Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขาช้อปต้องรู้ ช้อปปิ้งออนไลน์ยังไงไม่ให้โดนโกง

Posted By Plook Magazine | 03 ส.ค. 63
5,269 Views

  Favorite

วงการช้อปปิ้งออนไลน์กำลังมาแรงแบบไม่มีอะไรกั้น เพราะโปรโมชั่นดี มีส่วนลดเพิ่ม แถมบางร้านส่งให้ฟรี สั่งซื้อแล้วนอนดูซีรีส์อยู่บ้านสบาย ๆ ก็ได้ของที่ต้องการมาส่งถึงประตูหน้าบ้านแล้ว เพราะมันสบายแบบนี้ไงเลย cf กันเก่ง แต่ก่อนที่จะไป cf หรือ f ของในร้านค้าออนไลน์ ก็อยากให้ทุกคนเช็กให้ชัวร์ก่อนโอนเงินว่าร้านนั้นเชื่อถือได้ ส่งจริง และจะไม่โกงเราแน่นอน มาดูวิธีช้อปปิ้งออนไลน์ยังไงไม่ให้โดนโกงกันเลย !

 

 

ซื้อกับร้านที่น่าเชื่อถือ

ปัจจุบันในแอปซื้อของออนไลน์ มีร้าน official ของแบรนด์นั้น ๆ มาเปิดขายเองแล้ว จุดสังเกตคือดูสัญลักษณ์ข้าง ๆ ชื่อร้าน เช่น ในแอป Shopee จะเป็นคำว่า Shopee Mall ส่วนใน Lazada จะเป็นคำว่า LazMall ถ้าเห็นสัญลักษณ์แบบนี้หมายความว่านั่นคือร้าน official ของทางแบรนด์ จึงการันตีได้ทั้งสินค้าของแท้และส่งจริงแน่นอน แต่ก่อนกดสั่งซื้อก็อยากให้กดดูรีวิวและคะแนนของร้านหรือสินค้านั้น ๆ ก่อน เพราะร้าน official ก็อาจมีปัญหาในการจัดส่ง หรือปัญหาอื่น ๆ ได้เหมือนกัน

 

ถ้าอยากสั่งสินค้ากับร้านที่ไม่ใช่ official ล่ะ ?

แนะนำให้เช็กความน่าเชื่อถือของร้านจากการรีวิวและคะแนนของร้านเป็นหลัก เช็กดูว่าส่งของจริงไหม พยายามหาดูรีวิวจากคนที่เคยสั่งซื้อไปแล้ว รวมถึงลองเสิร์ชดูว่าหน้าร้านจากช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่น มีเพจในเฟซบุ๊กหรือเปล่า มีโพสต์ขายของที่ไหนบ้าง เป็นต้น เน้นดูรีวิวว่าคนขายส่งจริงและคนรับได้ของจริง ๆ 

 

Good to Know

• ถ้าร้านค้านั้นเป็นร้านที่เพิ่งเปิดใหม่และยังไม่มีรีวิวหรือมีรีวิวน้อย แนะนำให้ลองทักไปหาร้านค้า แล้วขอให้ทางร้านถ่ายรูปสินค้าที่เราต้องการจะซื้อพร้อมกับกระดาษที่เขียนชื่อร้านค้าวางไว้คู่กับสินค้า ที่แนะนำให้เป็นกระดาษเขียนชื่อวางคู่กับสินค้า เพราะถ้าเป็นข้อความที่พิมพ์จากในคอมหรือมือถือจะสามารถเซฟรูปคนอื่นมาได้ แต่ถ้าเป็นกระดาษวางจะไม่สามารถทำได้ 

• การซื้อขายในกลุ่มเฟซบุ๊กหรือกลุ่มไลน์ เช่น กลุ่มซื้อขายโทรศัพท์มือถือ กลุ่มซื้อขายกล้องถ่ายรูป เป็นต้น สินค้าพวกนี้มีราคาสูง แนะนำให้นัดรับจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่สะดวกจริง ๆ นอกจากการขอให้คนขายถ่ายรูปสินค้าคู่กับกระดาษที่เขียนชื่อคนขายแล้ว แนะนำให้ขอภาพบัตรประชาชนของคนขายไว้เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและเป็นหลักฐานในการซื้อขายด้วย 

• ก่อนโอนเงินแนะนำให้เช็กประวัติจากชื่อบัญชีคนขายเสมอ ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลชื่อบัญชีของพ่อค้าแม่ค้าที่โกงเงินจากการขายของออนไลน์เอาไว้ให้เราตรวจสอบแล้ว โดยเข้าไปตรวจสอบได้ที่ >> blacklistseller หรือถ้าหาไม่เจอ ก็ลองนำชื่อไปเสิร์ชในกูเกิล เพราะบางคนอาจจะโพสต์ไว้ในโซเชียล ถ้ามีประวัติที่ไม่ดีก็จะขึ้นมาให้เห็น 

• พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของราคาถูกมาก ๆ และถามแบบเร่ง ๆ ให้เรารีบโอนเงิน โดยที่ไม่ยอมส่งภาพบัตรประชาชน หรือภาพสินค้าคู่กับแผ่นป้ายชื่อมาให้เรา แนะนำว่าอย่ารีบโอนเงินเพราะเห็นแก่ของถูก เพราะอาจจะโดนโกงได้เด้อ

 

 

นัดรับได้ให้นัดรับ

ถ้าจะซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต กล้องถ่ายรูป ฯลฯ สินค้าพวกนี้เป็นของที่มีราคาแพง และก่อนซื้อควรตรวจเช็กสินค้าให้ดีก่อนด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรนัดเจอกับคนขายเพื่อดูสินค้าก่อนที่จะโอนเงิน เพราะมีหลายเคสแล้วที่ซื้อกล้องถ่ายรูปมือสองจากเพจเฟซบุ๊ก แต่พอเปิดมาเป็นแชมพูซะงั้น ถ้าไม่อยากเจออะไรแบบนี้ แนะนำให้นัดรับสินค้าเท่านั้นน๊า

 

 

อ่านรายละเอียดให้ดีก่อนสั่งซื้อ 

ก่อนสั่งซื้ออยากให้อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ดีก่อน ถ้าเป็นของมือหนึ่งก็อ่านก่อนว่ามีการรับประกันสินค้าไหม ถ้าสินค้ามีปัญหาจะสามารถเปลี่ยนใหม่ได้ไหมและภายในกี่วัน ส่วนถ้าสั่งของมือสองก็ต้องอ่านรายละเอียดให้ดี หรือสอบถามสภาพสินค้า ขอดูภาพเพิ่มเติมของสินค้า เพราะถ้าเราไม่อ่านให้ดี อาจจะสั่งสินค้ามาผิดเหมือนกับที่มีคนสั่งโต๊ะตุ๊กตามา โดยที่คิดว่าเป็นโต๊ะไซส์ปกติ ทั้ง ๆ ที่ร้านก็เขียนบอกรายละเอียดของขนาดไว้แล้ว

 

 

ช้อปปิ้งออนไลน์แล้วโดนโกงต้องทำยังไง

• ถ้ามั่นใจแล้วว่าโดนโกง ให้รวบรวมหลักฐานที่เราติดต่อกับคนขายทั้งหมด เช่น รูปโปรไฟล์ร้านค้า ประวัติการแชท เลขที่บัญชีของร้านค้า หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี ฯลฯ นำเอาหลักฐานที่มีพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและสมุดธนาคารของเรา เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความ

• ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ (สน. ในเขตที่โอนเงิน) ภายใน 3 เดือนตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง หรือไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (การแจ้งความที่ ปอท. อาจจะต้องมีการเดินทางไปขึ้นศาลที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัด) 

• การแจ้งความแนะนำให้ระบุว่าต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีจนกว่าจะถึงที่สุด ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน และขอให้ตำรวจออกคำสั่งอายัดบัญชีให้เราด้วย โดยเราจะได้หนังสือคำสั่งอายัดบัญชีคนขายที่เราโอนเงินไป ให้นำไปติดต่อธนาคารเพื่อให้ธนาคารติดต่อกับเจ้าของบัญชี หรืออายัดบัญชีในกรณีที่ติดต่อไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าของบัญชีไม่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้ 

• ระหว่างนี้คนขายอาจติดต่อกลับมาหาเรา เพื่อจะโอนเงินคืนให้ ซึ่งถ้าเราได้เงินคืนแล้วก็สามารถไปถอนแจ้งความได้ แต่ถ้าไม่มีการติดต่อกลับของคนขายก็จะต้องรอขั้นตอนของกระบวนการกฎหมายต่อไป

 

ก่อนจะสั่งซื้อของออนไลน์ทุกครั้ง แนะนำให้อ่านรายละเอียดของสินค้า และตรวจสอบร้านค้าให้ดีก่อนโอนเงิน โดยเฉพาะสินค้าที่ราคาถูกเวอร์ ๆ ให้ตรวจสอบให้ดีเพราะอาจจะไม่ส่งจริง หรือเป็นสินค้าปลอมได้ และก่อนจะโอนเงินอยากให้ตรวจสอบบัญชีด้วยการเสิร์ชกูเกิลว่าเคยมีประวัติที่ไม่ดีไหม ตรวจสอบให้ดีทุกครั้งก่อนโอนเงินซื้อของออนไลน์ เพราะมิจฉาชีพสมัยนี้มีวิธีใหม่ ๆ มาโกงเราเรื่อย ๆ

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow