Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไม่กล้าพูดหน้าห้องจนมือเย็น ตัวสั่น เสียงหาย เรากำลังเป็นโรคกลัวสังคมหรือเปล่า ?

Posted By Plook Magazine | 21 ก.ย. 63
13,602 Views

  Favorite

อาการตื่นเต้น มือเย็น เสียงสั่น หัวใจเต้นแรง มักเกิดขึ้นเวลาที่เราต้องออกไปพรีเซนต์งานหน้าห้อง หรือพูดอะไรต่อหน้าคนเยอะ ๆ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นอาการปกติ เพราะเวลาโดนคนเยอะ ๆ จับจ้องมาที่เราคนเดียวมันก็ต้องมีอาการตื่นเต้นหรือประหม่าบ้างแหละ แต่อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับคนบางคนเพราะมันอาจเป็นอาการเริ่มต้นของ ‘โรคกลัวสังคม’ หรือ ‘Social phobia’ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น หากมองข้ามไม่รีบรักษาให้หายก็จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคตเลยล่ะ 

 

 

‘โรคกลัวสังคม’ คืออะไร ?

โรคกลัวสังคม (Social anxiety disorder) คือ โรคกลัวชนิดหนึ่งที่เกิดจากความหวาดกลัวว่าจะถูกคนรอบข้างมองในแง่ลบ มักจะเกิดขึ้นเวลาที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ เช่น การพรีเซนต์งานหน้าห้อง การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การพูดคุยกับคนแปลกหน้า เป็นต้น โดยจะมีอาการใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น และเหงื่อออกมาก หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเลยก็ได้ สาเหตุที่ร่างกายเป็นแบบนั้นเพราะความตื่นเต้นและกังวลในจิตใจ จนส่งผลให้กลัวว่าตัวเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าคนอื่น กลัวว่าจะทำผิดพลาดและถูกต่อว่า หรือกลัวการถูกซุบซิบนินทา

 

หลาย ๆ คนอาจจะไม่กล้าพูดหน้าห้อง กลัวการพรีเซนต์งานหน้าห้อง หรือพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ จนมีอาการตื่นเต้น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อออกมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราเป็นโรคกลัวสังคมนะ เพราะโรคกลัวสังคมจะมีอาการมากกว่านั้น มาดูกันว่าอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายว่าเราอาจจะเป็นโรคกลัวสังคม 

 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็น ‘โรคกลัวสังคม’ 

 

 

1. ความผิดปกติในการแสดงออกทางอารมณ์และความคิด

• รู้สึกประหม่าและหวาดกลัวทุกครั้งที่ต้องคุยกับคนอื่น หรือพูดไม่ออกเลยเมื่อต้องคุยกับคนแปลกหน้า

• กังวลตลอดว่าคนรอบตัวจะคิดยังไงกับตัวเอง และกลัวว่าโดนซุบซิบนินทา หรือวิจารณ์ในแง่ลบ

• พอรู้ว่าต้องทำอะไรต่อหน้าคนเยอะ ๆ หรือต้องออกไปพูดหน้าห้อง จะเกิดความเครียดล่วงหน้าเป็นวันหรือสัปดาห์

• พยายามเก็บอาการประหม่าทุกครั้ง เพราะกลัวคนอื่นจะจับได้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกประหม่าอยู่ 

 

2. ความผิดปกติที่แสดงออกทางร่างกาย

• หายใจหอบถี่และเร็ว หัวใจเต้นแรง

• อาย หน้าแดง ไม่กล้าสบตาใครเลย

• รู้สึกปั่นป่วนในท้อง มวนท้อง หรือรู้สึกกลัวจนอาเจียน

• เสียงสั่น พูดตะกุกตะกัก หรือพูดแล้วไม่มีเสียงออกมา

• เหงื่อออกเยอะมาก และไม่สามารถอยู่นิ่งได้ 

• มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะเวลาที่ต้องพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ

 

3. ความผิดปกติที่แสดงออกทางพฤติกรรม

• กลัวการเผชิญหน้ากับคนอื่น ชอบหนีไปอยู่คนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

• ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้ 

• ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองโดยลำพัง ต้องมีเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจอยู่ข้าง ๆ 

• ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าออกความคิดเห็น หรือไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่น

 

‘โรคกลัวสังคม’ รักษาให้หายได้ 

คนที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเราเข้าข่ายมีนิสัยแบบนี้หลายข้อ แนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจว่าเราเป็นโรคกลัวสังคมหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ก็ไม่ต้องกลัว เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ และระหว่างที่รักษาอาการกับแพทย์ เราก็สามารถฝึกสกิลที่จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง เช่น ฝึกทักษะการพูด ฝึกทักษะการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ฝึกรับมือกับสถานการณ์ที่เราหวาดกลัว เป็นต้น

 

‘โรคกลัวสังคม’ ถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เพราะมันทำให้เราไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าตัดสินใจ และอาจส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ หรือคนรอบข้าง ซึ่งมันจะทำให้ใจเราเหี่ยวเฉา ใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุข และเราอาจพลาดที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พบเจอคนใหม่ ๆ หรือเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิตไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยว่าเราเป็นโรคกลัวสังคมหรือเปล่า แนะนำให้ไปรีบไปพบแพทย์น๊า

 

 

 

แหล่งข้อมูล

What Is Social Anxiety Disorder?

Social anxiety disorder (social phobia)

Internet as the Tool of Behavior Therapy in Social Phobia: A Case Report

โรคกลัวสังคม อาการแบบไหนเข้าข่ายป่วย

 

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow