Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการจำแบบไม่ต้องจำ โดยจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น

Posted By Plook Magazine | 04 ส.ค. 63
9,030 Views

  Favorite

ไม่มีใครอยากเกิดมาแล้วความจำสั้น จำอะไรได้แป๊บเดียวก็ลืม โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องใช้ความจำในการจำบทเรียนหรือหนังสือนอกเวลาบางเล่มที่เป็นความรู้รอบตัว ทว่าหลายคนพอจำอะไรไม่ได้ก็โทษว่าเป็นเพราะความจำตัวเองไม่ดี ทั้งที่ความจริงแล้วเราทุกคนความจำดีกันทั้งนั้นแหละ แต่การที่เราจำอะไรไม่ค่อยได้เป็นเพราะเราไม่ฝึกความจำให้เเอคทีฟสม่ำเสมอต่างหากล่ะ มาดูเทคนิคดี ๆ ที่จะทำให้เราจำได้แม่นกว่าเดิมแบบไม่ต้องจำจาก ‘คะบะซะวะ ชิอง’ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นกันดีกว่า  

 

 

อ่านแล้วต้องส่งออก 

Cr. Thamonwan Kuaha


หมายถึงพอเราอ่านอะไรก็แล้วแต่ ให้เราส่งออกสิ่งที่เราอ่าน 3 ครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือ สมองของเราจะเก็บข้อมูลที่เราอ่านไว้ชั่วคราวที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งสมองส่วนนี้จะทยอยลบข้อมูลออกเรื่อย ๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ หากข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกเรียกใช้เลย เช่น เดือนที่แล้วในวันเดียวกันเรามักจะจำไม่ได้แล้วว่ากินมื้อเที่ยงอะไร ที่ไหน แต่ถ้าข้อมูลนั้นมีการเรียกใช้ 3 ครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ สมองจะเริ่มจำได้ว่าข้อมูลนี้สำคัญ จึงย้ายข้อมูลนี้ไปเก็บที่สมองกลีบขมับซึ่งเป็น "คลังเก็บความทรงจำ" นั่นเอง 

 

วิธีการส่งออก มี 4 วิธี ได้แก่

• อ่านไปด้วยและโน้ตย่อ ไฮไลท์ข้อความที่ชอบ ข้อความสำคัญไปด้วย

• เล่าเนื้อหาหรือแนะนำหนังสือให้เพื่อนต่อว่ามันสนุกยังไง น่าสนใจยังไงบ้าง 

• แบ่งปันสิ่งที่ฉุกคิด สาระความรู้ หรือคำคมผ่านโซเชียล

• เขียนวิจารณ์ รีวิวหนังสือหลังจากอ่านจบแล้วไม่น้อยกว่า 1 วัน 

นอกจากนี้ การได้ใช้อารมณ์ร่วมขณะอ่านหนังสือจะช่วยให้จำได้นานแม้เราไม่ได้ส่งออกเลยก็ตาม เช่น อารมณ์สนุก ความสุข ความรัก ความตื่นเต้น และความกลัว   

 

 

อ่านครั้งละ 15 นาที 

คะบะซะวะ ชิอง จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น บอกว่าคนเรามีสมาธิมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาเริ่มต้น กับช่วงท้ายหรือ 5 นาทีแรก กับ 5 นาทีสุดท้ายที่อ่าน ดังนั้นถ้าเราแบ่งอ่านสั้น ๆ จะมีช่วงที่มีสมาธิมากกว่าอ่านรวดเดียวยาว ๆ เช่น อ่านครั้งละ 15 นาที 4 ครั้งจะช่วยให้จำได้แม่นกว่าอ่านรวดเดียว 1 ชั่วโมง ยกเว้นแต่ว่าเราจะรู้สึกสนุกมาก ๆ ก็สามารถที่จะอ่านรวดเดียวจบได้ภายใน 45 นาที / 90 นาที เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะมีสมาธิได้ยาวนานแค่นั้น นี่คือสาเหตุที่กำหนดให้นักฟุตบอลเล่น 45 นาที 2 ช่วงนั่นเอง

 

 

เริ่มอ่านจากสิ่งที่สนใจก่อน

กำหนดเป้าหมายของตัวเองว่าอยากรู้อะไรในการอ่านครั้งนี้ แล้วให้ข้ามไปอ่านเนื้อหาที่อยากรู้ก่อนจะทำให้จำได้แม่นยำกว่า เพราะถ้าเราเริ่มอ่านจากสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สนใจ จะเหมือนโดนบังคับให้กินยานอนหลับ อ่านจบแล้วรับรองสลบแน่นอน ดังนั้นให้เริ่มอ่านจากบทที่เราสนใจก่อนเรียงจากมากไปน้อย เสร็จแล้วทำความเข้าใจเนื้อหา อ่านตีความให้เข้าใจลึกซึ้ง จนสามารถที่จะนำไปคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นได้ เช่น เมื่อเพื่อนถามว่าเมื่อคืนเราอ่านอะไร เราก็สามารถพูดให้เพื่อนฟังได้เลยแม้จะไม่คล่องมาก แต่ก็สามารถพูดถึงเนื้อหาสำคัญ หัวใจหลักของเนื้อหาได้

 

 

อ่านไปมือต้องไม่อยู่นิ่ง ขยับไปด้วย

การขยับมือไปด้วยระหว่างที่อ่านจะช่วยเพิ่มพลังสมองขึ้นมหาศาล เพราะนิ้วมือและนิ้วเท้าเป็นแหล่งรวมเส้นประสาทมัดเล็กที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมอง ถ้าเราขยับนิ้วบ่อย ๆ ขยับมือไปด้วยระหว่างที่อ่านก็จะทำให้สมองตื่นตัว สดชื่น ไม่ง่วงระหว่างที่อ่าน และทำให้สมองพร้อมที่จะบันทึกสิ่งที่เราอ่านได้ดีกว่าการวางมือไว้นิ่ง ๆ การขยับมือเช่น กำ แบมือ สะบัดมือไปมา เป็นต้น  

 

แท้ที่จริงแล้วการจำให้ได้แม่นกลับไม่ใช่การจำ แต่คือการนำสิ่งที่อ่านไปใช้นั่นเอง บางอย่างอย่างเช่นการขยับมือ เริ่มอ่านจากสิ่งที่ชอบก่อน แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่กลับสร้างผลลัพธ์ที่ต่างออกไปในทางที่ดี รู้แล้วก็อย่าลืมนำไปใช้กันคนละข้อนะ  

 

 

แหล่งข้อมูล
หนังสือเทคนิคจำแบบไม่ต้องจำที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ โดยคะบะซะวะ ชิอง

 

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow