เราจะไม่ได้เป็นแค่พลเมืองของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในพลเมืองโลกด้วย ต้องมีความเข้าใจว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีความตระหนักรู้ว่าสังคมที่เราอยู่นั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในโลกที่กว้างใหญ่ ดังนั้นต้องรู้จักเคารพและเข้าใจแนวคิด วัฒนธรรม และภาษาของชาติอื่น ๆ ตลอดจนรู้จักรับผิดชอบต่อสังคมที่อาศัยอยู่และสังคมโลก ไม่นิ่งเฉยหรือเป็นกลางต่อปัญหาที่สังคมโลกกำลังให้ความสำคัญ อย่าลืมว่าในอนาคตเราอาจจะต้องเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบไทย ๆ
ในอนาคตจะไม่ค่อยมีที่ให้กับคนที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานอีกแล้ว จะมีก็แต่ที่ให้กับคนที่เคยลงมือทำจริง ๆ มาก่อน ไปติดอาวุธให้ตัวเองเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่การเรียนในห้องอย่างเดียว แต่เป็นการออกไปหาประสบการณ์ให้ตัวเองได้ลองใช้ความรู้ที่มี ลองทำในสิ่งที่ตัวเองรู้และเรียนมา หรือไม่่ก็ลองทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องในวงการที่ตัวเองสนใจ ตั้งแต่การลองทำธุรกิจของตัวเอง การไปขอฝึกงาน ขอทำโปรเจกต์เล็ก ๆ ของตัวเอง ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้น้อง ๆ มีประสบการณ์ที่เอาไว้ใช้ต่อยอดได้ และเรซูเม่ก็จะน่าสนใจขึ้นด้วย เพราะเราได้เรียนรู้จริง ๆ จากการลงมือทำ ไม่ใช่แค่อ่านหรือจำจากคนอื่นมา
เพราะในอนาคตการแบ่งงานกันทำจะน้อยลงแล้ว ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่การจ้างงานในตลาดมีลักษณะของการแบ่งงานกันทำ คือคนนึงทำอันนี้แล้วค่อยส่งต่อให้อีกคนทำต่อ แต่ในอนาคตคนหนึ่งคนจะต้องสามารถทำทุกอย่างให้ได้ครบและจบได้ในตัว เช่น อาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ ในอดีตอาจจำเป็นแค่การเรียนดีไซน์ การเลือกผ้า แต่ปัจจุบันนี้ การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์จำเป็นต้องมีความรู้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้การออกแบบลายผ้า ทำกราฟิก ตัดเย็บ และทำการตลาดออนไลน์ ครบ จบ ในคนเดียว
ภาษาต่างประเทศคือโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ควรเรียนภาษาให้อ่านออกเขียนได้ในระดับที่ดี โดยควรเลือกเรียนภาษาที่ได้รับความนิยมหรือมีโอกาสจะถูกจ้างงานสูง เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เป็นต้น และอย่าคิดแค่ว่าต้องเป็นเด็กสายศิลป์ถึงจะเก่งภาษา ภาษาไม่ใช่ทางของเด็กสายวิทย์ ไม่ว่าจะเรียนสายไหน ถ้าเก่งภาษาก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นแน่นอน
ในปี 2019 World Economic Forum จัดทักษะแรงงานจบใหม่ของไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 141 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีอันดับดีกว่าอย่างฟินแลนด์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แรงงานส่วนใหญ่มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดดเด่นมาก น้อง ๆ ควรหมั่นอัปเดตทักษะที่ตัวเองไม่รู้ หรือทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคตข้างหน้าเพื่อสู้กับวิกฤตเลิกจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะทักษะที่เรามีในวันนี้ก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการในวันข้างหน้าก็ได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มองการเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่ใช่จบแค่ในห้องเรียน
แหล่งข้อมูล
Public Forum #1 “โรคใหม่ – โลกใหม่ – การเรียนรู้ใหม่ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19”