนำ ก็เห็นอยู่ว่าเราอาจไม่ได้รู้จักตัวเองมากสักเท่าไหร่ บางครั้งมันทำให้เราหลงทางด้วยซ้ำ บางคนลองตามเทรนด์แล้วก็ผิดหวัง เพราะเราไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร ชอบอะไร เราถึงต้องตามเทรนด์ การรู้จักตัวเองไม่ได้อาศัยแค่ข้อมูล แต่ต้องใช้การอยู่กับตัวเองก่อน ข้อดีของการรู้จักตัวเองคือจะทำให้เรามีความมั่นคง ไม่ว่าใครจะว่าหรือพูดยังไง เราจะไม่ค่อยสะทกสะท้าน จะมุ่งตรงไปสู่ความฝันและทำมันได้สำเร็จ !
แหล่งข้อมูล
- หมอเอิ้น พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ : ค้นหาต้นทุนในตัวเอง | Life Lecture : Survival Skills | คลาสที่ 1 โดย The Cloud