ถามอย่าง ตอบอย่าง เช่น ถามว่า “กินข้าวยัง” ตอบว่า “ที่บ้านกําลังทําอยู่” ความจริงคือ ยังไม่ได้กิน แต่กําลังจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน อาจเกิดจากการที่สมองคิดไวจนเกินไป ทำให้สื่อสารไม่รู้เรื่อง พูดข้ามช็อตไปเลย หรือคิดว่าตัวเองพูดไปแล้วทั้งที่ยังไม่ได้พูด จึงทำให้ตอบไม่ตรงคำถาม
พูดสลับคำ สลับประโยค บางครั้งก็พูดขึ้นมาเลยเฉย ๆ ลอย ๆ ไม่มีเกริ่นนำ ส่วนใหญ่จะไม่พูดตามแพทเทิร์นที่ถูกต้องว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หรือ ประธาน กริยา กรรม แต่สลับตำแหน่งมั่วไปหมด เช่น อยากชวนเพื่อนไปกินส้มตำ แต่กลับพูดว่า กินส้มตำ พรุ่งนี้หยุด ทั้งที่ควรพูดว่า พรุ่งนี้หยุด ไปกินส้มตำกัน อาจเกิดจากการเรียงลำดับความคิดไม่ถูก ใช้ภาษาไม่ถูก
พูดมาเป็นท่อน ๆ พูดเว้นวรรคเยอะไปหมด พูดไม่ปะติดปะต่อ ทำให้ไม่ลื่นไหล ทำให้คนฟังไม่เข้าใจว่าเรื่องเต็ม ๆ คืออะไรหรือต้องการอะไรกันเเน่ ต้องไปทำความเข้าใจใหม่อีกรอบ อาจเกิดจากปัญหาเรื่องของการใช้ภาษาไม่ถูกต้อง หรือมีความรู้ในเรื่องที่พูดไม่มากพอ จับใจความไม่เก่ง
พูดเหมือนแร็ป พูดเร็วมาก พูดเร็วจนลิ้นพันกันจนคนฟังจับใจความไม่ทัน ทำให้กลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่มีจังหวะในการพูด อาจเกิดจากการเป็นคนพูดเร็วอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เป็นคนคิดและทำอะไรเร็ว ๆ หรืออาจจะกำลังตื่นเต้น ประหม่า หรือแม้กระทั่งหายใจสั้นเกินไปก็อาจจะเป็นไปได้
พูดเสียงเบามาก ใช้คำแปลก ๆ บางคนพูดในลำคอเหมือนพูดกับตัวเองแต่ไม่ใช่ บางครั้งก็พูดไม่จบประโยค อาจเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีความรู้มากพอในเรื่องที่ตัวเองพูด หรือเป็นคนพูดไม่ชัดเนื่องจากพูดภาษาอื่นมาตั้งแต่เด็ก ไปเรียนเมืองนอกมาเลยทำให้ใช้ภาษาไทยไม่คล่องนัก เนื่องจากคิดเป็นภาษาอังกฤษ
เปิดปากมากขึ้นเวลาพูด เพื่อเป็นการฝึกบริหารกล้ามเนื้อช่วงขากรรไกรให้รู้สึกผ่อนคลาย จัดรูปปาก รูปลิ้น รูปฟันให้ถูกตำแหน่ง เมื่อเราอ้าปาก ให้เปิดปากแล้วพูดมากขึ้น แล้วฝึกพูดช้า ๆ ให้ชัดให้เต็มเสียงทุกพยางค์ เช่น คำว่า ‘ไป’ ต้องออกให้ครบตั้งแต่ ‘ป อะ ยอ ไป’ ไม่ใช่ ‘ปะ’ ก็จะช่วยทำให้เราไม่พูดเร็วเกินไป จนฟังไม่รู้เรื่อง
ใช้ภาษากายช่วย เช่น ยิ้ม พยักหน้าขึ้นลง วางมือสบาย ๆ หรือเอียงคอเล็กน้อยเวลาที่พูดคุย จะช่วยลดความตื่นเต้น ประหม่า อาการกระวนกระวายขณะพูดได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้รู้สึกควบคุมร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความวิตกกังวล และทำให้รู้สึกมั่นใจ พูดได้ลื่นไหล ไม่ปะติดปะต่อ อาการพูดเป็นท่อน ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น
หัดสรุปใจความสำคัญ เช่น เวลาที่เราดูหนัง ฟังเพลง ดูโฆษณาให้ลองสรุปสั้น ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ เขาต้องการจะสื่ออะไร มีตัวละครกี่ตัว ให้ฝึกสรุปตามความเข้าใจออกมาเป็นคำพูดสั้น ๆ เพราะมันจะช่วยให้เราฝึกจับประเด็นได้ดีขึ้น เมื่อต้องพูดก็จะทำให้เราพูดตรงประเด็น ไม่วกไปวนมา และทำให้เราเรียงลำดับสิ่งที่จะพูดได้แม่นยำขึ้น
อ่านหนังสือเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนอกเวลา ฟิค นิยาย หรือการ์ตูน เพื่อที่จะได้ดูตัวอย่างของการใช้ภาษา การเรียงประโยคที่ถูกต้อง โดยยึดตามแพทเทิร์น ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หรือสั้น ๆ แค่ประธาน กริยา กรรม เวลาพูดเราก็จะพูดได้ถูกแพทเทิร์น ไม่พูดสลับคำผิด ๆ ถูก ๆ หรือพูดเป็นท่อน ๆ ไม่ปะติดปะต่อ ช่วยให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายและทันที
ลองทวนคำถามก่อนตอบ ก่อนตอบคำถามคนอื่น ให้เราลองทวนคำถามของเขาก่อนเพื่อเช็กว่าเขากับเราเข้าใจตรงกันไหม สำหรับบางคนที่คิดไว สมองไวกว่าปาก จะได้ตอบคำถามได้ตรง หมดปัญหาตอบไม่ตรงคำถาม
แหล่งข้อมูล
How to explain anything to anyone: 4 steps to clearer communication
บัญญัติ 6 ประการแก้อาการพูดเร็ว