Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นายร้อยตำรวจ สายงานจราจร และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

Posted By Nine100 | 15 ก.ย. 63
55 Views

  Favorite

นายร้อยตำรวจ สายงานจราจร และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ 

ข้าราชการตำรวจ หมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่หลักให้บริการประชาชนทั่วประเทศ ทำให้มีบุคลากรมากกว่าสองแสนคน แต่ละปียังเปิดสอบนายร้อยตำรวจ นายสิบตำรวจและเปิดรับบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเป็นประจำทุกปี วันนี้ nine100.com มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสายงานจราจรในสถานีตำรวจมาแนะนำเป็นความรู้ครับ 

สถานีตำรวจ บทบาทและอำนาจหน้าที่ 

สถานีตำรวจ เป็นระดับหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่ทั่วประเทศ และยังเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ด้านบทบาทและอำนาจหน้าที่ สถานีตำรวจมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดในคดีอาญา ภายในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง รวมตลอดถึงการรับผิดชอบในด้านการงาน  และการปกครองบังคับบัญชาถัดรองลงไปจากกองบังคับการตำรวจ นครบาล(1-9) หรือตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงภายใน บริการทางสังคม ชุมชน และมวลชนสัมพันธ์ โครงสร้างการบริหารงานภายในสถานีตำรวจ แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่  งานอำนวยการ งานสืบสวนปราบปราม งานสืบสวนสอบสวน และงานจราจร 

งานจราจรกับการป้องกันปราบปรามและความมั่นคง 

ตำรวจจราจร เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นอกจากรับผิดชอบในด้านการอำนวยการจราจร และการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังมีหน้าที่ในด้านของการป้องกันปราบปราม และด้านของความมั่นคงอีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนหน้าที่หลัก ๆ ของงานจราจร ได้แก่ 

  • หน้าที่ปฏิบัติงานจราจร รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการจราจร 
  • มีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน  อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล  ตรวจสอบและประเมินผลงานด้านการควบคุมจราจร 
  • จัดการและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับจราจร 
  • งานจราจรตามโครงการพระราชดำริ 
  • งานที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนประกอบของงานจราจร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านการจราจร ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือพื้นที่ปกครองของสถานีตำรวจ ตลอดจนพื้นที่ที่มีการจราจรต่อเนื่องกัน 

อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร 

  1. มีหน้าที่เข้ารับการอบรม กวดขันความประพฤติระเบียบวินัย และประชุมชี้แจงมอบหมาย ภารกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติอันที่จะก่อให้เกิดปัญหาของสภาพการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบในถนนสายต่าง ๆ เป็นประจำทุกครั้งก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ 
  2. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรออกปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ ทางร่วม ทางแยก ใน ชั่วโมงเร่งด่วน และบริเวณที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งของแต่ละช่วงเวลา หรือในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ประจำปี อีกทั้งอำนวยความสะดวกและถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จผ่านในพื้นที่รับผิดชอบ 
  3. อำนวยความสะดวกช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนและภาวะปกติ หรือในกรณี มีอุบัติเกิดขึ้น พร้อมทั้งตรวจสภาพการจราจร ในถนนสายต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายจราจรกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ หรือผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก 
  4. บังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้รถใช้ถนน หรือกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมาย จราจรเพื่อให้ปฏิบัติตาม และเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของ พ.ร.บ.จราจรฯที่ทางราชการกำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามโครงการจัดระเบียบจราจรที่ทางราชการ ได้ทำการรณรงค์ให้ทราบ และมีการตั้งจุดตรวจยานพาหนะในถนนสายต่าง ๆ ในแต่ละวัน หรือการตั้งจุดตรวจค้นในช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันและปราบปรามการขับขี่แข่งรถในทางสาธารณะ หรือขับขี่รถส่งเสียงดังก่อความเดือนร้อนรำคาญ 
  5. กรณีมีการจราจรคับคั่งในชั่งโมงเร่งด่วนของถนนสายต่าง ๆ ทางฝ่ายปฏิบัติการจราจรได้เปิด การจราจรช่องทางพิเศษขึ้นเพื่อเร่งระบายรถที่คับคั่งให้เลื่อนไหลไปได้สะดวกในชั่วโมงดังกล่าวฯ 
  6. ดำเนินการจัดโครงการอบรมฯ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง  ผู้ให้บริการรถรับจ้าง และผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้รถใช้ถนนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ ในการขับขี่และการให้บริการที่ควรทราบ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของทางราชการเกี่ยวกับโครงการจัดระเบียบจราจร 
  7. อบรมบรรยาย ให้ความรู้ตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎ จราจร ระเบียบ ข้อบังคับ สัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ แก่นักเรียนในสถานศึกษานั้น ๆ 
  8. ประจำสถานศึกษาต่าง ๆ ตามโครงการต่อต้านยาเสพติดในสถานศึกษา ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อ ทำหน้าที่ประสานกับครูอาจารย์และผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาสำรวจข้อมูลและคัดกรองนักเรียน นักศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด 
  9. อำนวยความสะดวกการจราจร กรณีได้รับการร้องขอจากทางภาครัฐ และเอกชน ที่ขอความ ร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ 
  10. ประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต กองวิศวกรรม จราจร เพื่อขอความร่วมมือในการปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ และกรณีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องหมายจราจร หรือสัญญาณไฟจราจรต่าง ๆ ชำรุด เสียหาย เลอะเลียน หรือใช้การไม่ได้ เช่นการตีเส้นสัญญาณจราจรต่าง ๆ ป้ายสัญญาณจราจร หรือติดตั้งราวเหล็กเกาะกลางถนน 
  11. ฝ่ายปฏิบัติการจราจรมีการสำรวจตรวจสอบ และจัดทำข้อมูล ประวัติ ผู้ให้บริการและผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์รับจ้างของวินรถจักรยานยนต์ต่าง ๆ ที่ให้บริการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 

บทบาทหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานจราจร 

  1. ถวายความปลอดภัย ตามแผนอำนวยความสะดวก การจัดระเบียบการจราจร 
  2. จัดการจราจรหน้าสถานศึกษา เช้า เย็น 
  3. ตั้งจุดตรวจ ทุกวัน และกวาดล้างอาชญากรรม 
  4. กวดขันวินัยจราจร/บังคับใช้กฎหมายจราจร 
  5. รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กฎหมายจราจร 
  6. ตรวจธนาคาร ร้านทอง เสริมสายตรวจรถยนต์ จักรยานยนต์ 
  7. ป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัยจราจร 
  8. แผนเผชิญเหตุ 
  9. บริการพิเศษอื่น ๆ 

บทบาทด้านการป้องกันปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร 

  • ภารกิจงานป้องกันและปราบปราม 
    1. ภารกิจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การถวายความปลอดภัย และรักษาพระเกียรติยศ ด้วยความ จงรักภักดีมิให้บุคลหนึ่งบุคคลใดล่วงละเมิดได้เด็ดขาด  ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 
    2. ด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท โดยเฉพาะอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และกวดขันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่เป็นเงื่อนไข หรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การก่ออาชญากรรม 
  • ภารกิจการป้องกันอาชญากรรม 
    1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานสายตรวจ ให้มีขีดความสามารถในการป้องกันปราบปราม อาชญากรรมอย่างเหมาะสมกับสภาพอาชญากรรม สภาพพื้นที่ และสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ทั้งนี้การบริหารงานสายตรวจ จะต้องจัดการอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการเตรียมการ การควบคุมการปฏิบัติงานและการประเมินผลงาน โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลท้องถิ่น ข้อมูลอาชญากรรมที่ถูกต้องและทันสมัย 
    2. กำหนดรูปแบบและแผนการตรวจให้เหมาะสมกับสถานภาพอาชญากรรม สภาพท้องที่ โดย เน้นการกระจายกำลังสายตรวจเข้าไปตรวจตรา รักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันอาชญากรรมให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง ปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของสายตรวจ ให้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ ได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยการปรับปรุงพัฒนาศูนย์วิทยุ สร้างความรู้ความเข้าใจในการแจ้งเหตุของประชาชน และความรู้ความเข้าใจในการไปยังที่เกิดเหตุและการปฏิบัติ ณ จุดเกดเหตุของตำรวจสายตรวจ 
    3. เน้นการจัดสายตรวจเดินเท้า ออกตรวจตราตามย่านชุมชนหนาแน่นย่านธุรกิจ ศูนย์การค้า และ สถานที่ล่อแหลมต่อการประกอบอาชญากรรม เพื่อตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความอบอุ่นใจให้แก่ประชาชนมากที่สุด 
    4. จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจตามทางแยก หรือจุดสำคัญที่มีประชาชนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เพื่อ เป็นจุดให้บริการรับแจ้งและให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน อันเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 
    5. การป้องกันอาชญากรรมที่กระทำต่อ ธนาคาร ร้านค้าทอง สถานบันการเงิน ร้านค้า และสถาน บริการน้ำมันที่เปิดลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยเฉพาะการประทุษร้ายต่อทรัพย์ โดยจัดสายตรวจและสมุดตรวจประจำจุดให้ตรวจ สายตรวจจราจร และสายสืบผลัดเปลี่ยนหมุดเวียนไปลงชื่อตรวจ ประสานให้มีสัญญาณเตือนภัย ระบบโทรทัศน์วงจรปิด และพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมเหล่านี้ 
    6. จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจกำหนดมาตรการร่วมกับโรงเรียน สถาบันการศึกษา และหน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องในการควบคุมความประพฤติของเด็กและเยาวชน มิให้เบี่ยงเบนไปในทางที่ผิดกฎหมายมั่วสุมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ก่อความเดือนร้อนในรูปแบบต่าง ๆ ต่อสังคม เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เด็กและเยาวชน ประพฤติและปฏิบัติตนเสียหาย อันเป็นผลต่ออนาคตของตนเองและครอบครัว 
    7. จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ในการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจกับประชาชน โดยเน้นโครงการสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม เยาวชนสัมพันธ์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในภารกิจบางส่วนของตำรวจ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เด็กและเยาวชนจะปฏิบัติได้ 
    8. ควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแล สถานบริการ ให้ปฏิบัติภายในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ  คำสั่งนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบริการที่ปล่อยปละละเลย ให้วัยรุ่นเข้าไปมั่วสุมเสพยาเสพติด 
    9. กวดขันปราบปรามจับกุม แหล่งอบายมุขที่ผิดกฎหมายทุกประเภทอย่างเด็ดขาด และต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ่อนการพนัน ตู้ม้าไฟฟ้า ตู้เกมส์ หวยปิงปอง จับยี่กี ฯลฯ และสถานบริการที่   ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งโชว์ลามกอนาจาร 
  • ภารกิจการปราบปรามอาชญากรรม 
    1. ใช้มาตรการเชิงรุกอย่างเฉียบขาด ในการปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ และ สะเทือนขวัญ และคดีที่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนอย่างรุ่นแรงต่อความสงบสุขของประชาชน 
    2. ปราบปรามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล และกลุ่มมือปืนรับจ้าง ตลอดจนการ กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงคราม วัตถุระเบิด อาวุธปืนและอาวุธร้ายแรงทุกประเภท 
    3. ปราบปรามอาชญากรรมที่เป็นขบวนการ และการกระทำความผิดของคนร้ายข้ามชาติ เพื่อ หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เข้ามาพักอาศัยอยู่ในห้องพัก เช่น อพาร์ทเมนท์ ห้องชุด คอนโดมิเนียมต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นส่วนหนึ่งก่ออาชญากรรมร้ายแรงขึ้น เช่น การโจรกรรมธนาคาร ร้านทอง การบังคับล่อลวงหญิงเพื่อการค้าประเวณี และเน้นการปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของแรงงานต่างชาติ 
  • การป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษ 
    1. เพิ่มความรู้ความเข้าใจการป้องกันยาเสพติดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจชุมชน สัมพันธ์ เพื่อให้สามารถเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวไปสู่สถาบันครอบครัว สังคม ชุมชน โรงเรียน และสถานที่แพร่ระบาดของยาเสพติด 
    2. จัดชุดตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เผยแพร่ให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชน ได้ทราบถึงพิษภัยของ ยาเสพติดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง 
    3. ได้จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจ ทำการกวดขัน ควบคุม ดูแล สถานบริการประเภทต่าง ๆ หรือธุรกิจที่ ล่อแหลมให้มีความสำนึกต่อภัยพิบัติของยาเสพติด 

บทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามและความมั่นคง 

นอกจากอำนาจหน้าที่ของตำรวจจราจรตามที่กล่าวมาแล้ว งานจราจรยังเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามและความมั่นคง ซึ่งอาจแบ่งหน้าที่ตามที่ปรากฏรายละเอียดคู่มือการปฏิบัติงานตำรวจจราจร ดังนี้ 

  1. ตำรวจราจร มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณี ดังนี้ 
    1. ความผิดซึ่งหน้า 
    2. ถ้าหากไม่จับกุมในทันทีอาจทำให้คนร้ายหลบหนี หรือเป็นผลเสียต่อการดำเนินคดีได้ 
  2. การให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สายตรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นในการระงับปราบปราม หรือจับกุม ผู้กระทำความผิดตามความเหมาะสม เช่น เมื่อพบว่ากำลังมีการระงับปราบปรามหรือจับกุมผู้กระทำความผิดต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ หรือเมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้ระงับปราบปราม หรือจับกุมก็ต้องให้ความช่วยเหลือ 
  3. เมื่อได้รับคำสั่งไม่ว่าจะเป็นคำสั่งโดยฉับพลัน หรือตามแผนที่ผู้บังคับบัญชากำหนดให้ปฏิบัติ อย่างหนึ่งอย่างใด ในการระงับปราบปราม จับกุม สกัดจับ ก็ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง 

บทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่รับผิดชอบ 

  1. ติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อันอาจนำไปสู่การก่อความไม่ สงบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการจราจรได้อย่างสอดประสานกัน ทั้งในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือมีการชุมนุม และบริเวณโดยรอบ 
  2. จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมปฏิบัติในการจัดการจราจร เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ ถนนน้อยที่สุด รวมทั้งประสานอาสาจราจร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติให้เพียงพอ 
  3. ในการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร ให้เน้นการปฏิบัติงานในด้านความมั่นคงด้วย 
  4. จัดเตรียมยานพาหนะ รถยก วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงเหล็ก กรวยยาง ป้ายห้ามจอดแบบตั้ง  ให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติในระดับพื้นที่ 

สรุปอำนาจหน้าที่ของตำรวจจราจร 

ตำรวจเป็นสถาบันหนึ่งของรัฐ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 

การป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น และการให้บริการต่าง ๆ แก่สมาชิกในสังคมเป็นการปฏิบัติงาน 

เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของตำรวจมีขอบเขตกว้างขวางมาก และตามข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำรวจไว้ 4 ประการ ได้แก่  

  1. รักษาความสงบเรียบร้อยภายในและภายนอกเพื่อประโยชน์ของประชาชน 
  2. รักษากฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดอาญา 
  3. บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน 
  4. ดูแลรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ 

ดังนั้น สถานีตำรวจ จึงนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญที่สุด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เนื่องจากเป็นหน่วยงานระดับยุทธศาสตร์ในการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บาทบาทหน้าที่ของตำรวจสายงานจราจร ถือเป็นการปฏิบัติงานของตำรวจที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรแก่ประชาชนอีกด้วย 

https://nine100.com/college-police-cadet-and-worker/

แหล่งข้อมูล
Nine100
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Nine100
  • 0 Followers
  • Follow