Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Speed Reading Tricks มาฝึกเทคนิคอ่านเร็วกันดีกว่า

Posted By Plook Magazine | 30 ก.ย. 63
10,896 Views

  Favorite

ซื้อหนังสือดี ๆ มาเต็มบ้านแต่สุดท้ายก็เอามาดอง ในวันที่ใกล้สอบก็อ่านไม่ทันเพราะมันมีหลายวิชาเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้เทคนิคอ่านเร็วจึงสำคัญในบางโอกาสที่เราอยากจะเร่งอ่านเร่งทวน สิ่งที่สำคัญกว่าการอ่านให้เร็ว คือ ต้องอ่านให้เข้าใจด้วย ส่วนเทคนิคจะเป็นยังไงนั้น รับรองว่าไม่ยาก 

 

 

“ทุกคนสามารถพัฒนาการอ่านหนังสือให้เร็วขึ้นได้
เพราะสมองคนเราประมวลผลข้อมูลได้ 800 - 1,400 คำต่อนาที
แต่คนส่วนใหญ่จะทำได้ที่ 200 - 250 คำต่อนาทีเท่านั้น”

 

สิ่งที่เราต้องทำเป็นอย่างแรกคือ ทดสอบตัวเองด้วยการทำเทสต์ Speed Reading เพื่อให้รู้ว่าความเร็วในการอ่านหนังสือของเรา ณ ปัจจุบันมันอยู่ที่กี่คำต่อนาที โดยให้อ่านบทความอะไรก็ได้แล้วจับเวลา เมื่ออ่านจบแล้วให้เช็กว่าเราอ่านจบที่เวลาเท่าไหร่ แล้วเช็กความเข้าใจว่าเข้าใจเนื้อหาที่อ่านแค่ไหน เพราะโดยปกติแล้วความเร็วในการอ่านหนังสือของคนเราจะอยู่ที่ 150 - 200 คำต่อนาที และจับใจความสิ่งที่อ่านได้ไม่ต่ำกว่า 60% ของเนื้อหา 

 

เหนือฟ้ายังมีฟ้า ! คนเทพ ๆ ที่ครองสถิติกินเนสบุ๊ค ‘นักอ่านเร็วที่สุดในโลก’ อย่างฮาวเวิร์ด สตีเฟน เบิร์ก (Howard Stephen Berg) เขาสามารถอ่านได้เร็วถึง 25,000 คำต่อนาที แต่สถิตินี้ก็ตั้งแต่ปี 1990 นู้น ยังไม่มีรายงานว่าใครเป็นผู้ครองสถิตินักอ่านเร็วคนใหม่ สงสัยคงยังไม่มีใครโค่นแชมป์ได้แน่ ๆ ก็แหม่ ตั้ง 25,000 คำต่อนาที สมองคนหรือคอมพิวเตอร์ !   

 

 

เคล็ดลับการอ่านเร็ว อ่านไวได้ประสิทธิภาพ

 

วิธีที่ 1: ไม่อ่านไปคุยโทรศัพท์ไป หรือทำหลายอย่างในเวลาเดียว  

สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้อ่านได้เร็วต้องเป็นสภาพแวดล้อมที่เงียบก่อน สำหรับคนที่อ่านไปไถทวิตไป อ่านไปดูไลฟ์โอปป้าไป อ่านไปเช็กไลน์ไป หรือที่เราเรียกว่าทำสิบอย่างในขณะที่อ่านอะไรสักอย่างอยู่ (Media multitasking) จะทำให้มีแนวโน้มที่จะทำให้การอ่านเร็วเป็นไปได้ยากและไม่ได้ผล เพราะสิ่งต่าง ๆ จะทำให้เราหลุดโฟกัส จำอะไรที่อ่านไม่ค่อยได้ ทางที่ดีควรจะปิดทุกโซเชียลมีเดียที่จะก่อให้เกิดเสียงหรือรบกวนเราให้หลุดโฟกัสจากการอ่านทั้งหมด

 

 

วิธีที่ 2: เปลี่ยนการอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจเป็น ‘อ่านแบบจำภาพ’ (Visaul Reading)  

เมื่อเราอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจ การอ่านทั้งสองแบบนี้จะทำให้ระดับความเร็วในการอ่านของเราเท่ากับความเร็วในการพูดปกติ คือแค่ 150 - 250 คำต่อนาที เราจะไม่สามารถอัพสปีดไปเป็น 400 - 500 คำต่อนาทีได้ ดังนั้น ให้เปลี่ยนวิธีอ่านเป็นแบบ Visaul Reading หรืออ่านแบบจำเป็นภาพโดยไม่ออกเสียง ไม่ใช่การอ่านในใจ แต่อ่านแบบเข้าใจคำนั้นไปเลย มีเทคนิคเพิ่มเติมคือให้ลองเปิดเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องคลอไปด้วยระหว่างที่ฝึก หรือเอาลิ้นไปดันเพดานปากเอาไว้จะช่วยลดการอ่านออกเสียในใจได้ ทำให้เวลาอ่านเราจะไม่ออกเสียงและช่วยให้เราฝึกอ่านเร็วขึ้นได้ 

 

 

วิธีที่ 3: ปิดบรรทัดที่อ่านไปแล้ว 

หลายคนอ่านช้าเพราะเราชอบกลับไปอ่านใหม่ เช่น อ่านไปได้สามบรรทัดแล้วก็กลับไปอ่านบรรทัดที่หนึ่งใหม่ เพราะสมองเราโฟกัสไม่พอ ตาอ่านอยู่ แต่ใจกลับลอยไปไหนไม่รู้ ไม่ได้อยู่กับการอ่านหนังสือเลย ทางแก้ก็คือให้เอากระดาษแข็ง ไม้บรรทัด หรือที่คั่นหนังสือปิดบรรทัดที่เราอ่านไปแล้ว เป็นการสร้างชาเลนจ์เบา ๆ ให้เรายิ่งโฟกัส ไม่กลับไปอ่านใหม่หลาย ๆ รอบ และทำให้อ่านได้เร็วขึ้นด้วย

 

 

วิธีที่ 4: ใช้มือช่วยไกด์สายตา 

อย่างที่บอกว่าสมองของคนเราประมวลผลข้อมูลได้ 800 - 1,400 คำต่อนาที แต่คนทั่วไปจะทำได้ที่ 200 คำต่อนาทีเท่านั้น นั่นหมายความว่า ระหว่างที่เราอ่านหนังสืออยู่จะมีพื้นที่สมองว่าง ๆ ให้คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องอื่น ๆ ได้มากมาย วิธีแก้ปัญหาก็คือ ต้องอุดช่องว่างของสมองด้วยการทำให้สายตาของเราโฟกัสอยู่แค่ตัวหนังสือที่จะอ่านเท่านั้น ทำง่าย ๆ โดยใช้นิ้วหรือปากกาจิ้มไปที่ตัวหนังสือให้คอยนำสายตา ทำให้เราอ่านตามตัวอักษรที่ชี้อยู่เท่านั้น โดยเราสามารถปรับสปีดการอ่านตามที่ต้องการได้ จะช้าหรือเร็วก็ควบคุมจังหวะให้เหมาะสม

 

สุดท้ายยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่จะช่วยให้เราอ่านได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างการอ่านแบบ skimming คือ การอ่านเร็ว ๆ แบบข้ามคำ เป็นการฝึกอ่านเอาไอเดีย เอาเฉพาะข้อมูล เมนไอเดียหรือใจความที่เราต้องการ ถ้าอยากจะเป็นคนที่อ่านหนังสือได้เร็ว ๆ แนะนำให้ฝึกการอ่านเร็วอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าเราอ่านได้เร็วขึ้นก็จะได้เปรียบตั้งแต่การอ่านหนังสือเตรียมสอบไปจนถึงอ่านโจทย์ในห้องสอบเลย 

 

 

แหล่งข้อมูล
- Single Being Podcast โดย หมอผิง - พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล
- A speed reader shares 3 tricks to help anyone read faster

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow