ใคร ๆ ก็รู้ทั้งนั้นแหละว่าถ้าไม่อ่านหนังสือมันก็ทำเกรดดี ๆ ยาก ดังนั้น ตั้งแต่เด็กจนโต เราจึงถูกสั่งให้อ่านหนังสือกันทุกคน จนเรารู้สึกว่ามันน่ารำคาญเหลือเกิน บางทียังทำให้เรานอยด์ไปเลยว่า ทำไมต้องมาสั่ง ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังจะไปอ่านหนังสือ แต่แม่ดันพูดขึ้นมาซะก่อนว่า เมื่อไหร่จะอ่านหนังสือสักที มัวแต่เล่นมือถืออยู่ได้ ทันใดนั้นความรู้สึกที่อยากจะอ่านหนังสือก็ลดลงไปจนติดลบ กลายเป็นว่าวินาทีนั้น เราอยากทำทุกอย่างที่ไม่ใช่อ่านหนังสือ !
ความจริงแล้ว ความรู้สึกที่ไม่อยากทำ เวลาถูกสั่งให้ทำ เขาเรียกว่า ‘แรงต้านทางจิตวิทยา’ (Psychological Reactance) เป็นความรู้สึกที่มนุษย์เราจะตอบสนองออกไปเมื่อรู้สึกว่าอิสรภาพของตัวเองถูกลิดรอนหรือคุกคาม ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เราเกิดความคิดแง่ลบ, หงุดหงิด, ต่อต้าน, เกรี้ยวกราด หรือโกรธไปเลยก็ได้ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาที่เราถูกสั่งให้อ่านหนังสือ (หรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต) เมื่อไหร่แล้วล่ะก็ เราจะไม่ชอบ รำคาญ อยากทำตรงกันข้าม หรือไม่อยากทำไปเลย
แต่ในขณะเดียวกัน นอกจากแรงต้านทางจิตวิทยา (Psychological Reactance) จะทำให้เรารู้สึกไม่อยากทำแล้ว ก็อาจจะกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากทำมาก ๆ ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาพูดว่า เราคงสอบไม่ติดหรอก อ่านไปก็เท่านั้นแหละ คำพูดแบบนี้จะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะยิ่งขยันอ่านหนังสือเพื่อที่จะสอบให้ติด เพราะเราจะไม่ยอมให้ใครมาบอกว่าเราทำได้หรือไม่ได้ เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ยืนยันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รักอิสระมาก และไม่ชอบให้ใครมาบังคับไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต
บางทีถ้าเราพยายามทำความเข้าใจว่า การที่มีคนมาบอกให้เราทำอะไรสักอย่างเนี่ย เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะสั่งหรือว่าควบคุมเราหรอก เขาแค่หวังดี เพียงแต่ใช้วิธีที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ถ้าเรารู้ว่าเขาตั้งใจสั่งให้เราทำจริง ๆ อย่างน้อยก็ได้รู้แล้วว่าจะรับมือกับอาการไม่อยากทำไปเลยยังไงได้บ้างในครั้งต่อไป รู้แบบนี้แล้วก็แยกย้ายกันไปอ่านหนังสือได้แล้วจ้า