การอักเสบของตับมาจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด โรคแพ้ภูมิตัวเอง สารเคมี สารพิษ รวมถึงการติดเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ คือ A B C D E และ G โดยมากไวรัสตับอักเสบที่พบจะเป็นชนิด A B C ส่วนชนิด F ยังไม่ได้รับการยืนยันจากหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน
ไวรัสตับอักเสบจะมีการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่อาการต่าง ๆ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A B และ C อาจจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เหนื่อยง่าย ปวดในช่องท้อง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีอ่อน เป็นดีซ่าน (ผิวเหลืองตาเหลือง) เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบเอถูกค้นพบในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 โดยสามารถติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ผ่านอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสชนิดนี้ เช่น รับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโดยไม่ใช้ช้อนกลาง ไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการ โดยทั่วไปจะถูกพิจารณาให้อยู่ในกลุ่มของการเกิดตับอักเสบเฉียบพลันเนื่องจากเมื่อเป็นแล้วไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอแล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ เมื่อหายเป็นปกติแล้วจะไม่เป็นพาหะของโรคและร่างกายยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองได้อีกด้วย
เป็นไวรัสที่ถูกค้นพบในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ แต่ความน่ากลัวของไวรัสชนิดนี้ก็คือ ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ จึงมีโอกาสสูงในการแพร่กระจายของโรค โดยไวรัสชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายมนุษย์ได้อย่างน้อย 7 ซึ่งระหว่างนั้นมันสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ โดยติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นต้น เช่น ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ มีระยะฟักตัวประมาณ 30-180 วัน และตรวจพบได้ในช่วง 30-60 วันหลังจากรับเชื้อ โรคตับอักเสบที่เกิดขึ้นจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีมีทั้งกลุ่มที่เป็นแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แต่โดยทั่วไป หากเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบีแบบเรื้อรังก็จะนำไปสู่ภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีแล้ว
ไวรัสตับอักเสบชนิดซี ถูกค้นพบในปี 1972 โดย ศาสตราจารย์ฮาร์วีย์ เจ. ออลเทอร์ ต่อมาในปี 1989 ศาสตราจารย์ไมเคิล ฮอว์ทัน ได้ทำการแยกลำดับพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้ออกมา และตั้งชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบชนิดซี จากนั้น ในปี 1997 ศาสตราจารย์ชาลส์ เอ็ม. ไรซ์ ก็ได้ทำการทดลองเพื่อยืนยันว่าไวรัสตัวนี้ทำให้เกิดตับอักเสบขึ้นได้จริง ซึ่งทั้งสามท่านเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2020
ความน่ากลัวของไวรัสตับอักเสบชนิดซีนั้นคล้ายกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี นั่นก็คือ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยตับอักเสบซีไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ อีกทั้งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นโรคตับอักเสบชนิดซีแบบเรื้อรัง ซึ่งมักกินเวลานานกว่า 6 เดือน และนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้ในที่สุด แต่มีความแตกต่างกับไวรัสตับอักเสบชนิดบีตรงที่ไวรัสตับอักเสบชนิดซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งผ่านทางเลือด เช่น การใช้เข็มร่วมกันจากการสัก การใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสกับเลือดร่วมกัน ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบชนิดดี อี และจี พบได้น้อยมากในประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไวรัสตับอักเสบชนิดดีจะพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีด้วย เนื่องจากมันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดโปรตีนที่ไวรัสตับอักเสบชนิดบีสร้างขึ้น และการติดต่อของโรคจะติดต่อผ่านเลือด การมีเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดดีนั้นไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่หากฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีแล้วก็จะสามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดดีได้ด้วย
ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดอีจะมีความคล้ายคลึงกับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ โดยติดต่อผ่านการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ขณะที่ไวรัสตับอักเสบชนิดจีซึ่งเป็นชนิดที่ถูกค้นพบล่าสุด จะมีความคล้ายคลึงกับไวรัสตับอักเสบชนิดซี แต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ยังคงไม่ชัดเจนนัก
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หน้าที่ของตับ